มีความคึกคักตั้งแต่ต้นปีสำหรับธุรกิจร้านอาหาร ภายหลังจากมีผู้ประกอบการยักษ์ใหญ่หลายรายทยอยซื้อกิจการในธุรกิจร้านอาหาร เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจในเครือ และหลังจากได้เข้ามาสัมผัสในธุรกิจร้านอาหาร ทำให้ยักษ์ใหญ่เล็งเห็นโอกาสในการขยายธุรกิจทั้งในส่วนของธุรกิจร้านอาหารที่ซื้อมา และการเดินหน้าซื้อกิจการรายอาหารอื่นๆ เข้ามาเพิ่มเติมในขาธุรกิจ เพื่อเพิ่มรายได้และสร้างความแข็งแกร่งให้กับขาธุรกิจร้านอาหาร
ยักษ์ใหญ่ที่ออกมาประกาศตัวขยายธุรกิจร้านอาหารตั้งแต่ต้นปี หลังซื้อกิจการไปในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา คือ บริษัท นิปปอนแพ็ค (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่มีความยืดหยุ่นและขวด PET บรรจุภัณฑ์พลาสติกคุณภาพสูงและถาดอาหาร รวมทั้งลงทุนในธุรกิจอาหารและธุรกิจติดตั้งสื่อโฆษณา เจ้าของร้านอาหารเอแอนด์ดับบลิว( A&W ) และบริษัท เวฟ เอ็นเตอร์เทนเมนท์ จำกัด(มหาชน) ผู้ดำเนินธุรกิจบันเทิง และธุรกิจไลฟ์สไตล์ เจ้าของร้านอาหารเจฟเฟอร์
เริ่มที่บริษัท นิปปอนแพ็ค (ประเทศไทย) หลังจากมอบหมายหน้าที่ให้บริษัท เอ็นพีพี ฟู้ด อินคอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ รับสิทธิ์เป็นผู้บริหารงานเรื่องสิทธิ์แฟรนไชส์ A&W จากสหรัฐอเมริกา หลังจากซื้อทรัพย์สินและสิทธิ์ในการบริหารงาน บริษัท เอ แอนด์ ดับบลิว เรสเตอรองต์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขณะนี้พร้อมจะทำการรุกตลาดอย่างเต็มที่ เบื้องต้นมีแผนที่จะใช้งบ 160 ล้านบาท ในการปรับปรุงร้านเก่าและขยายสาขาใหม่ เนื่องจากอีก 5 ปีนับจากนี้ มีแผนที่จะขยายร้านเอแอนด์ดับบลิวให้ครบ 100 สาขา จากปัจจุบันมี 21 สาขา
นายสุรพงษ์ เตรียมชาญชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท นิปปอนแพ็ค (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทเชื่อว่าการรุกตลาดในครั้งนี้จะทำให้ร้านเอแอนด์ดับบลิวขึ้นเป็น 1 ใน 3 ของธุรกิจอาหารบริการด่วน หรือ QSR (Quick Service Restaurant) ได้อย่างแน่นอน เนื่องจากร้านเอแอนด์ดับบลิวเป็นแบรนด์ที่มีศักยภาพ ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพอาหาร หรือรสชาติอาหาร อีกทั้งยังมีจุดขายในด้านของเครื่องดื่มรูทเบียร์ที่หารับประทานได้ยากในร้านอาหาร อีกทั้งยังเป็นแบรนด์ร้านอาหารที่ผู้บริโภคในประเทศมีความคุ้นเคยและให้ความไว้วางใจ บริษัทจึงมั่นใจว่าจะประสบความสำเร็จกับร้านเอแอนด์ดับบลิวอย่างแน่นอน
นายวิชัย เจริญธรรมานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็นพีพี ฟู้ด อินคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า แผนการขยายสาขาของร้านเอแอนด์ดับบลิวนปีนี้จะเปิดสาขาใหม่จำนวน 6 สาขา เน้นการเปิดสาขาในห้างสรรพสินค้าชั้นนำในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นหลัก ส่วนการปรับปรุงสาขาเก่าก็จะทำการปรับปรุงให้มีภาพลักษณ์ใหม่ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Old Friend New Look” พร้อมทั้งปรับปรุงรายการอาหารบางส่วนให้มีคุณภาพมากขึ้น และมีความหลากหลาย เพื่อรองรับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในปัจจุบัน
สำหรับร้านเอแอนด์ดับบลิวที่จะเปิดให้ครบ 100 สาขา ภายใน 5 ปีนับจากนี้นั้น จะมีการแบ่งร้านออกเป็น 3 รูปแบบคือ 1.สาขา Full Shop ขนาด 200 ตร.ม.ที่จะเปิดในศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้า 2.สาขามาตรฐาน (Standard) หรือสแตนด์ อะโลน (Stand Alone) ขนาด 80-120 ตร.ม. เปิดในเขตชุมชนและเขตธุรกิจ 3.สาขาคีออสก์ (Kiosk) ขนาด 20-40 ตร.ม. เน้นพื้นที่ในสถานีบริการน้ำมัน โดยเมนูอาหารจะมีทั้งคาวและหวานที่ปรับสูตรอาหารให้เข้ากับคนไทย เจาะกลุ่มลูกค้าหลักที่เป็นกลุ่มลูกค้าที่รู้จักและชื่นชอบรสชาติอาหารของ A&W อยู่แล้ว กับกลุ่มลูกค้าใหม่หรือกลุ่มอายุ 35 ปีลงมา ได้แก่ กลุ่ม Young Adult กลุ่ม First Jobber และกลุ่มครอบครัว
ส่วนกลยุทธ์การทำตลาด ก็มีแผนที่จะขยายฐานลูกค้ามายังกลุ่มวัยรุ่นและกลุ่มวัยทำงานตอนต้นอายุระหว่าง 25-35 ปี ซึ่งหลังจากที่ได้เจรจากับเจ้าของแบรนด์เอแอนด์ดับบลิวในสหรัฐอเมริกาให้เอแอนด์ดับบลิวในไทยสามารถมีเมนูข้าวได้ ยิ่งทำให้เจ้าของร้านเอแอนด์ดับบลิวยิ่งมีความมั่นใจว่า เมนูอาหารหลักได้รับความสนใจมากขึ้น และผลักดันให้ยอดขายเอแอนด์ดับบลิวปีนี้เติบโตกว่า 100% จากในอดีตอยู่ที่ประมาณ 100 ล้านบาทต่อปี เพิ่มเป็น 200 ล้านบาทในปีนี้ได้อย่างแน่นอน
ด้าน นายเควิน บาซเนอร์ ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร A&W Restaurant Inc. กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้าการเติบโตในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แบบดับเบิล เนื่องจากร้านเอแอนด์ดับบลิวมีธุรกิจอยู่ในภูมิภาคนี้ตั้งแต่ปี 1963 มากกว่า 300 แห่ง ซึ่งกลยุทธ์การทำตลาดร้านเอแอนด์ดับบลิวนับจากนี้จะเร่งรุกขยายตลาดในประเทศที่มีร้านเอแอนด์ดับบลิวเปิดให้บริการอยู่แล้ว เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย และเมืองโอกินาวา ประเทศญี่ปุ่น ล่าสุดอยู่ระหว่างการเจรจาเปิดตลาดในฟิลิปปินส์และกลุ่มประเทศ CLMV ได้แก่ กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม เพื่อขยายสาขาในภูมิภาคนี้เพิ่มขึ้นอีก 2 เท่า ภายใน 5-7 ปีข้างหน้า
ขณะที่ร้านเอแอนด์ดับบลิว ออกมาประกาศแผน 5 ปี จะขยายสาขาให้ครบ 100 สาขาทั่วประเทศ ในส่วนของร้านเจฟเฟอร์เองก็ออกมาประกาศแผน 5 ปีเช่นกัน ด้วยการวางแผนจะเปิดร้านให้ครบ 240 สาขาทั่วประเทศ จากปัจจุบันมีร้านเจฟเฟอร์เปิดให้บริการทั่วประเทศอยู่ที่ประมาณ 80 สาขา หลังจากธุรกิจร้านเจฟเฟอร์ในปัจจุบันอยู่ภายใต้การบริหารงานของบริษัท เวฟ ฟู้ด กรุ้ป จำกัด บริษัทในเครือ บริษัท เวฟ เอ็นเตอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน)
นายแมทธิว กิจโอธาน ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เวฟ เอ็นเตอร์เทนเมนท์ กล่าวว่า บริษัทตั้งบริษัท เวฟ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด ขึ้นมาในครั้งนี้ก็เพื่อทำหน้าที่ดูแลธุรกิจร้านอาหารโดยเฉพาะ ซึ่งหลังจากเข้าไปลงทุนซื้อกิจการ 100% ในบริษัท เจฟเฟอร์ เรสโตรองต์ จำกัด ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ปีนี้บริษัทจะเดินหน้าขยายธุรกิจร้านเจฟเฟอร์ทันที โดยเบื้องต้นมีแผนที่จะใช้งบลงทุน 1,300 ล้านบาท ขยายสาขาร้านเจฟเฟอร์ให้ครบ 240 สาขา ภายใน 5 ปี โดยในส่วนของปีนี้มีแผนที่จะขยาย 15 สาขา ซึ่งแต่ละสาขาจะใช้งบลงทุนเฉลี่ยที่ประมาณ 8 ล้านบาท
ล่าสุด เปิดในโมเดลแฟล็กชิพ ภาพลักษณ์ใหม่บริการแบบสเต็ปเฮาส์ สาขาแรกที่ชั้น 3 อาคารวิกตอรี คอร์เนอร์ บนพื้นที่ 440 ตร.ม. จำนวน 220 ที่นั่ง และเปิด “เจฟเฟอร์ คาเฟ่” บริการเครื่องดื่มกาแฟและของว่าง 30 รายการ ฟรีไวไฟ เปิดเวลา 07.00-24.00 น. มีแผนจะเปิดโมเดลนี้อีก 4 สาขา เช่น ซีพี สีลม, ยูเนี่ยนมอลล์ และจังซีลอน เป็นต้น
นอกจากจะให้ความสำคัญกับการขยายสาขาร้านเจฟเฟอร์ ยังมีแผนที่จะทำกิจกรรมส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่อง ด้วยการใช้ธุรกิจบันเทิงในเครือเป็นตัวต่อยอดธุรกิจ เพื่อสร้างแบรนด์ของร้านเจฟเฟอร์ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น โดยสิ้นปีคาดว่าจะมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 1,100 ล้านบาท เติบโตจากปีที่ผ่านมา 15% และเพิ่มเป็น 2,300 ล้านบาท ในอีก 5 ปีนับจากนี้
นายแมทธิว กล่าวต่อว่า ตลาดภูมิภาคอาเซียนถือเป็นอีกหนึ่งตลาดที่บริษัทให้ความสนใจจะนำร้านเจฟเฟอร์เข้าไปเปิดให้บริการ โดยกลุ่มประเทศที่ให้ความสนใจจะเข้าไปศึกษาและเปิดให้บริการร้านเจฟเฟอร์ในเร็วๆนี้ คือ พม่า ลาว และกัมพูชา ซึ่งช่วงแรกของการเข้าไปขยายธุรกิจ จะเปิดร้านเจฟเฟอร์ที่ 2-3 สาขาก่อน เพื่อเป็นการทดลองตลาด
ด้าน นายครรชิต มณีสุวรรณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจฟเฟอร์ เรสโตรองต์ จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันภาพรวมร้านอาหารสเต๊กมีมูลค่าอยู่ที่ปราณ 14,000 ล้านบาท เติบโต 5% ส่วนปีนี้คาดว่าจะเติบโตน้อยกว่า เพราะกำลังซื้อไม่ดี ส่งผลต่อสเต๊กในเซกเมนต์พรีเมียมเติบโตลดลง จากปัจจุบันสัดส่วนตลาดพรีเมียมอยู่ที่ 60-70% ตลาดกลาง 18% และแมส 20% ซึ่งในส่วนของตลาดสเต๊กระดับแมสมี “เจฟเฟอร์” เป็นผู้นำตลาด ด้วยการครองส่วนแบ่งการตลาดที่ประมาณ 6%
สำหรับภาพรวมธุรกิจอาหารในไทยนั้น ปัจจุบันมีมูลค่าอยู่ที่กว่า 1.2 แสนล้านบาท แบ่งเป็นกลุ่มเชนร้านอาหารประมาณ 60,000 ล้านบาท อีกประมาณ 60,000 ล้านบาท เป็นมูลค่าของกลุ่มร้านอาหารจานด่วนและเครื่องดื่ม ซึ่งในส่วนของกลุ่มร้านอาหารจานด่วนและเครื่องดื่มประเภทไก่ทอดและเบอร์เกอร์ ปัจจุบันมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 10,000 ล้านบาท เติบโต 5% ถือว่าอยู่ในระดับน่าพอใจท่ามกลางเศรษฐกิจชะลอตัว
จากการที่ภาพรวมเศรษฐกิจในปีนี้ยังไม่อยู่ในสภาวะที่ฟื้นตัวมากนัก ส่งผลให้คาดการณ์ว่าภาพรวมธุรกิจร้านอาหารในปีนี้น่าจะมีอัตราการเติบโตไม่ต่างจากปีที่ผ่านมามากนัก แต่ดูจากการขยายตัวของธุรกิจร้านอาหารที่ยังคงเดินหน้าเปิดร้านใหม่กันอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปทำกิจกรรมส่งเสริมการขาย ล้วนแต่เป็นประโยชน์กับผู้บริโภคทั้งสิ้น
ข่าวเด่น