เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
กนง.มีมติเอกฉันท์ คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5% ต่อปี


กนง.มีมติเอกฉันท์ คงอัตราดอกเบี้ยที่ 1.5% ต่อปี ยันพร้อมใช้นโยบายการเงินเหมาะสมเพื่อดูแลศก. มองจีดีพีปี 59 ใกล้เคียงกับประมาณการครั้งก่อนที่ 3.5%  พร้อมคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกปีนี้จะต่ำกว่า 40 เหรียญ รับเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทย  คาดเงินเฟ้อทั่วไป จะฟื้นกลับเป็นบวกในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ยันไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด ชี้ศก.ไทยยังฟื้นตัวต่อเนื่อง

  

นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. และในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. เปิดเผยว่า ที่ประชุมกนง.มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 1.5% ต่อปี โดยประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้ ยังขยายตัวใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ในการประชุมครั้งก่อนที่ 3.5% โดยอุปสงค์ในประเทศเป็นปัจจัยสนับสนุนหลัก
  

สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตามอง คือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการค้าโลก ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ยังอยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งทิ้ศทางการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลัก ซึ่งส่งผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายและอัตราแลกเปลี่ยน
  

"คณะกรรมการเห็นว่านโยบายการเงินในปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่ผ่อนปรน และควรรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบาย รวมทั้งยังคงต้องระมัดระวังความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงิน จึงเห็นให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ โดยกนง.จะติกตามพัฒนาการด้านต่างๆอย่างใกล้ชิด และพร้อมที่จะใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่อย่างเหมาะสม เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพการเงินของประเทศ"นายจาตุรงค์ กล่าว
  

ด้านอัตราเงินเฟ้อนั้น ปรับลดลงต่อเนื่องจากการประชุมครั้งก่อน ตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับลดลงเร็วและมากกว่าคาดการณ์ ทำให้ความเสี่ยงต่ออัตราเงินเฟ้อโน้มไปด้านต่ำเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ติดลบในปัจจุบันจะทยอยปรับสูงขึ้น และมีแนวโน้มกลับเป็นบวกในช่วงครึ่งแรกของปี 2559  ขณะที่ความเสี่ยงด้านเงินฝืดนั้นยังมีจำกัด เนื่องจากขณะนี้เศรษฐกิจไทยยังขยายตัว โดยปีที่ผ่านมาคาดว่าจะขยายตัวได้ 2.8% และปีนี้มองว่าจะขยายตัวได้ 3.5%
  

"เศรษฐกิจเรายังโต มันจึงยังไม่เป็นเงินฝืด เงินฝืดจะอยู่ในสถานการณ์ที่เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ หรือ ติดลบและเศรษฐกิจชะลอตัวจากคนไม่ใช้จ่าย อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้อยังเป็นเป้าหมายหลักของนโยบายการเงิน และยืนยันว่าเมื่อมองไปข้างหน้าเงินเฟ้อจะปรับสูงขึ้น มันเป็นในทิศทางที่เราคาดอยู่แล้ว และเมื่อถึงจุดหนึ่งจะเข้าถึงเป้า หรือ ค่ากลางของเป้าที่เราตั้งไว้ สำหรับปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้ คือ ราคาพลังงาน แต่เมื่อเราเอาเงินเฟ้อทั่วไป และเงินเฟ้อพื้นฐานมาประเมิน มันถูกต้องแล้ว"นายจาตุรงค์ กล่าว
  

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า เงินเฟ้อที่ติดลบอยู่ในปัจจุบันนั้น ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของราคาน้ำมันที่ปรับลดลง โดยในครั้งนี้ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกต่ำกว่าประมาณการเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม ที่ผ่านมาที่ประเมินไว้ที่ 40 ดอลลาร์ต่อบาเรล โดยยังมองว่าราคาน้ำมันยังเป็นปัจจัยเสี่ยง โดยมองว่าปัจจัยด้านปริมาณน้ำมันดูยากว่าจะเพิ่มขึ้นหรือลดลง เนื่องจากมีจากหลายปัจจัยที่ไม่ใช่พฤติกรรมของผู้บริโภคเพียงอย่างเดียว ด้านสถานการณ์ภัยแล้งนั้น ประเมินว่า จะปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เนื่องจากผลผลิตจะทยอยออกมา แต่อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า ขณะนี้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์และราคาสินค้าเกษตรยังคงเป็นความเสี่ยงที่หลายฝ่ายจับตามอง
  

ส่วนกรณีที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือ บีโอเจ มีอัตราดอกเบี้ยติดลบนั้น ระบุว่า ในการประชุมในครั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายได้พิจารณานโยบายการเงินต่างประเทศโดยรวม โดยกนง.เริ่มเห็นสัญญาณการขยับตัวของนโยบายหลายประเทศ ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดความผันผวนและเงินทุนเคลื่อนย้ายและอัตราแลกเปลี่ยน โดยยืนยันว่า ในเรื่องของค่าเงินบาท ธปท.พร้อมจับตา และมีกลไกลในการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนอยู่แล้ว โดยมองว่าสิ่งที่จะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยมาก คือ การขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า มากกว่าความผันผวนทางการเงิน เนื่องจากมองว่า ตลาดการเงินจะสามารถรองรับความผันผวนได้
  

นายจาตุรงค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 ปีที่ผ่านมา ทยอยฟื้นตัวต่อเนื่อง ในอัตราที่ใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ในการประชุมครั้งก่อน โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการใช้จ่ายของภาครัฐที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง จำนวนนักท่องเที่ยววต่างประเทศที่ทยอยปรับดีขึ้นจากกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนเป็นสำคัญ และการบริโภคภาคเอกชนที่มีทิศทางปรับดีขึ้น ส่วนหนึ่งจากปัจจัยชั่วคราวของมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายช่วงก่อนปีใหม่ และการเร่งซื้อรถยนต์ก่อนการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิต ในขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าหดตัวสูง

    


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 03 ก.พ. 2559 เวลา : 16:34:01
25-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 25, 2024, 10:03 pm