EXIM BANK โชว์ผลการดำเนินงานปี 58 มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 1.52 พันล้านบาท มากกว่าปีก่อน 1.94% ขณะที่มีสินเชื่อคงค้าง 7.35 หมื่นล้านบาท และเงินสำรองหนี้สูญ 5.6 พันล้านบาท ลั่นปี 59 พร้อมรุกการตลาด หลังจัดตั้งฝ่ายกลยุทธ์การตลาดกำหนดยุทธศาสตร์โดยตรง เดินหน้าให้ความรู้ผู้ประกอบการ-ประชาชนทั่วไปเรื่องการค้าระหว่างประเทศ "บริหารจัดการธุรกิจอย่างไรให้สำเร็จและแข่งขันได้ในระยะยาว"
นายเขมทัศน์ สายเชื้อ รักษาการกรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของ EXIM BANK ในปี 2558 ปรับตัวดีขึ้น โดยมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 1.94% อยู่ที่ 1,520 ล้านบาท จากปี 2557 ที่มีกำไร 1,516 ล้านบาท ซึ่ง ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2558 มีเงินให้สินเชื่อคงค้างจำนวน 73,540 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ที่มีเงินให้สินเชื่อคงค้าง 73,168 ล้านบาท และปี 2556 ที่ 67,527 ล้านบาท โดยในจำนวน 73,540 ล้านบาทนี้ เป็นสินเชื่อใหม่ที่เบิกจ่ายเพิ่มขึ้นในระหว่างปีจำนวน 20,307 ล้านบาท และมียอดคงค้างโครงการตามนโยบารัฐภายใต้มติคณะรัฐมนตรีหรือครม.(ต่างประเทศ)จำนวน 1,988 ล้านบาท และเป็นโครงการตามนโยบายรัฐภายใต้มติ ครม.(ในประเทศ) จำนวน 7,315 ล้านบาท
โดย ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2558 มีอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPLs Ratio) อยู่ที่ 5.43% หรือจำนวน 3,993 ล้านบาท ลดลงจากปี 2557 ที่มีจำนวน 4,086 ล้านบาท หรือ NPLs Ratio ที่ 5.58% รวมทั้งมีเงินสำรองหนี้สงสัยจะสูญจำนวน 5,654 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าปี 2557 ที่มีเงินสำรองหนี้สงสัยจะสูญที่ 4,727 ล้านบาท โดยเป็นสำรองหนี้พึงกันตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทยจำนวน 2,890 ล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินสำรองที่กันไว้แล้วต่อสำรองพึงกัน 195.65%
นายเขมทัศน์กล่าวว่า ธุรกิจของ EXIM BANK ประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก คือ สินเชื่อและรับประกัน การสนับสนุนสินเชื่อของ EXIM BANK แก่ผู้ประกอบการไทยในปี 2558 ทำให้เกิดปริมาณธุรกิจ (Business Turnover) 136,634 ล้านบาท แบ่งเป็นด้านการค้า 125,418 ล้านบาท (สินเชื่อที่เกี่ยวกับสาธารณูปโภค 38%,อุตสาหกรรม 19%,คมนาคมและการสื่อสาร 18%,เกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร 11%,เหมืองแร่และเชื้อเพลิง 6%,บริการ 4% และอื่นๆ 4%) และด้านการลงทุน 11,216 ล้านบาท และมีเงินให้สินเชื่อคงค้างจำนวน 73,540 ล้านบาท โดยในส่วนสินเชื่อคงค้างนี้เป็นสินเชื่อเพื่อการลงทุน 58,347 ล้านบาท
ด้านรับประกันมีส่วนทำให้เกิดปริมาณธุรกิจส่งออกและลงทุนรวม 64,386 ล้านบาท โดย 10,142 ล้านบาท เป็นธุรกิจส่งออกของ SMEs หรือ 15.75% ของธุรกิจรับประกันรวม ทั้งนี้ มียอดรับประกันคงค้าง ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2558 จำนวน 15,497 ล้านบาท
การสนับสนุนผู้ส่งออก SMEs เป็นนโยบายหนึ่งที่สำคัญของ EXIM BANK โดยธนาคารได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ทำให้มีลูกค้า SMEs เพิ่มมากขึ้น โดยลูกค้า SMEs (รายได้น้อยกว่า 200 ล้านบาทต่อปี )คิดเป็นสัดส่วน 86.77% ของลูกค้าทั้งหมด หรือประมาณ 1,279 ราย ขณะที่มีลูกค้าขนาดใหญ่ (รายได้มากกว่า 200 ล้านบาทต่อปี) สัดส่วน 13.23% หรือประมาณ 195 ราย
และมีการอนุมัติวงเงินเพิ่มใหม่ในปีเท่ากับ 32,009 ล้านบาท รวมเป็นวงเงินอนุมัติสะสมที่ลูกค้าสามารถเบิกใช้สินเชื่อได้ 73,861 ล้านบาท ทำให้เกิดปริมาณธุรกิจทั้งปีของ SMEs เท่ากับ 81,767 ล้านบาท และมีเงินให้สินเชื่อคงค้าง ณ สิ้นปี จำนวน 29,183 ล้านบาท
ด้านการสนับสนุนตามยุทธศาสตร์ของประเทศและนโยบายรัฐ เช่น สนับสนุนโครงการพัฒนาพลังงานทดแทน สนับสนุนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมของประเทศ และอุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวเนื่อง และสนับสนุนผู้ประกอบการพาณิชยนาวีและโลจิสติกส์อื่นๆ EXIM BANK มีการอนุมัติวงเงินสินเชื่อเพื่อพัฒนาประเทศเพิ่มใหม่ในปีจำนวน 11,217 ล้านบาท รวมเป็นวงเงินอนุมัติสะสมจำนวน 46,411 ล้านบาท และมีเงินให้สินเชื่อคงค้าง ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2558 เท่ากับ 27,565 ล้านบาท
ด้านการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศโดยสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของ EXIM BANK ที่จะเป็นธนาคารที่สร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยเข้าสู่เวทีโลก โดยเฉพาะประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) ปัจจุบัน EXIM BANK มีวงเงินอนุมัติสะสมของสินเชื่อเพื่อการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศในกลุ่มประเทศ AEC รวม 87,099 ล้านบาท โดยเป็นวงเงินอนุมัติเพิ่มใหม่ในปีเท่ากับ 25,589 ล้านบาท ขณะที่เงินให้สินเชื่อคงค้าง ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2558 เท่ากับ 41,628 ล้านบาท แบ่งเป็นสินเชื่อโครงการลงทุนในต่างประเทศ 30,904 ล้านบาท,สินเชื่อเพื่อขยายกำลังการผลิต 8,037 ล้านบาท และสินเชื่อเพื่อเตรียมการส่งออก 2,688 ล้านบาท ในขณะเดียวกัน EXIM BANK ยังได้ให้การสนับสนุนด้านการป้องกันความเสี่ยงเพื่อผลักดันให้การค้าการลงทุนระหว่างประเทศกับ AEC ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีวงเงินป้องกันความเสี่ยงให้กับผู้ประกอบการอยู่ที่ 26,551 ล้านบาท
รักษาการกรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวว่า ในปี 2559 EXIM BANK จะมีบทบาทในเชิงรุกทางการตลาดมากขึ้น โดยได้ปรับโครงสร้างองค์กรให้มีฝ่ายกลยุทธ์การตลาด ดูแลงานด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และกำหนดกลยุทธ์การตลาด เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยเข้าถึงบริการทางการเงินของ EXIM BANK ได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเงินทุนเพื่อเริ่มต้นธุรกิจส่งออกหรือขยายธุรกิจส่งออกอย่างมั่นใจ โดยใช้สินเชื่อและบริการประกันการส่งออกและการลงทุนของ EXIM BANK เงินทุนเพื่อวิจัยพัฒนานวัตกรรม เงินทุนเพื่อค้าขายชายแดนหรือเข้าไปลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ นิคมอุตสาหกรรม จังหวัดชายแดน รวมทั้งพื้นที่อื่นๆ ที่รัฐบาลส่งเสริมการลงทุน ตลอดจน EXIM BANK จะจัดตั้งหน่วยงานให้ความรู้ทางการเงินแก่ผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงการบริหารจัดการธุรกิจให้ประสบความสำเร็จและแข่งขันได้ในระยะยาว โดยชูจุดเด่นของแบรนด์ไทยในตลาดโลก
ในปี 2559 บทบาทและภารกิจของ EXIM BANK จะดำเนินการตามแนวนโยบายที่ได้รับจากกระทรวงการคลัง โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลังในฐานะผู้กำกับนโยบาย ได้แก่ 1.ส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกและผู้นำเข้าไทย อาทิ สนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ให้มีสภาพคล่อง,สนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถทางด้านเทคโนโลยีและสร้างเสริมนวัตกรรม,สนับสนุนการปรับปรุงประสิทธิภาพในการผลิต,ลดความเสี่ยงในการทำการค้าระหว่างประเทศ,ส่งเสริมและพัฒนาความรู้ความเข้าใจทางการเงินแก่ผู้ประกอบการ SMEs (Financial Literacy)
2.ส่งเสริมการลงทุนของไทยในต่างประเทศ อาทิ ส่งเสริมการลงทุนและการรับงานในต่างประเทศ พร้อมลดความเสี่ียงให้ผู้ประอบการไทยในการลงทุนต่างประเทศ
3.สนับสนุนการลงทุนภายในประเทศเพื่อการพัฒนาประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้สามารถก้าวพ้นกับดักของการเป็นประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลาง (Middle Income Trap) อาทิ สนับสนุนการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ การลงทุนในรูปแบบคลัสเตอร์ และการส่งเสริม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย,สนับสนุนโครงการพลังงานทดแทน,สนับสนุนกิจการพาณิชย์นาวีและโลจิสติกส์อื่นๆ
สำหรับแผนงาน/โครงการด้านธุรกิจที่สำคัญในปี 2559 ของ EXIM BANK จะมี 7 โครงการสำคัญๆ ได้แก่
1.โครงการสินเชื่อ SMEs เพื่อการส่งออก
2.โครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมนวัตกรรม
3.โครงการสินเชื่อเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพทางการผลิต
4.โครงการ Financial Literacy สำหรับ SMEs
5.โครงการ Buyer's & Supplier's Credit
6.โครงการสินเชื่อเพื่อการลงทุนในต่างประเทศ (CLMV) และการรับประกันความเสี่ยงการลงทุน
7.โครงการสินเชื่อเพื่อสนับสนุนพลังงานทดแทน/โลจิสติกส์/เขตเศรษฐกิจพิเศษ
ข่าวเด่น