เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
เศรษฐกิจโลกชะลอ ฉุดส่งออกข้าวไทย


เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง นอกจากจะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจอุตสาหกรรมแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรด้วย

 

 

โดย นายสมเกียรติ  ตรีรัตนพันธ์  ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกข้าวปี 2558 มีปริมาณ 9.79 ล้านตัน ลดลง 10.7% เทียบกับการส่งออกข้าวปี 2557 ที่มีปริมาณ 10.96 ล้านตัน                

 

ด้าน นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคม ผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า สมาคมฯตั้งเป้าหมายการส่งออกข้าวปี 2558 ไว้ที่ 9-9.5 ล้านตัน ซึ่งทำได้จริงสูงกว่าเป้าหมายเล็กน้อย แต่ก็ยังต่ำกว่าเป้าหมายของกระทรวงพาณิชย์ที่ได้ตั้งเป้าไว้ที่ 10 ล้านตัน เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ตกต่ำ ทำให้มีการลดนำเข้าสินค้าเกษตรจากไทยตามไปด้วย และยังมีปัจจัยราคาน้ำมันที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง จาก 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ลงมาอยู่ที่ 20-30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ทำให้ประเทศที่เป็นผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันลดการนำเข้าข้าวจากไทย เช่น อิรัก อิหร่าน ซาอุดีอาระเบีย ไนจีเรีย และกลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง

 

รวมทั้งจีนก็ประสบปัญหาเศรษฐกิจเช่นเดียวกันในฐานะที่เป็นลูกค้ารายใหญ่ของไทย ก็ยิ่งทำให้การส่งออกข้าวของไทยอยู่ในภาวะลำบากมากขึ้น นอกจากนี้ ประเทศผู้นำเข้าอื่นๆ ก็มีแผนนำเข้าข้าวเพียงเพื่อการบริโภคเท่านั้น ไม่มีการนำเข้าเพื่อเก็บเป็นสต็อกข้าวอีกต่อไป เนื่องจากประเทศไทยมีสต็อกข้าวในโกดังของรัฐ คงเหลืออีกกว่า 13 ล้านตัน ทำให้ผู้ซื้อไม่เห็นความจำเป็นต้องเร่งเก็บสต็อก แม้จะมีปัญหาภัยแล้ง  

 

ทั้งนี้ คงต้องจับตาในช่วงเดือนมี.ค.นี้ ที่ข้าวนาปีของเวียดนามจะออกมาทั้งหมด ขณะที่ข้าวนาปีของไทยออกสู่ตลาดหมดแล้วตั้งแต่ต้นปี และไม่มีข้าวนาปรัง เพราะไม่มีน้ำเพียงพอในการเพาะปลูก จะทำให้มีความชัดเจนว่าราคาข้าว ของไทยและทั่วโลกจะออกมาเป็นอย่างไร เพราะไทยกับเวียดนามเป็นคู่แข่งด้านการส่งออก และขณะนี้ราคาข้าวไทยก็สามารถแข่งกับเวียดนามได้แล้ว โดยข้าวเปลือกราคาอยู่ที่ตันละ 8,000-8,200 บาท ถือว่าเป็นราคาที่ดี ส่วนคุณภาพก็ใกล้เคียงกัน

 

ด้าน นายวิทยากร มณีเนตร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ เมืองฮ่องกง เปิดเผยว่า ในปีนี้ตั้งเป้าหมายว่า จะส่งออกข้าวไปตลาดฮ่องกงให้ได้เพิ่มขึ้น หรือมีส่วนแบ่งตลาด 65-70% จากปี 58 ที่มีส่วนแบ่ง 60%   ซึ่งหากดำเนินการได้สำเร็จ จะทำให้ไทยมีส่วนแบ่งตลาดข้าวในฮ่องกงสูงสุดในรอบ 5 ปี  

สำหรับสาเหตุที่ไทยเสียตลาดให้กับคู่แข่ง คือ เวียดนาม เพราะก่อนหน้านี้ ข้าวหอมมะลิของเวียดนามมีราคาต่ำกว่าไทย ทำให้ผู้นำเข้าฮ่องกงหันไปนำเข้าข้าวจากเวียดนามแทน โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคที่เป็นร้านอาหาร

 

โดยในปีนี้สำนักงานฯ ก็มีแผนที่จะนำเสนอข้าวสายพันธุ์ใหม่ๆ เช่น ข้าวสีนิล ข้าวไรซ์เบอรี่ ซึ่งดีต่อสุขภาพและตรงกับความต้องการคนรุ่นใหม่ รวมถึงจะส่งเสริมการขายข้าวบรรจุถุงละ 1 กิโลกรัม ที่เหมาะกับความต้องการบริโภคจำนวนน้อย  เชื่อว่าจะทำให้ข้าวของไทยได้รับความนิยมมากขึ้น

 

 

                     ไทยส่งออกข้าวไปฮ่องกง
    ปี               ปริมาณ(ตัน)              มูลค่า (ลบ.)
2556                 160,095                    5,609
2557                 182,071                    5,766
2558                 168,907                    5,322


ที่มา: สนง.ส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เมืองฮ่องกง


บันทึกโดย : วันที่ : 27 ม.ค. 2559 เวลา : 20:10:39
25-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 25, 2024, 9:46 pm