แบงก์ TMB มองปีนี้เศรษฐกิจไทยจะทยอยฟื้นตัวต่อ โดยจะเร่งตัวขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 59 มอง GDP สิ้นปี 59 น่าจะเติบโต 3.5% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ 2.7% แต่เตือนแม้เศรษฐกิจจะดีขึ้น แต่ความเสี่ยงก็เพิ่มขึ้นด้วย จากปัจจัยลบ "เศรษฐกิจจีนชะลอตัว - ความผันผวนในตลาดการเงิน ที่จะเกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุนอีกระลอก - ภัยแล้ง " ฉะนั้น ทุกคนจะ "ประมาทไม่ได้"
ดร.เบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคาร TMB กล่าวถึงภาวะเศรษฐกิจในปี 2559 ว่า เศรษฐกิจในปีนี้มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเครื่องยนต์เศรษฐกิจหลายตัวกลับมาทำงานได้ดีขึ้น โดยเฉพาะเครื่องยนต์หลักที่มาจากการลงทุนภาครัฐ ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนจะค่อยๆ เร่งตัวขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ รวมถึงการท่องเที่ยวยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญในปีนี้
“โดยรวมแล้วเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มแข็งแกร่งขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2559 ในขณะที่ครึ่งปีแรกเป็นการทยอยปรับตัวดีขึ้น โดยได้อานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของปีที่ผ่านมา”ดร.เบญจรงค์กล่าว
ดร.เบญจรงค์กล่าวต่อว่า หากเทียบอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ GDP ของปีก่อนกับปีนี้ ทีเอ็มบีมองว่า GDP ปีนี้จะดีกว่าปีก่อนอย่างแน่นอน แม้ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยจะเผชิญกับหลากหลายความท้าทาย แต่ก็ยังสามารถที่จะขยายตัวได้ 2.7% จากแรงขับเคลื่อนการใช้จ่ายภาครัฐและการท่องเที่ยว แต่ในปีนี้จากเครื่องยนต์เศรษฐกิจหลายตัวที่เร่งตัวขึ้นจากมาตรการของรัฐ จะช่วยผลักดัน GDP ปีนี้ให้เติบโตขึ้นได้ในระดับ 3.5% โดยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะเร่งขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2559 ซึ่งจะช่วยให้การลงทุนภาครัฐ เติบโต 6.5% การใช้จ่ายภาครัฐ เติบโต 4.0% การลงทุนภาคเอกชน เติบโต 2.9% การนำเข้า เติบโต 2.8% การส่งออก เติบโต 2.5% และการบริโภคภาคเอกชน เติบโต 2.3%
“อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่เป็นประการสำคัญทื่อยากจะขอย้ำ คือ แม้เศรษฐกิจไทยจะดีขึ้น แต่ความเสี่ยงก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ฉะนั้นเราจะประมาทไม่ได้" ดร.เบญจรงค์กล่าวเตือน พร้อมกล่าวว่า
เศรษฐกิจของไทยในปีนี้จะมีทั้งปัจจัยบวกที่สนับสนุนการฟื้นตัว และปัจจัยลบที่บั่นทอนการเติบโต โดยปัจจัยบวก ได้แก่ 1.บรรยากาศการลงทุนที่ปรับตัวดีขึ้น จากการจัดสรรงบลงทุนของรัฐที่เพิ่มขึ้นแตะระดับ 5 แสนล้านบาท หรือ 20% ของงบประมาณทั้งหมด โดยเม็ดเงินประมาณ 1.5 แสนล้านบาท จะถูกนำมาลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานในปี 2559 นี้
2.มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ ซึ่งรัฐบาลมีแนวโน้มออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม เพื่อเร่งการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ
3.ความเชื่อมั่นปรับสูงขึ้น โดยความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคธุรกิจมีแนวโน้มปรับสูงขึ้น จากนโยบายกระตุ้นของรัฐบาล และเป็นปัจจัยสนับสนุนการบริโภคและการลงทุน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวที่มีฐานกว้างขึ้นในระยะถัดไป
ส่วนปัจจัยลบที่จะบั่นทอนการเติบโต ได้แก่ 1.การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีน ที่จะส่งผลกระทบในเชิงลบต่อการส่งออกและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ 2.ความผันผวนในตลาดการเงิน โดยเป็นผลมาจากความผันผวนในตลาดหุ้นของจีน และการคาดการณ์การดำเนินนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา ที่จะกระทบต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายในตลาดเกิดใหม่ 3.สถานการณ์ภัยแล้งที่อาจทวีความรุนแรงขึ้นในปีนี้ ส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกร และกระทบต่อการฟื้นตัวของการบริโภค
ข่าวเด่น