เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ครม. ยกเลิกการเว้นจัดเก็บภาษีกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์


ครม. ยกเลิกการเว้นจัดเก็บภาษีกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ เหตุภาคอสังหาฯ ผ่านพ้นภาวะวิกฤติแล้ว  พร้อมอนุมัติปรับกรอบวงเงินลงทุนและจัดหาแหล่งเงินเพิ่มเติม โครงรถไฟฟ้าสายสีแดงเป็น 3.24 หมื่นลบ.จากเดิม 2.56 หมื่นลบ. และขยายเวลาโครงการสินเชื่อเอสเอ็มอีดอกเบี้ยต่ำอีก 6 เดือน  หลังมีเงินเหลืออีกกว่า 1 หมื่นลบ.  ลดภาษีมูลค่าเพิ่ม - อากรนำเข้าในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย
  

 

พลตรีสรรเสริญ แก้วกำเนิดโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี หรือ ครม.ในวันนี้ว่า ที่ประชุมครม.ได้อนุมัติการปรับปรุงการจัดเก็บภาษีกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นร่างกฎหมาย 3 ฉบับประกอบด้วยการยกเลิกการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์  สำหรับกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (กอง 1) กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เพื่อแก้ปัญหาในระบบสถาบันการเงิน (กอง2) กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงิน (กอง 3) และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และสิทธิเรียกร้อง (กอง 4) เนื่องจากการยกเว้นดังกล่าวในช่วงปี 41-45 เพื่อช่วยเหลือการฟื้นฟูกิจการอสังหาริมทรัพย์ และการแก้ไขปัญหาระบบสถาบันการเงินที่ได้รับความเสียหายจากวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 40
  

นอกจากนี้ การให้ยกเลิกการเว้นภาษีทางอ้อมในแก่กองทุนรวมดังกล่าวนั้นควรดำเนินการในสถานการณ์ที่มีความจำเป็นมากเท่านั้น และที่ผ่านมาได้ดำเนินการตามวัตถุประสงค์แล้ว ประกอบกับกระทรวงการคลังและสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ กลต.มีนโยบายสนับสนุนให้กองทุน 1 แปลงเป็น REIT ตามแผนพัฒนาตลาดทุนไทย
  

ที่ประชุมครม.ยังได้อนุมติขยายโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือ Policy Loan ให้กับเอสเอ็มอี ในโครงการแรกที่เริ่มเมื่อมีนาคม 2558 วงเงิน 15,000 ล้านบาท ซึ่งล่าสุดยังเหลือเงินอีก 10,000 ล้านบาท แต่โครงการได้สิ้นสุดไปแล้วเมื่อสิ้นปี 2558 ที่ผ่านมา จึงได้ขยายระยะเวลาโครงการออกไปอีก 6 เดือน จนถึงสิ้นสุดมิถุนายน 2559
  

นอกจากนี้ที่ประชุมครม.ยังได้อนุมัติตามที่ กระทรวงคมนาคมเสนอขอปรับกรอบวงเงินลงทุนและจัดหาแหล่งเงินเพิ่มเติม สำหรับโครงการระบขนส่งมวลชนทางรางในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน โดยปรับวงเงินลงทุนเพิ่มเป็น 32,400 ล้านบาท จากเดิม 25,656 ล้านบาท เนื่องจากมีความล่าช้าในการประมูล เพราะที่ผ่านมามีการใช้เงินกู้จากไจก้า และต้องดำเนินการตามกำหนดจึงทำให้โครงการมีความล่าช้าออกไป แต่ปัจจุบันได้มีบริษัที่ชนะการประมูล คือ MHSC ทำให้วงเงินเฉพาะสัญญาที่ 3 เพิ่มขึ้นจากรอบเดิม 6,744 ล้านบาท เนื่องจากค่าอุปกรณ์ได้เปลี่ยนแปลงตามภาวะเศรษฐกิจ ส่งผลให้กรอบวงเงินรวมทั้งโครงการ เพิ่มขึ้นจาก 75,000 ล้านบาท เป็น 93,000 ล้านบาท
   

นอกจากนี้ที่ประชุมครม.ได้เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอโครงการลดภาระหนี้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาของธนาคารออมสิน โดยชะลอการฟ้องร้องดำเนินคดีหรือการบังคับคดี พักชำระดอกเบี้ย หรือ พักชำระเงินต้นแล้วแต่กรณี ซึ่งธนาคารออมสินได้ดำเนินมาตรการดังกล่าวแล้วต่อเนื่อง โดยมีครูและบุคลากรทางการศึกษาลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ 51,370 ราย วงเงินสินเชื่อรวม 72,190 ล้านบาท และธนาคารออมสินได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้ดังกล่าวแล้ว 1,067 ราย วงเงินสินเชื่อรวม 1,290 ล้านบาท
  

สำหรับโครงการลดภาระหนี้ครูนั้น ธนาคารออมสินได้อนุมัติวงเงินสินเชื่อใหม่เพิ่มเติมให้กับผู้กู้ที่เป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการ โดยใช้เงินที่ทายาทจะได้รับในอนาคตเพื่อค้ำประกัน ได้แก่ เงินฌาปนกิจสงเคราะห์ครอบครัว และหรือเงินบำเหน็จตกทอด เพื่อนำเงินสินเชื่อใหม่มาลดภาระหนี้หรือปิดบัญชีหนี้ที่มีอยู่ในปัจจุบัน
  

โดยคาดว่าโครงการดังกล่าวหากแก้ไขจะช่วยบรรเทาปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาได้ 283,000 ราย และสามารถลดภาระหนี้ได้เฉลี่ยรายละ 300,00-600,000 บาท ทำให้ลดภาระการผ่อนชำระหนี้เดิมลง 2,000-4,000 บาทต่อเดือน หรือบางรายสามารถชำระหนี้ปิดบัญชีได้  
  

นอกจากนี้ที่ประชุมครม.ยังได้อนุมัติมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดบแบ่งเป็นร่างกฎหมาย 3 ฉบับ และร่างกฤษฎีกา 2 ฉบับ โดยประกอบด้วยกฎหมายการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม 1 ฉบับ และประมวลรัษฎากร 1 ฉบับ และร่างกฎกระทรวงในเรื่องการหักภาษี ณ ที่จ่าย เพื่อให้ไทยมีขีดความสามารถในการผลิตอัญมณี
  

“ขณะนี้วัตถุดิบในไทยมีน้อยมาก จึงมีการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ ซึ่งมีประเภท เพชร พลอย ทับทิม มรกต บุษราคัม โกเมน หยก ไข่มุก เป็นต้น  ที่มีการนำเข้า แต่การนำเข้า ประเทศต่างๆจะไม่มีการส่งออกอัญมณีที่ไม่มีการเจียรนัย  เพราะฉะนั้น อัญมณีที่เอาเข้าได้ต้องเป็นบุคคธรรมดา ให้กับผู้ประกอบการเป็นรายบุคคลและเอสเอ็มอี”พลตรีสรรเสริญ กล่าว
  

สำหรับปัจจุบันไทยยังไม่สามารถผลิตเครื่องจักรที่จะผลิตอัญมณีได้ ดังนั้นจึงต้องนำเข้า ส่งผลให้อากรนำเข้าจึงสูงอยู่ที่ 20% ซึ่งหากไม่มีการออกมาตรการช่วยเหลือจะทำให้มีการโยกย้ายฐานการผลิตจากไทยไปเพื่อนบ้าน จึงได้ออกมาตรการดังกล่าว โดยกฎหมายทั้ง 3 ฉบับนั้น หากนำเข้าแล้วยังไม่ได้มีการเจียรนัยจะได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม และเมื่อนำมาขายให้กับร้าน หรือ ผู้ประกอบการผลิตอุตสาหกรรมให้มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย 1% จากเดิมจะสูงกว่านี้ เพื่อลดต้นทุน
  

ขณะเดียวกันหลังผู้นำเข้าขายแล้ว เงินรายได้ ไม่ต้องนำมาประเมินในภาษีพึงประเมินอีก ทำให้ตลาดการผลิตเป็นแรงจูงใจให้มีฐานในไทย อย่างไรก็ตามมีข้อคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่น่าสนใจ การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มควรต้องรวมถึงเพชร และพลอยที่เจียรนัยแล้วถึงจะตอบโจทย์ เพราะคัตติ้งในเมืองไทยยังไม่ดีเท่าคนอื่น จะขายจึงค่อนข้างยาก จึงนำเข้าเป็นเพชรที่เจียรนัยแล้ว และพวกสร้อนคดม้วน แล้วมาเป็นวัตถุดิบผลิตเป็นเครื่องประดับควรยกเว้นอากรขาเข้าด้วย
  

ด้านนโยบายช่วยเหลือเกษตรกร ทางครม.ได้อนุมัติโครงการสนับสนุนสินเชื่อรวบรวมและสร้างมูลค่าเพิ่มมันสำปะหลัง วงเงิน 2,500 ล้านบาท โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ย 3% รวม 75 ล้านบาท ระยะเวลาสมัครตั้งแต่กุมภาพันธ์-กรกฎาคมนี้ และระยะเวลาโครงการตั้งแต่กุมภาพันธ์นี้-31 สิงหาคม 2560
  

สำหรับสาเหตุที่จัดโครงการดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าปริมาณการผลผลิตในปี 58/59 จะมีผลผลิตมันสำปะหลังออกสู่ตลาด 31 ล้านตัน แต่มีความต้องการใช้ทั้งสิ้น 43 ล้านตัน โดยปัจจุบันมีผลผลิตออกสู่ตลาดเพียง 32% เท่านั้นจึงเชื่อว่าเมื่อถึงฤดูกาลจะทำให้ผลผลิตที่ออกมามีน้อย ดังนั้นจึงออกมาตรการดังกล่าวเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร เพื่อพยุงราคาไม่ให้ตกและขายได้ในราคาที่เหมาะสม
  

สำหรับที่ผ่านมา ครม.ได้อนุมัติโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกในระบบน้ำหยด โดยใช้เงินสินเชื่อจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธกส. โดยปล่อยสินเชื่อให้กับเกษตรกรรายย่อย 20,000 ราย รายละไม่เกิน 230,000 บาท รัฐชดเชยดอกเบี้ย FDR บวก 1 เป็นระยะเวลา 2 ปี และอีกโครงการคือชะลอการเก็บเกี่ยวมันสำปะหลัง ใช้เงินจากธกส.รายละไม่เกิน 50,000 ล้านบาท เมื่อวันที่ 8 ธันวาคมที่ผ่านมา
  

ทั้งนี้ในวันที่เสนอโครงการดังกล่าว ได้มีการเสนอโครงการสนับสนุนสินเชื่อรวบรวมและสร้างมูลค่าเพิ่มมันสำปะหลังด้วยแต่ ครม.มีมติให้กลับไปทบทวนใหม่ โดยในครั้งนั้นได้ขออนุมัติเพียง 1,250 ล้านบาท รัฐชดเชยดอกเบี้ย 6 เดือน เป้าหมาย 500,000 ตัน
   

ขณะเดียวกัน ครม.ยังได้อนุมัติจัดสรรเงินจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร โดยให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ยืมเงิน 1,000 ล้านบาท โดยไม่มีดอกเบี้ย กำหนดชำระคืนภายใน 5 ปี นับตั้งแต่ 59-64 เพื่อดำเนินโครงการสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มเกษตรกรเพื่อเข้าถึงแหล่งเงินในการผลิตและการตลาด  โดยสนับสนุนเงินกู้ยืมให้กับเกษตรกรเฉพาะกลุ่มที่มีมาตฐานให้มีเงินกู้ยืมเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน และเพื่อส่งเสริมเกษตรกรให้สามารถจัดหาปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพและราคายุติธรรมตรงตามประสงค์ของเกษตรกร และเพื่อสร้างโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนด้วย
 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 09 ก.พ. 2559 เวลา : 18:11:07
25-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 25, 2024, 9:27 pm