สถานการณ์ภัยแล้งปีนี้ทวีความรุนแรงมากขึ้น นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา
โดยจะเห็นได้จากกรณีที่ นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะรองผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ได้ออกหนังสือด่วนที่สุดถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ว่า สถานการณ์ภัยแล้งได้ทวีความรุนแรงขึ้นตามลำดับ และสื่อมวลชนได้เสนอข่าวสารการขาดแคลนน้ำในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค จึงขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะผู้อำนวยการจังหวัด ตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 ดำเนินการ ดังนี้
1.จังหวัดที่สื่อมวลชนเสนอข่าวสารว่าขาดแคลนน้ำแล้วขั้นวิกฤติ ได้แก่ พิจิตร เลย นครสวรรค์ หนองคาย และแพร่ ขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง และให้รายงานให้กระทรวงกระทรวงมหาดไทยทราบ พร้อมทั้งชี้แจงสื่อมวลชนต่างๆ ทราบถึงการดำเนินการของจังหวัดและส่วนราชการต่างๆ
2.ให้นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ร่วมกับหน่วยงานด้านการบริหารจัดการน้ำ และเส้นทางน้ำสาธารณะ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการปิดกั้นหรือลักลอบสูบน้ำที่จะเข้าสู่แหล่งกักเก็บน้ำเพื่อการผลิตน้ำประปา
3.หากพบว่าปริมาณน้ำในแหล่งน้ำสำรองเพื่อการผลิตน้ำประปาเหลือน้อยไม่เพียงพอต่อการผลิตน้ำประปา ให้ดำเนินการหาแหล่งน้ำสำรองใหม่ แล้วใช้เครื่องสูบน้ำเข้าแหล่งเก็บกักน้ำ หรือดำเนินการแจกจ่ายน้ำอุปโภคบริโภคให้ราษฎร เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการร้องเรียน หรือมีการนำเสนอข่าวสารในลักษณะที่มีการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค โดยที่ไม่มีหน่วยงานราชการให้ความช่วยเหลือประชาชนแต่อย่างใด
และ 4.ให้จังหวัดที่ได้รับแจ้งว่ามีสาขาการประปาส่วนภูมิภาค ที่มีความเสี่ยงจะขาดแคลนน้ำรวม 11 สาขา และเฝ้าระวังจำนวน 51 สาขา ตามหนังสือกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยแห่งชาติ รวมถึงจังหวัดในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ อุตรดิตถ์ พะเยา สุโขทัย นครสวรรค์ นครราชสีมา นครพนม มหาสารคาม บุรีรัมย์ กาญจนบุรี เพชรบุรี และสระแก้ว ซึ่งได้ประกาศเขตให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2556 ติดตามสถานการณ์ภัยแล้งอย่างใกล้ชิด หากเกินขีดความสามารถของจังหวัด ให้ขอรับการสนับสนุนจากส่วนกลางและให้รายงานกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยแห่งชาติ ทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์
ขณะที่ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังลงพื้นที่ตรวจบริเวณ ลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่ประสบวิกฤติภัยแล้ง 4 จังหวัด คือ สิงห์บุรี อ่างทอง สระบุรี และลพบุรี ว่า ได้สั่งการให้ ทุกกรมลงไปดูแลช่วยเหลือเกษตรกร บรรเทาผลกระทบจากภัยแล้งมาอย่างต่อเนื่อง แม้ระชาชนส่วนใหญ่จะพอใจมาตรการการช่วยเหลือภาครัฐกว่า 80%
แต่ปัญหาภัยแล้งยังน่าเป็นห่วง มีพื้นที่ได้รับผลกระทบภัยแล้งทั่วประเทศ ซึ่งการบริหารจัดการน้ำไม่สามารถดูแลพื้นที่ เพาะปลูกได้ นายกรัฐมนตรีจึงได้สั่งการให้นำมาตรการช่วยเหลือจากรัฐบาลลงพื้นที่และเดินหน้าเต็มที่ภายในเดือนนี้ ทั้งในส่วนกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงมหาดไทย กองทุนหมู่บ้านๆ 5 ล้านบาท เพื่อให้เกษตรกรผ่านภัยแล้งไปได้ ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัด พระนครศรีอยุธยา รายงานว่าประชาชนพอใจ มาตรการภาครัฐมาก เพราะมีกว่า 200 โครงการ จากทุกหน่วยงานลงไปช่วยชาวบ้าน
นอกจากนี้ นายกฯยังสั่งให้กองทัพภาค 1 ดูแลช่วยเหลือประชาชนให้มีน้ำกินน้ำใช้ ในพื้นที่ภาคกลางอย่างเต็มที่ และกองทัพภาคอื่นดูแลในพื้นที่รับผิดชอบ กรมชลประทาน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) บูรณาการทุกกระทรวง และในฐานะตนเป็นประธานคณะกรรมการ บูรณาการแก้ไขวิกฤติภัยแล้ง จะเรียกประชุมเกาะติดสถานการณ์ภัยแล้งทุกกระทรวง ซึ่งในสัปดาห์หน้าจะเรียกทุกหน่วยงานมาวางแผน ซักซ้อมรับมือสถานการณ์ที่จะเกิดรุนแรงขึ้น ช่วงเดือนมีนาคมและเมษายนนี้ ทั้งนี้ ยืนยันว่าดูแลเต็มที่ไม่ให้เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้แน่นอนในช่วงแล้ง 3 - 4 เดือนนี้
ด้าน นายณรงค์ ลีลานนท์ รองอธิบดี กรมชลประทาน กล่าวว่า สถานการณ์น้ำน้อย ระดับวิกฤติในลุ่มเจ้าพระยายังมีอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากยังไม่มีน้ำฝนไหลเข้าเขื่อนหลัก เช่น เขื่อนภูมิพล เขื่อนแควน้อย และเขื่อนป่าสัก มีเพียงเขื่อนสิริกิติ์แห่งเดียวที่มีน้ำ ไหลเข้าวันละ 2 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ซึ่งปริมาณน้ำฝนปีนี้ยังน้อยกว่าปี 2558 ช่วงเวลาเดียวกันถึงร้อยละ 50
ข่าวเด่น