แบงก์-นอนแบงก์
SCB "ปรับแผนธุรกิจ" เน้นคุณภาพสินเชื่อ รับเศรษฐกิจโลกเปลี่ยน


การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ยังมีความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกประเทศ  โดยเฉพาะการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกและเศรษฐกิจไทย ซึ่งผู้บริหารธนาคารไทยพาณิชย์ก็เตรียมรับมือกับสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้น 

 

 

โดย นายอาทิตย์   นันทวิทยา  ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและรองประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB  ยอมรับว่า ต้องติดตามปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน  ซึ่งถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อเศรษฐกิจทั่วโลกและเศรษฐกิจไทย

ซึ่งจะทำให้เกิดความผันผวนของตลาดเงินตลาดทุนและการเคลื่อนย้ายเงินทุน แม้ในระยะสั้นอาจจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยไม่มาก เนื่องจากระดับเงินสำรองยังค่อนข้างสูง และภาระหนี้ต่างประเทศอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ระบบการเงินและเศรษฐกิจยังมีเสถียรภาพ

โดยเศรษฐกิจไทยในปี 2559  น่าจะมีความหวังมากขึ้น เพราะรัฐบาลได้ประกาศเร่งการลงทุนในโครงการต่างๆ  เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการสุวรรณภูมิ เฟส 2 และโครงการรถไฟรางคู่  รวมทั้งการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยว ซึ่งส่วนตัวคาดว่า จีดีพีปี 2559 น่าจะเติบโตได้ถึง 3-3.5%

 

สำหรับแนวโน้มการเติบโตของสินเชื่อในปีนี้ ธนาคารคาดว่า จะเติบโตไปในทิศทางเดียวกับจีดีพี โดยกลยุทธ์ของธนาคารในปีนี้ จะเน้นการสร้างธุรกิจจากขีดความสามารถเดิมที่ธนาคารมีอยู่ ซึ่งจะขยายธุรกิจจากฐานลูกค้าเอสเอ็มอี ธุรกิจเวลธ์ เมเนจเมนต์ และลูกค้าธุรกิจรายใหญ่ รวมทั้งธนาคารจะมีการปรับกระบวนการทำงานและการให้บริการลูกค้า โดยจะเน้นเรื่องดิจิตอล เทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้น

        
ซึ่งกลยุทธ์และทิศทางการดำเนินธุรกิจของธนาคารในปีนี้  ธนาคารได้แบ่งการแผนงานออกเป็น 2 ด้านหลักๆ  ได้แก่แผนด้านธุรกิจ ซึ่งในปีนี้จะเน้นที่การเตรียมความพร้อมที่จะรับกับวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยจะให้ความสำคัญกับการดูแลลูกค้าในทุกๆ กลุ่ม รวมถึงการดูแลด้านการบริหารความเสี่ยงและคุณภาพของสินทรัพย์ ซึ่งไม่ใช่ส่วนของสินเชื่อเท่านั้น แต่เป็นในทุกๆ ด้าน
         
ส่วนแผนงานด้านการขยายธุรกิจนั้น อัตราการขยายตัวทางธุรกิจน่าจะใกล้เคียงกับปีที่แล้ว เนื่องจากเป็นช่วงที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจไม่สูงนัก ด้านสินเชื่อจะเน้นการปรับธุรกิจใน 3 ส่วน ได้แก่ เอสเอ็มอี  ที่จะเน้นขยายเอสเอ็มอีไซส์เล็กเพิ่มขึ้น รวมทั้งเน้นกลุ่มลูกค้าธนบดี ธนกิจ และลูกค้ารายใหญ่ที่จะเน้นมาที่ลูกค้าไซส์กลางมากขึ้น
         
นอกจากนี้ ธนาคารจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านเทคโนโลยี เพื่อรองรับการทำธุรกรรมด้านดิจิตอลแบงก์ที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมาก โดยธนาคารได้ลงทุนตั้งบริษัทย่อย ซึ่งในช่วงเริ่มต้นธนาคารจะมีการใช้เงินลงทุนประมาณ 1-1.5% ของกำไรในแต่ละปี หรือประมาณปีละ  500 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นเงินลงทุนเกี่ยวกับการพัฒนาและคิดค้นเทคโนโลยี   รวมทั้งจะมีการตั้งเงินทุนอีกประมาณ 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในรูปแบบของเวนเจอร์ แคปปิตอล เพื่อใช้ลงทุนในเรื่องของดิจิตอล เทคโนโลยี โดยปัจจุบันธนาคารอยู่ระหว่างรอการอนุมัติจัดตั้งบริษัทดังกล่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย

 

ด้าน นายญนน์  โภคทรัพย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า การทำธุรกิจธนาคารต่อไปนี้ ธนาคารตระหนักที่จะต้องเตรียมตัวให้พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจที่จะเติบโตชะลอลงอย่างน้อยอีก 3-4 ปี จึงต้องปรับให้การขยายธุรกิจของธนาคารให้สอดคล้องกัน
         
รวมถึงการพร้อมรับการเปลี่ยนไปของรูปแบบการดำเนินธุรกรรมของลูกค้าที่จะเปลี่ยนมาเป็นระบบดิจิตอลมากขึ้นเรื่อยๆ  ซึ่งในส่วนนี้ธนาคารก็มีความพร้อม เพราะ Cost  to income ratio ของธนาคารที่อยู่ในระดับ 36%  ซึ่งถือว่าต่ำกว่าธนาคารอื่นที่อยู่ในระดับ 40%


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 22 ม.ค. 2559 เวลา : 07:35:52
09-01-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 9, 2025, 1:32 pm