“กรุงศรี คอนซูมเมอร์” มองผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเริ่มมีปัญหาสภาพคล่องการเงิน หันมาใช้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลมากขึ้น ยอมจ่ายดอกเบี้ยแพง แต่มีเงินหมุนเวียนธุรกิจ ขณะหนี้ครัวเรือนเริ่มมีทิศทางดีขึ้น แม้ยังสูงแต่อัตราเพิ่มชะลอลง จากโครงการรถคันแรกหมดลง มีเงินกลับมาหมุนเวียนใช้จ่ายในมือ “ฐากร” มอง GDP ปีนี้น่าจะโตไม่ต่ำกว่า 3% ส่งผลบัตรเครดิต กรุงศรีฯโต 12% สินเชื่อส่วนบุคคล โต 6-7% หวังรัฐออกมาตรการกระตุ้นการบริโภคต่อเนื่อง
นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กรุงศรี คอนซูมเมอร์ เปิดเผยภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 2559 ว่า เศรษฐกิจน่าจะมีแนวโน้มเติบโตในทิศทางที่ดีขึ้น หรือเติบโตไม่น้อยกว่า 3% โดยมีปัจจัยบวกจากภาครัฐออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเมื่อปลายปีที่แล้วซึ่งยังมีผลต่อเนื่องในปีนี้ แต่ก็มีปัจจัยลบที่น่าเป็นห่วงเรื่องในเรื่องสถานการณ์ภัยแล้งที่จะส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อในต่างจังหวัดหดตัวลง อย่างไรก็ตาม ด้วยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ยังไม่ปรับตัวสูงขึ้น รัฐบาลหรือภาครัฐอาจจะต้องออกแรงกระตุ้นด้านการบริโภคเพิ่มขึ้น ทั้งมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายระยะสั้นเช่นเดียวกับปลายปีก่อน และมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ
ทั้งนี้ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ มองว่า ถ้าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ (GDP) ของประเทศไทยในปีนี้เติบโตได้ในระดับ 3% การเติบโตของธุรกิจบัตรเครดิตของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ก็น่าจะเติบโตได้ในระดับ 12% จากปีก่อนที่มียอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตที่ 260,000 ล้านบาท และการเติบโตของธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล น่าจะโตได้ในระดับ 6-7% จากปีก่อนที่มียอดสินเชื่อใหม่ 66,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม หากจีดีพีปีนี้ไม่สามารถเติบโตขึ้นได้ในระดับ 3% ตามที่คาดการณ์ไว้ และจะกระทบเป้าหมายธุรกิจบัตรเครดิตที่ตั้งไว้ที่ 12% และสินเชื่อบุคคลที่ตั้งไว้ 6-7% หรือไม่นั้น นายฐากรกล่าวว่า ในส่วนของธุรกิจบัตรเครดิตตนไม่ค่อยเป็นห่วงมากนัก เนื่องจากเศรษฐกิจไม่ดีอย่างไร คนก็ใช้บัตรเครดิตอยู่ดี รวมทั้งปัจจุบันมีผู้ประกอบการขายสินค้าและบริการหลายอย่างเปิดโอกาสให้ลูกค้าสามารถชำระค่าสินค้าและบริการผ่านบัตรเครดิตได้ ไม่ว่าจะเป็นการทำประกันชีวิตหรือประกันรถยนต์ สามารถจ่ายผ่านบัตรเครดิตได้ รวมถึงการซ่อมและตกแต่งรถยนต์ก็สามารถจ่ายผ่านบัตรเครดิตได้ด้วยเช่นกัน เช่นเดียวกับการช้อปปิ้งออนไลน์ หรือซื้อโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ๆ ก็สามารถรูดผ่านบัตรเครดิตได้ ซึ่งปัจจุบันการช้อปปิ้งผ่านออนไลน์ได้รับความนิยมอย่างมากมีอัตราการเติบโตไม่ต่ำกว่า 35%
สำหรับในส่วนการรูดใช้จ่ายค่าน้ำมัน แม้ราคาน้ำมันจะปรับลดลงมากในช่วงที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งจะกระทบต่อจำนวนยอดการใช้จ่ายรูดผ่านบัตรที่อาจจะลดลง แต่ในส่วนนี้ก็มีการใช้จ่ายเพื่อรูดค่าน้ำมันเพิ่มขึ้นด้วย รวมถึงการช้อปปิ้งและการทานอาหารนอกบ้านของคนสังคมเมือง ก็ยังคงมีอยู่และนิยมใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเพื่อรับสิทธิพิเศษส่วนลดต่างๆ
ฉะนั้นความจำเป็นและความสะดวกในการใช้บัตรเครดิตยังมีประโยขน์อยู่ แต่อาจจะกระทบด้านสินเชื่อส่วนบุคคลบ้าง เนื่องจากภาวะการณ์ปัจจุบันแต่ละครัวเรือนมีภาระหนี้จำนวนมาก เมื่อเศรษฐกิจไม่ดีก็จะกระทบความสามารถในการชำระหนี้และกระทบต่อเครดิตเรตติ้งในการขอสินเชื่อครั้งต่อไปที่สถาบันผู้ให้กู้อาจจะมองว่าลูกหนี้มีความเสี่ยงจึงปฎิเสธการอนุมัติสินเชื่อ
นายฐากรกล่าวว่า ในส่วนของเรื่องหนี้เสียแม้จะยังคงมีปัญหาหนี้เสียอยู่บ้าง แต่ก็มีอัตราที่ชะลอลงด้วย ซึ่งหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในส่วนบัตรเครดิตของบริษัทฯในปีนี้ ตัวเลขที่วางไว้อาจขยับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอีก 0.15% จากปัจจุบันบริษัทฯมี NPL บัตรเครดิตอยู่ที่ 1.45% จะขยับขึ้นมาเป็น 1.6% ขณะที่ NPL ของสินเชื่อส่วนบุคคล จะขยับขึ้นมาเป็น 3.65% จากปีนี้อยู่ที่ 3.5% อย่างไรก็ตาม หากมองในเรื่องการชำระหนี้บัตรเครดิตของลูกค้ามีทิศทางที่ดีขึ้น จากเดิมประมาณ 70% จะจ่ายชำระหนี้ไม่เต็มจำนวนที่เรียกเก็บ แต่ปัจจุบันสัดส่วนลดลงมาอยู่ที่ 65% และระยะต่อไปก็เชื่อว่าน่าจะดีขึ้นอีก
“สิ่งที่เห็นตอนนี้ คือ หนี้ครัวเรือน น่าจะมีการปรับในทิศทางที่ดีขึ้น จากโครงการรถคันแรกที่ปีนี้จะหมดลง ทำให้คนที่เคยจ่ายหนี้ค่ารถคันแรก ก็จะมีเงินกลับมาอยู่ในมืออีกประมาณ 20,000-30,000 บาท ซึ่งน่าจะมีการนำเงินส่วนนี้ออกไปใข้จ่ายบ้างบางส่วน และนำเงินไปชำระหนี้อื่นๆ ได้บางส่วนด้วย แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงตอนนี้ คือ ในฝั่งของผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอี ที่ขณะนี้เริ่มเห็นสัญญาณการขาดสภาพคล่องทางการเงิน โดยมีการขยับมาขอสินเชื่อส่วนบุคคลเพื่อนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนระยะสั้น 6-8 เดือน กันแล้ว แม้จะต้องจ่ายดอกเบี้ยในอัตราที่สูงขึ้น แต่ก็ได้เงินไปใช้หมุนเวียนเสริมสภาพคล่องธุรกิจ”นายฐากรกล่าว
ข่าวเด่น