สร้างความคึกคักให้กับตลาดไอศกรีมในประเทศไทยมากเลยทีเดียว ภายหลังจาก “เอซากิ กูลิโกะ” ผู้ผลิตขนมบิสกิตชั้นนำจากญี่ปุ่น ภายใต้แบรนด์ "กูลิโกะ ป๊อกกี้" ประกาศเปิดตัวธุรกิจไอศกรีมในประเทศไทย ภายใต้ชื่อ "บริษัท กูลิโกะ โฟรเซ่น (ประเทศไทย) จำกัด" ด้วยการประเดิมส่งไอศกรีม 4 ยี่ห้อหลักเข้ามาทดลองทำตลาด
ก่อนหน้าที่ เอซากิ กูลิโกะ จะตัดสินใจเข้ามาทำตลาดไอศกรีมในประเทศไทย ภาพรวมตลาดไอศกรีมในประเทศอยู่ในภาวะเงียบเหงา เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจไม่เอื้อต่อการทำตลาด ประกอบกับสภาพอากาศของไทยค่อนข้างแปรปรวน จึงทำให้ผู้บริโภคลดความสนใจในการบริโภคไอศกรีม
อย่างไรก็ตาม จากสภาพภูมิอากาศของไทยที่ค่อนข้างร้อน ประกอบกับอัตราการบริโภคไอศกรีมของไทยยังอยู่ในระดับต่ำ จึงทำให้ยังมีโอกาสอีกมากให้ผู้ประกอบการเข้ามาขยายตลาด ด้วยเหตุปัจจัยดังกล่าว เอซากิ กูลิโกะ จึงเล็งเห็นโอกาสในการเข้ามาทำตลาดไอศกรีมในประเทศไทย แม้ว่าขณะนี้ประเทศไทยจะมีเศรษฐกิจที่ชะลอตัว แต่หากมองในด้านของอัตราการเติบโตของตลาดไอศกรีมในปี 2558 ที่ผ่านมา ที่มีอัตราการเติบโตอยู่ที่ประมาณ 8% ถือเป็นอัตราการเติบโตสูงกว่าภาพรวมหลายๆ ธุรกิจ
นายคิโยทะคะ ชิมะโมริ กรรมการผู้จัดการ บริษัท กูลิโกะ โฟรเซ่น (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ถือเป็นครั้งแรกของบริษัท เอซากิ กูลิโกะ ที่มีการดำเนินธุรกิจไอศกรีมนอกประเทศญี่ปุ่น โดยการใช้งบ 200 ล้านบาท จดทะเบียนแต่งตั้งบริษัท กูลิโกะ โฟรเซ่น (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นสาขาในประเทศไทย เมื่อเดือนมิ.ย. 2558 เนื่องจากตลาดไอศกรีมในประเทศไทยเป็นตลาดที่มีศักยภาพ เพราะผู้บริโภคชาวไทยเป็นผู้บริโภคที่ชอบมองหาประสบการณ์และสิ่งใหม่ๆ ที่แตกต่างเสมอ
ปัจจัยดังกล่าวถือว่าเหมาะกับทิศทางการทำตลาดของกูลิโกะ ที่มีแผนจะพัฒนาสินค้าให้มีเอกลักษณ์โดดเด่นและแตกต่างไม่เหมือนใคร โดยสินค้าในแต่ละแบรนด์ที่ทำการเปิดตัวเข้ามาทำตลาดจะสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้ ซึ่งกลุ่มเป้าหมายหลักที่ต้องการจะเข้าไปทำตลาดไอศกรีมทั้ง 4 แบรนด์นั้น จะเน้นไปที่กลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงาน
สำหรับไอศกรีมกูลิโกะทั้ง 4 แบรนด์ที่นำเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 27 ม.ค. เป็นต้นไป ประกอบด้วย แบรนด์ที่ 1.พาลิตเต้ มี 2 รสชาติ คือ รสนมและช็อกโกแลต กับ รสนมและไวท์ช็อกโกแลต โดยแนวคิดผลิตภัณฑ์ คือ “การให้รางวัลกับตัวเองจากความวุ่นวายอ่อนล้าด้วยรสสัมผัสของไอศกรีมเนื้อนุ่มละมุนเข้ากันอย่างลงตัวช็อกโกแลตกรุบกรอบเป็นเกลียว ที่ได้ทั้งความสนุกและความอร่อยที่ลงตัวตั้งแต่คำแรกจนคำสุดท้าย
ส่วนแบรนด์ที่ 2. ที่นำเข้ามาทำตลาด คือ ไจแอนท์ โคน มี 2 รสชาติให้เลือก คือ รสช็อกโกแลตและถั่วลิสง กับรสช็อกโกแลตและคุกกี้ โดยแนวคิดผลิตภัณฑ์ คือ “การเติมพลังให้กับตัวเองด้วยไอศกรีมเนื้อแน่นที่โรยหน้าด้วยช็อกโกแลตท็อปปิ้งชั้นดีรสชาติเข้มข้น ให้คุณรู้สึกเพลิดเพลินและปลดปล่อยความเหนื่อยล้าอย่างเต็มที่
แบรนด์ที่ 3. คือ พาแนปป์ มี 2 รสชาติ คือ รสสตรอเบอร์รี่ กับรสองุ่น โดยแนวคิดผลิตภัณฑ์ คือ ความอร่อยลงตัวที่ไม่เหมือนใคร ของไอศกรีม 3 ชั้น คือ ไวท์ช็อกโกแลตกรุบกรอบ, ซอสผลไม้ และไอศกรีมวานิลลา สไตล์ซันเด ที่ช่วยเติมเต็มความสดใสในตัวคุณ
]และแบรนด์ที่ 4. คือ เซเว่นทีน ไอซ์ มี 2 รสชาติ คือ รสมิ้นท์และช็อกโกแลต กับรสวานิลลาและคุกกี้ โดยแนวคิดผลิตภัณฑ์ คือไอศกรีมแท่งรูปแบบใหม่ฉีกเทรนด์ที่ทำให้คุณสามารถอยากออกไปสังสรรค์อย่างมีสไตล์โดยไม่ต้องกังวัลเรื่องการละลาย
ปัจจุบันตลาดไอศกรีมในประเทศไทย มีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 12,800 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตประมาณ 8% เมื่อเทียบกับปี 2557 ที่มีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 11,846 ล้านบาท หรือเติบโต 6% เมื่อเทียบกับปี 2556 ที่มีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 11,206 ล้านบาท และเติบโต 9% เมื่อเทียบกับปี 2555 ซึ่งจากแนวโน้มการเติบโตดังกล่าว ทำให้ กูลิโกะ มั่นใจว่ายังมีช่องว่างให้เข้ามาทำตลาดไอศกรีมได้อีกมาก โดยเฉพาะเซ็กเมนต์ตลาดระดับกลาง-บน ซึ่งมีราคาขายต่ำกว่า 40 บาท ปัจจุบันมีสัดส่วนเพียง 45% ขณะที่เซ็กเมนต์ตลาดระดับบน ซึ่งมีราคาขาย 40 บาท มีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 10%
สำหรับเซ็กเมนต์ตลาดไอศกรีมระดับแมส หรือระดับกลาง ซึ่งมีราคาต่ำกว่า 15 บาท ปัจจุบันมีสัดส่วนมากถึง 55% โดยในส่วนของตลาดนี้ มีไอศกรีมวอลล์และเนสท์เล่ ครองส่วนแบ่งการตลาดรวมกันอยู่ที่ประมาณ 80-90% แล้ว
จากความแข็งแกร่งของผู้ประกอบการรายเก่า ส่งผลให้ กูลิโกะ ต้องออกมาประกาศแผนเชิงรุกระยะยาว 5 ปี นับตั้งแต่ปี 2559-2563 ด้วยการใช้งบมากกว่า 300 ล้านบาท ทำกิจกรรมส่งเสริมการขายไอศกรีมทั้ง 4 แบรนด์ เพื่อชิงส่วนแบ่งการตลาดไอศกรีมเซกเมนต์ระดับกลาง-บน จากผู้ประกอบการรายใหญ่ในตลาด ด้วยการชูจุดขายของสินค้าในด้านของความแปลกใหม่ ซึ่งถือเป็นความแตกต่างที่ชัดเจนเมื่อเทียบกับคู่แข่งในตลาด
ในด้านของช่องทางการทำตลาด กูลิโกะ ได้วางแผนภายในปี 5 ปีนับจากนี้ ว่า ต้องมีตู้แช่ไอศกรีมทั่วประเทศไม่ต่ำกว่า 10,000 ตู้ เพื่อวางจำหน่ายไอศกรีมทั้ง 4 แบรนด์ในช่องทางโมเดิร์นเทรด ร้านสะดวกซื้อ แฟมิลี่มาร์ท และร้านค้าปลีกรายย่อย ในสัดส่วน 50:50 โดยในช่วงแรกของการทำตลาดจะเน้นไปที่ตลาดในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นหลัก
ขณะเดียวกันก็จะเดินหน้าสร้างแบรนด์สินค้าของไอศกรีมทั้ง 4 แบรนด์ให้เป็นที่จดจำ ด้วยการแจกสินค้าตัวอย่าง เพื่อให้ผู้บริโภคเกิดการทดลองชิมสินค้า ส่วนแผนกลางปีมีแผนที่จะขยายช่องทางการทำตลาดไปในต่างจังหวัด หลังจากนั้นในอนาคตอันใกล้ มีแผนที่จะขยายช่องทางจำหน่ายไปในรูปแบบของรถเข็นไอศกรีม เนื่องจากเป็นช่องทางจำหน่ายที่ใหญ่และสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ครอบคลุมกว่าช่องทางอื่นๆ
นายคิโยทะคะ กล่าวว่า ในช่วงแรกของการทำตลาดบริษัทได้มอบหมายให้บริษัท จอมธนา เป็นผู้ผลิตไอศกรีมให้กับบริษัท ซึ่งหลังจากเดินหน้าขยายช่องทางการจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการทำกิจกรรมการตลาด เพื่อสร้างแบรนด์สินค้า บริษัทคาดว่าภายในปี 2563 น่าจะมีรายได้จากการจำหน่ายไอศกรีมทั้ง 4 แบรนด์ ไม่ต่ำกว่า 600-900 ล้านบาท หรือมีส่วนแบ่งทางการตลาดไม่ต่ำกว่า 10% ซึ่งหลังจากำตลาดไอศกรีม บริษัทมีแผนที่จะลงทุนธุรกิจกลุ่มของบิสกิต เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจในประเทศไทย
สำหรับรายได้รวมของบริษัทกูลิโกะ โฟรเซ่น (ประเทศไทย) ในรอบปีบัญชี 2558 คาดว่าจะมีรายได้เติบโตเป็นตัวเลขสองหลัก เมื่อเทียบกับปี 2557 ที่มีรายได้ 3,300 ล้านบาท ส่วนรายได้รวมของบริษัทแม่ เอซากิ กูลิโกะ ในปี 2558 ที่ผ่านมา มีรายได้อยู่ที่ประมาณ 93,000 ล้านบาท แบ่งเป็น กลุ่มช็อกโกแลต 36% ผลิตภัณฑ์นม 29% ไอศกรีม 23% อาหารแปรรูป 7% ที่เหลืออีก 5% เป็นอื่นๆ ซึ่งในส่วนของรายได้ดังกล่าว แบ่งเป็นรายได้จากการส่งออกประมาณ 12.8% และในจำนวนดังกล่าวเป็นรายได้ที่มาจากประเทศไทยประมาณ 3-4%
เป้าหมายที่ กูลิโกะ วางไว้ว่าจะมีส่วนแบ่งการตลาดไอศกรีมที่ 10% ในอีก 4 ปีนับจากนี้ ดูจากรูปแบบของสินค้าและราคา น่าจะชิงส่วนแบ่งการตลาดจากคู่แข่งได้ไม่ยาก เพราะแค่เพียงช่วงเปิดตัวก็มีกระแสสร้างอาการร้อนๆ หนาวๆ ให้กับคู่แข่งในตลาดพอสมควร ซึ่งจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าว คาดว่าในเร็วๆ นี้ ผู้นำทั้ง 2 แบรนด์น่าจะออกมาเปิดกลยุทธ์รับน้องใหม่อย่างแน่นอน
ข่าวเด่น