ประกัน
"อลิอันซ์ อยุธยา" ประกาศยึดหัวหาดเป็นเจ้าตลาดผลิตภัณฑ์คุ้มครอง ผ่าน 3 กลยุทธ์หลัก "ลูกค้าเป็นศูนย์กลาง- มุ่งเน้นดิจิทัล-ขับเคลื่อนการเติบโต"


อลิอันซ์ อยุธยา เผยทิศทางธุรกิจปี59 เดินหน้าต่อยอดกลยุทธ์ระดับโลกของกลุ่มอลิอันซ์ ผ่าน 3 กลยุทธ์หลัก ยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง มุ่งเน้นดิจิทัล และก้าวสู่ขับเคลื่อนการเติบโต พร้อมประกาศยึดตำแหน่งผู้นำในผลิตภัณฑ์คุ้มครอง เพิ่มสัดส่วนเป็น 33% ลุยเพิ่มตัวแทนใหม่ 7,800 พร้อมเร่งพัฒนาศักยภาพการขายและการให้บริการที่ดีเยี่ยม ตั้งเป้าเบี้ยประกันภัยรับปีแรก 6,100 ล้านบาท เบี้ยประกันภัยรับรวม 31,000 ล้านบาท

 

 

นายไบรอัน สมิธ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต เปิดเผยว่าทิศทางในการดำเนินธุรกิจในปีนี้ ยังคงมุ่ง  3 กลยุทธ์ของกลุ่มอลิอันซ์ในการขยายธุรกิจทั้งในด้านกลยุทธ์การยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง,กลยุทธ์การมุ่งเน้นดิจิทัล และกลยุทธ์มุ่งสู่ความเป็นเลิศด้านเทคนิค ขับเคลื่อนการเติบโตและสร้างโอกาสความสำเร็จที่เท่าเทียมให้แก่พนักงานในองค์กร ซึ่งทั้งสามกลยุทธ์ดังกล่าวพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเป็นกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพที่กลุ่มอลิอันซ์ทั่วโลกใช้เดินหน้าในการขยายธุรกิจให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน โดยมีเป้าหมายมุ่งสู่ความเป็นที่หนึ่งในผลิตภัณฑ์คุ้มครองชีวิตและสุขภาพของไทย พร้อมเพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์คุ้มครองเป็น 33%

สำหรับกลยุทธ์ยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลางนั้น บริษัทฯเน้นให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าอย่างครอบคลุม โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์คุ้มครองชีวิตและสุขภาพ เนื่องจากปัจจัยสนับสนุนหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านประชากรศาสตร์ที่แสดงให้เห็นแนวโน้มของสังคมที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ซึ่งหมายถึงภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น แนวโน้มค่ารักษาพยาบาล และความเสี่ยงในการเป็นโรคร้ายโดยเฉพาะโรคมะเร็งที่สูงขึ้น ในขณะที่อัตราการเข้าถึงประกันในประเทศไทยก็ยังอยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งภาวะอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ ถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับอลิอันซ์ อยุธยา ที่จะได้นำเสนอจุดแข็งของบริษัทในเรื่องผลิตภัณฑ์คุ้มครองชีวิตและสุขภาพ โดยมีช่องทางตัวแทนเป็นช่องทางหลักในการเสนอขายแบบประกันรูปแบบดังกล่าว

นอกจากเรื่องผลิตภัณฑ์แล้ว การให้บริการของตัวแทนและการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า เป็นอีกปัจจัยที่จะช่วยสร้างการเติบโต เช่น โครงการเค้กเยี่ยมไข้ ปีที่ผ่านมามีลูกค้าที่ได้รับบริการนี้กว่า 17,000 ราย เพิ่มขึ้น 30% จากปีที่แล้ว และสามารถสร้างเบี้ยประกันใหม่จากลูกค้าเดิมผ่านโครงการนี้ได้มากกว่า 70 ล้านบาท ในส่วนการสร้างความพึงพอใจสูงสุดแก่ลูกค้า บริษัทฯประสบความสำเร็จ โดยมีคะแนน NPS Score เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและอยู่ในอันดับต้นๆ ของธุรกิจหลายปีติดต่อกัน

ส่วนกลยุทธ์มุ่งสู่ดิจิทัลนั้น ปัจจุบันคงปฎิเสธไม่ได้ว่าไลฟ์สไตล์ของผู้คนเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว พร้อมๆ กับเทคโนโลยีการสื่อสารที่ทันสมัย เราใช้เวลากับเครื่องมือดิจิทัลหลายชั่วโมงต่อวัน ดังนั้นกลยุทธ์ของบริษัทจะมุ่งเน้นการใช้เครื่องมือดิจิทัลในการทำตลาด ให้บริการ และเป็นเครื่องมือสำหรับฝ่ายขายผ่านโครงการ DNA อาทิ การส่งผ่านใบคำขอประกันและเอกสารต่างๆ ผ่านระบบดิจิทัล เพื่อเพิ่มความรวดเร็วในการให้บริการ รวมทั้งโครงการ Social Media for Sale ในการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับลูกค้าผ่านโลกออนไลน์ ซึ่งปีนี้ตั้งเป้าหมายขยายตัวแทนในโครงการให้ถึง 800 คน

“เราจะเอาดิจิทัลมาใช้เพื่อที่จะทำอย่างไรให้การขายง่ายขึ้น พิจารณาการขายและจบการขายได้ง่ายและเร็วขึ้น เพราะสังคมไทยที่มีประชากร 65 ล้านคน ครึ่งหนึ่งใช้ออนไลน์ และหนึ่งคนมีมือถือสมาร์ทโฟนหรือแทบเล็ตมากกว่า 1 เครื่อง ฉะนั้นโครงการ DNA และโครงการ Social Media for Sale จะทำให้เราสร้างตัวแทนฝ่ายขายได้และทำให้เราขายสินค้ากได้ด้วย ซึ่งขณะนี้หลายบริษัทประกันก็เดินมาในแนวทางนี้ หากบริษัทประกันใดยังไม่รุกออนไลน์ก็จะช้ากว่าคนอื่น”นายไบรอัน สมิธ กล่าว

นายไบรอัน สมิธ กล่าวต่อไปว่า สำหรับกลยุทธ์ที่สาม การขับเคลื่อนการเติบโต ในส่วนของกลุ่มอลิอันซ์เอง ปีนี้มีการขยายธุรกิจในทวีปเอเชียอย่างชัดเจน ทั้งในจีนและฟิลิปปินส์ ส่วนประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศหลักที่เป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตของเอเชียแปซิฟิก ในขณะที่การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซีในปีนี้ นับเป็นโอกาสสำหรับธุรกิจประกันชีวิตที่จะขยายธุรกิจออกไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านได้ในอนาคต โดยเฉพาะในกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม) เนื่องจากปัจจุบันยังมีสัดส่วนประชากรที่ทำประกันชีวิตอยู่ค่อนข้างน้อย จึงยังมีศักยาภาพสูงที่จะสร้างการเติบโตได้อีกมาก รวมถึงประเทศไทยมีความเหมาะสมในแง่ภูมิศาสตร์ที่เป็นศูนย์กลางในภูมิภาคอีกด้วย

“การขายประกันผ่านตลาด AEC นั้น จะใช้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางหรือฮับในการขายประกันในประเทศเมียนมาร์ ลาว กัมพูชา ซึ่งปัจจุบันในลาวยอดขายของบริษัทฯเป็นที่หนึ่งอยู่ผ่านบริษัทอลิอันซ์ลาว ส่วนในเมียนมาร์และกัมพูชากำลังดูอยู่ว่าจะเข้าไปทำอะไรได้บ้างตามกฎของประเทศเขา อย่างไรก็ตาม แผนงานของเราสนับสนุนให้ตัวแทนไปขายในประเทศเหล่านี้ ซึ่งหากถามว่าเราจะทำอะไรให้กับตัวแทนเพื่อส่งเสริมการขายใน AEC ก็ต้องบอกว่าต่อไปเราจะให้ตัวแทนได้เข้าไปขายในประเทศเหล่านั้นเลย จากปัจจุบันขายตามชายแดน" นายไบรอัน สมิธ กล่าว

 

 

สำหรับการเติบโตของอลิอันซ์ อยุธยา ช่องทางตัวแทนถือเป็นช่องทางสำคัญ โดยบริษัทฯมีแผนงานที่ชัดเจนที่จะขับเคลื่อนช่องทางนี้ให้เกิดผลงานที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงผลตอบแทนให้น่าดึงดูดใจมากขึ้นสำหรับตัวแทน การส่งเสริมให้เกิดการขายอนุสัญญามากขึ้น รวมถึงการบริการลูกค้าที่ดีเยี่ยมเพื่อให้ลูกค้าเกิดความประทับใจมากที่สุด โดยบริษัทตั้งเป้าที่จะเพิ่มจำนวนตัวแทนให้ได้ 7,800 คน จากปัจจุบันมีจำนวนตัวแทนอยู่ทั้งสิ้น 13,850 คน

“ด้วยกลยุทธ์ที่เข้มข้น ทีมงานที่มีประสิทธิภาพ ผสานกับการมุ่งเน้นพัฒนานวัตกรรมทั้งด้านผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นเลิศให้กับลูกค้า ฝ่ายขาย และพันธมิตรทางธุรกิจ เราเชื่อมั่นว่าบริษัทฯจะสามารถบรรลุเป้าหมายเป็นที่หนึ่งในด้านผลิตภัณฑ์คุ้มครองชีวิตและสุขภาพในตลาดประเทศไทย พร้อมพิชิตเป้าเบี้ยประกันภัยรับปีแรก 6,100 ล้านบาท เบี้ยประกันรับรวม 31,000 ล้านบาท ในปี 2559 นี้ได้อย่างแน่นอน โดยครึ่งหนึ่งหรือประมาณ 15,000 ล้านบาท เป็นช่องทางการขายผ่านตัวแทน และ 9,700 ล้านบาท เป็นช่องทางขายผ่านธนาคารพาณิชย์(แบงก์แอสชัวรันส์) และ 5,300 ล้านบาท เป็นช่องทางการขายตรง ที่เหลือเป็นช่องทางกรุ๊ป


LastUpdate 29/01/2559 01:27:06 โดย : Admin
20-09-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ September 20, 2024, 5:03 am