แบงก์-นอนแบงก์
"กรุงศรี คอนซูมเมอร์" ประกาศบุกตลาด CLMV เร่งสร้างฐานโกยลูกค้าเข้าพอร์ทก่อนใคร


“กรุงศรี คอนซูมเมอร์” ใส่เกียร์ห้า บุกตลาด CLMV ประเดิม “ตลาด สปป.ลาว” แห่งแรก ผ่านธุรกิจร่วมทุน “กรุงศรี บริการเช่าสินเชื่อ”ขยายตลาดสินเชื่อผ่อนชำระสินค้า และสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ตั้งเป้ายอดสินเชื่อใหม่ภายในปีนี้โตกว่า 200% พร้อมคาดคืนทุนปีนี้ และรับกำไรปีหน้า วางกำไรโตปีละ 15% “ฐากร”เผย กัมพูชา เป็นประเทศที่สองที่จะบุก คาดเปิดได้ปีหน้า ลุยไมโครไฟแนนซ์ ส่วนเวียดนาม จับมือ”เวียดตินแบงก์”ที่บริษัทแม่ถือหุ้นอยู่ 20% เปิดบริษัทลุยธุรกิจร่วมกัน ขณะ”เมียนมา” ประเทศสุดท้ายที่จะไป รออีก 3 ปีก่อนให้กฎหมายมีความชัดเจนมากกว่านี้

 

นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านกรุงศรี คอนซูมเมอร์  เปิดเผยว่า แผนการดำเนินธุรกิจของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ในปี 2559 นี้ หนึ่งในกลยุทธ์หลัก คือ การขยายธุรกิจสู่ต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา, ลาว, เมียนมาร์ และเวียดนาม) เนื่องจากเป็นกลุ่มประเทศที่มีแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงจากอุปสงค์ภายในประเทศ และมีศักยภาพสูงในการเติบโตของธุรกรรมการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ โดยคาดว่าภายใน 10 ปีข้างหน้า จีดีพีขนาดเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศนี้จะเพิ่มขึ้นอีก 1 เท่าตัว  



 

ทั้งนี้ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ได้ทำการวิจัย “10 ปีในอนาคตของ CLMV กับการเปลี่ยนแปลงที่น่าจับตามอง” มีประเด็นน่าสนใจ กล่าวคือ

1.ประชากรใน 4 ประเทศนี้ จะเติบโตขึ้นอีกมากกว่า 33% เป็นจำนวนมากถึง 220 ล้านคน

2.คาดการณ์ GDP ขนาดเศรษฐกิจจะเติบโตขึ้นมากกว่า 250% ในปี 2030 หรือคิดเป็นมูลค่าถึง 749 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากปัจจุบัน 279 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งปัจจุบันเวียดนาม มี GDP โตสุด ที่ 8.5% รองลงมาเป็นลาว 7.5% กัมพูชา 7.1%  เวียดนาม 6% ขณะที่ไทย 3%

3.กลุ่มชนชั้นกลางจะเติบโตขึ้น 300% เป็นจำนวนถึง 160 ล้านคน และกลายเป็นยุคสังคมเมือง

4.ระบบการสื่อสารและอินเทอร์เน็ตจะเติบโตอย่างก้าวกระโดดกว่า 30%  โดยภายในปี 2020 จะมีโทรศัพท์มือมือกว่า 246  ล้านเครื่อง

5.การเดินทางระหว่างประเทศ โดยสายการบินจะเพิ่มขึ้น 4 เท่าตัว จากปัจจุบัน 28.4 ล้านคน เป็น 113 ล้านคน

6.ฮานอย จะเป็นหนึ่งในเมืองหลวงที่มีการเติบโตเร็วที่สุดในโลก ด้วยแผนพัฒนาขยายเมืองหลวงภายในปี 2030 ประชากรจะเพิ่มจากปัจจุบัน  7.5 ล้านคน เป็น 9.2 ล้านคน

 

 

นายฐากรกล่าวต่อว่า แต่สาเหตุที่กรุงศรี คอนซูมเมอร์ เลือกมาเปิดตลาดที่สปป. ลาวเป็นแห่งแรก เนื่องจากเป็นประเทศที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางด้านชีวภาพ พลังงาน ไฟฟ้า ที่มีศักยภาพเป็นฐานการผลิตด้านอุตสาหกรรมในอนาคต  มีอัตราการจ้างงานที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมและการบริการ อีกทั้งยังมีวัฒนธรรมใกล้เคียงกับไทย เมื่อประกอบกับความพร้อมในเรื่องของพันธมิตรทางธุรกิจที่มีปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง จึงเชื่อมั่นว่าธุรกิจร่วมทุนของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ในสปป. ลาว จะต้องมีศักยภาพการเติบโตสูง  

 


จากการทำการวิจัยเจาะลึกตลาดสปป.ลาว พบว่า จุดแข็ง 1.มีรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ 2.โอกาสการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง 3.เป็นประเทศจุดยุทธศาสตร์ ตั้งอยู่ท่ามกลางประเทศที่กำลังเติบโต 4.เป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ทางด้านชีวภาพ พลังงาน ไฟฟ้า เหมาะแก่การเป็นฐานการผลิตด้านอุตสาหกรรมในอนาคต 5.อัตราค่าจ้างแรงงานต่ำ

ส่วนจุดอ่อน 1.เงินเก็บของลาวขาดเสถียรภาพ (แกว่งขึ้น-ลง) ทำให้ยากต่อการวางแผนด้านการตลาดและการลงทุน 2.กฎหมายเป็นเชิงคุ้มครองมากกว่าเป็นการส่งเสริม และขาดประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย จึงทำให้ไม่คล่องตัวต่อการลงทุน 3.ขาดแคลนสาธารณูปโภคพื้นฐาน แรงงานส่วนใหญ่ของลาวเป็นแรงงานที่ยังต้องการพัฒนาทักษะอีกมาก

สำหรับโอกาสการทำธุรกิจในสปป.ลาว 1.รัฐบาลให้การสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศ 2.การปฎิรูปกฎหมาย การมีตลาดหลักทรัพย์เกิดขึ้น และแผนพัฒนาประเทศให้พ้นจากความยากจนในปี 2020  และ 3.ประเทศต่างๆให้ทุนทางด้านการศึกษาแก่ สปป.ลาวจำนวนมาก จึงทำให้ประชากรมีความรู้และพูดภาษาได้หลากหลาย 4.คนลาวรับชมโทรทัศน์ไทย ดังนั้นสินค้าที่โฆษณาสร้างความนิยมในสปป.ลาว

ส่วนอุปสรรค 1.โครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานของประเทศยังไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร 2.ความล่าช้าของระบบราชการ  3.ภาพลักษณ์ของสปป.ลาวในสายตานักลงทุนต่างชาติ มองว่าตลาดลาวมีขนาดเล็กและมีกำลังซื้อต่ำ

 

 

นายฐากรกล่าวต่อถึงธุรกิจสินเชื่อเพื่อรายย่อยของเครือกรุงศรี ในสปป.ลาว ว่า ได้จัดตั้งขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม 2557  ในนามของ บริษัท กรุงศรี บริการเช่าสินเชื่อ จำกัด หรือ Krungsri Leasing Services Co., Ltd. (KLS)  โดยเป็นธุรกิจร่วมทุนระหว่างบริษัทในเครือธนาคารกรุงศรีอยุธยา ได้แก่  บริษัท อยุธยา แคปปิตอล เซอร์วิสเซส จำกัด ,บริษัท อยุธยา แคปปิตอล ออโต้ ลีส จำกัด (มหาชน) และบริษัท ยูนิตี้ แคปปิตอล จำกัด เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงิน สินเชื่อเพื่อผ่อนชำระค่าสินค้า ภายใต้แบรนด์ “กรุงศรี เฟิร์สช้อยส์” และ สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ภายใต้แบรนด์ “กรุงศรี ออโต้”

“ในช่วงกว่าหนึ่งปีที่ได้ดำเนินธุรกิจในสปป.ลาว ธุรกิจของบริษัท กรุงศรี บริการเช่าสินเชื่อ จำกัด เติบโตเป็นที่น่าพอใจ โดยพอร์ทสินเชื่อปัจจุบัน มีมูลค่าร่วม 400 ล้านบาท โดย 90% เป็นพอร์ทสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ส่วนอีก 10% เป็นพอร์ทสินเชื่อเพื่อผ่อนชำระค่าสินค้า ภายใต้แบรนด์ กรุงศรี เฟิร์สช้อยส์ โดยกำหนดรายได้ขั้นต่ำของผู้กู้ในลาว ต้องมีรายได้ต่อเดือนประมาณ 2 ล้านกีบ หรือคิดเป็นเงินบาทไทยประมาณ 8,000-10,000 บาท ทั้งนี้ แนวโน้มตลาดในปัจจุบัน คาดว่า สินเชื่อเพื่อผ่อนชำระค่าสินค้า เช่น โทรศัพท์มือถือ แล็ปท็อป คอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์ประดับรถยนต์ จะมีอัตราเติบโตสูงขึ้น เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคในสปป.ลาวเริ่มเปลี่ยนแปลงไป โดยผู้บริโภคในสปป. ลาวมีความต้องการใช้สินค้าเหล่านี้เพื่อให้ก้าวทันกับเทคโนโลยีใหม่ๆ และหันมาสนใจซื้อสินค้าด้วยการผ่อนชำระเพิ่มขึ้น นับเป็นโอกาสในการเติบโตของแบรนด์กรุงศรี เฟิร์สช้อยส์ ในสปป. ลาว"นายฐากรกล่าวและว่า

 

 

ทั้งนี้ คาดว่า ภายในปี 2559 นี้ จำนวนบัญชีใหม่รวมทุกผลิตภัณฑ์จะเติบโตขึ้น 141% จาก 2,100 บัญชี เป็น 5,060 บัญชี และยอดสินเชื่อใหม่เติบโตขึ้นเป็น 1,030 ล้านบาท จาก 314 ล้านบาท หรือเติบโตขึ้นกว่า 200% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว พร้อมเพิ่มจำนวนร้านค้าพันธมิตร ทั้งดีลเลอร์รถยนต์และร้านค้าอิเล็กทรอนิกส์เป็น 111 ราย จาก 49  รายในปัจจุบัน ซึ่งหากสามารถทำได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ คาดว่าจะสามารถถึงจุดคุ้มทุนภายในปีนี้ และจะเริ่มมีกำไรในปี 2560 เป็นต้นไป โดยตั้งเป้ากำไรปีละ 15%

 

 

ด้าน นายสุรเดช ปัณฑุรอัมพร  กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงศรี บริการเช่าสินเชื่อ จำกัด กล่าวว่า สำหรับกลยุทธ์ในการขยายธุรกิจใน สปป.ลาวของ บริษัทกรุงศรี บริการเช่าสินเชื่อ จะเน้นการทำกิจกรรมทางการตลาดผ่านกลยุทธ์ 3E  (Expand, Enrich, Excel)  กล่าวคือ 1.มุ่งขยายตลาดโดยเจาะกลุ่มลูกค้าใหม่ และกลุ่มลูกค้าองค์กรให้มากขึ้น รวมทั้งขยายประเภทร้านค้าและดีลเลอร์ และเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการให้ครอบคลุมความต้องการของลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย

2. รักษาฐานลูกค้าเก่าผ่านกิจกรรมทางการตลาดเพื่อกระชับความสัมพันธ์กับลูกค้าเก่าและร้านค้า และพยายามนำเสนอขายผลิตภัณฑ์อื่นตามความเหมาะสม

และ 3. พัฒนากระบวนการทำงานเพื่อสร้างความพอใจสูงสุดให้กับลูกค้าและเสริมสร้างทีมขายให้แข็งแกร่ง โดยบริษัทเชื่อมั่นว่า ด้วยความเชี่ยวชาญในธุรกิจสินเชื่อรายย่อยของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ และเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจที่กว้างขวางของบริษัทในลาว จะช่วยให้ธุรกิจของกรุงศรี บริการเช่าสินเชื่อ เติบโตเป็นที่น่าพอใจได้อย่างแน่นอน

“คนลาวค่อนข้างมีวินัยทางการเงิน จะสังเกตเห็นได้ เอ็นพีแอลของลาวจะไม่มี คือ 0% ฉะนั้นสินเชื่อที่ลาวน่าสนใจที่จะเช้าไปบุกตลาดอย่างมากเพราะไม่มีความเสี่ยง”นายสุรเดชกล่าว


 

นายฐากรกล่าวต่อไปว่า สำหรับแผนธุรกิจในการขยายตลาดไปยังกลุ่ม CLMV ในประเทศอื่นๆ นั้น บริษัทมีแผนที่จะเปิดบริษัทเพื่อให้บริการด้านสินเชื่อต่างๆ ที่ประเทศกัมพูชา เวียดนาม และเมียนมา โดยภายในปีนี้บริษัทเตรียมเซ็นสัญญากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกัมพูชาเพื่อดำเนินธุรกิจด้านสินเชื่อฯใน 2 เมืองหลักทั้งพนมเปญและเสียมเรียบประมาณปี 2560 ก่อนจะขยายธุกิจไปยังเวียดนามและเมียนมา

“ล่าสุดเราได้บรรลุข้อตกลงเข้าซื้อกิจการของบริษัท Hattha Kaksekar Limited (HKL) สถาบันไมโครไฟแนนซ์รายใหญ่ในกัมพูชา โดยอยู่ระหว่างการทำข้อตกลงเพื่อลงนามในสัญญาต่อไป ซึ่งเบื้องต้นในปีแรกจะเน้นการทำธุรกิจไมโครไฟแนนซ์ก่อน และจะเริ่มทำตลาดรายย่อยในปีต่อไป”นายฐากรกล่าว

นายฐากรกล่าวต่ออีกว่า สำหรับการขยายธุรกิจที่ประเทศเวียดนามนั้น จะมีการร่วมมือกับธนาคารแห่งโตเกียว-มิตซูมิชิ ยูเอฟเจ หรือ BTMU ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกรุงศรีฯ และถือหุ้นอยู่ในเวียดตินแบงก์ 20% ในการเปิดบริษัททำธุรกิจร่วมกัน โดยอยู่ระหว่างการหารือร่วมกันในการวางแผนบุกตลาดสินเชื่อรายย่อยภายใน 3 ปีนี้  ทั้งสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ สินเชื่อผ่อนชำระ และไมโครไฟแนนซ์ ยกเว้นบัตรเครดิตที่เวียดตินแบงก์มีอยู่แล้ว

 

ส่วนเมียนมาจะเป็นประเทศสุดท้ายที่จะเปิดบริษัท เนื่องจากมีข้อกฎหมายหลายตัวที่ต้องรอความชัดเจน คาดว่าอีกประมาณ 3 ปีถึงจะเข้าไปทำตลาดที่เมียนมาได้ การเข้าไปทำธุรกิจสินเชื่อในเมียนมาต้องศึกษาตลาดให้ดีก่อนด้วย เพราะที่นี่เปลี่ยนแปลงเร็ว เพราะเดิมเรามองว่าสินเชื่อจักรยานยนต์น่าจะไปได้ แต่ตอนหลังรัฐบาลออกกฎห้ามรถจักรยานยนต์วิ่งในเมืองหลวง ทำให้การทำธุรกิจสินเชื่อจักรยานยนต์ตกไป ส่วนบัตรเครดิตมองว่ายังมีโอกาสจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เยอะขึ้น อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เขาต้องการมากที่สุด กลับเป็นเครื่องรับบัตร

“การขยายธุรกิจไปในกลุ่มประเทศ CLMV อันไหนจะไปก่อน-หลัง จะดูเรื่องความพร้อมของสินเชื่อและความเหมาะสมเป็นหลัก โดยปกติแล้วคนท้องถิ่นในกลุ่มประเทศเหล่านี้จะเลือกทำสินเชื่อกับธนาคารท้องถิ่นมากกว่าเนื่องจากมีความคุ้นเคย แต่สำหรับสินเชื่อธุรกิจเงินผ่อนและไมโครไฟแนนซ์ ธนาคารท้องถิ่นไม่ทำ ฉะนั้นจึงเป็นโอกาสที่กรุงศรีคอนซูมเมอร์จะเข้าไปบุกตลาดเหล่านี้ในกลุ่มประเทศ CLMV อย่างไรก็ตาม แต่ในบางประเทศ เช่น เวียดนาม และเมียนมา เราจะไม่กระโดดเข้าไปทำธุรกิจเองเพียวๆโดยจัดตั้งบริษัทคนเดียว แต่เราจะเข้าไปจับมือกับธนาคารท้องถิ่นในการเปิดบริษัทเพื่อทำธุรกิจร่วมกัน”นายฐากรกล่าว





LastUpdate 15/02/2559 20:15:40 โดย :
10-01-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 10, 2025, 1:10 am