เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
เศรษฐกิจไทย เดือน ม.ค ยังส่งสัญญาณชะลอตัว


เศรษฐกิจไทยเดือนม.ค. ยังมีสัญญาณการชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยจะเห็นได้จากการแถลงภาวะเศรษฐกิจของกระทรวงการคลัง

 

 

โดย น.ส.กุลยา ตันติเตมิท  ที่ปรึกษาด้านนโยบายและยุทธศาสตร์กระทรวงการคลัง และรองโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ภาวะเดือน ม.ค. 2559 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการใช้จ่ายรัฐบาลและภาคการท่องเที่ยวต่างประเทศที่ยังขยายตัวได้ดี แต่ต้องติดตามสถานการณ์การใช้จ่ายภาคเอกชนที่มีสัญญาณชะลอลง และการส่งออกสินค้าของไทยที่ยังคงหดตัวต่อเนื่อง
         
ด้านการบริโภคภาคเอกชนก็มีสัญญาณชะลอลง สะท้อนจากยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ แวต หดตัวขยายตัวติดลบ 1.2% จากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าที่ยังคงหดตัวต่อเนื่อง ส่วนการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากฐานการใช้จ่ายภายในประเทศขยายตัวเล็กน้อย
         
นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยปรับตัวลดลงในรอบ 4 เดือน โดยอยู่ที่ระดับ 64.4 เนื่องจากผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวช้า และได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอน กอปรกับราคาสินค้าเกษตรที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ
                   
ส่วนการลงทุนภาคเอกชนยังมีสัญญาณชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะการลงทุนในหมวดการก่อสร้าง  สะท้อนจากภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ที่หดตัวติดลบ 5.6% ส่วนหนึ่งเนื่องจากมีการเร่งโอนไปแล้วในช่วงเวลาก่อนหน้า ก่อนที่ราคาประเมินที่ดินใหม่จะเริ่มใช้ในวันที่ 1 ม.ค. 2559
         

 

สำหรับตัวเลขการส่งออกซึ่งในอดีตเคยมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย ในปีนี้ยังมีอาการน่าเป็นห่วง โดย นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์  ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า  การส่งออกสินค้าไทยในเดือน ม.ค.2559 มีมูลค่า 15,711.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 8.91%  เทียบ ม.ค.58 ถือเป็นมูลค่า และอัตราการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 50 เดือน นับจากเดือน พ.ย.2554 การนำเข้ามีมูลค่า 15,473.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 12.37% เกินดุลการค้า 237.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 2,039.8 ล้านบาท
         
เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลก และประเทศคู่ค้าสำคัญยังชะลอตัว โดยล่าสุดเดือน ม.ค. กองทุนการเงินระหว่างประเทศได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจโลกไว้ที่เติบโต 3.4% จากเดิม 3.6% รวมถึงราคาน้ำมันที่ลดลงมาก และยังไม่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รวมทั้งเงินบาทที่อ่อนค่าน้อยกว่าคู่ค้า และคู่แข่งอย่างเงินยูโรที่อ่อนค่าถึง 12% เยนญี่ปุ่นอ่อนค่า 3% ริงกิตมาเลเซีย 16.4%  ส่งผลให้สินค้าไทยเสียเปรียบการแข่งขันด้านราคา แต่ยังดีที่ส่วนแบ่งตลาดของไทยในแทบทุกตลาดเพิ่มขึ้น และไทยยังมีมูลค่าการส่งออกมากเป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากฮ่องกง จีน และเม็กซิโก

 

นายสุวิทย์  เมษินทรีย์  รัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า มูลค่าการส่งออกเดือน ม.ค.ที่ลดลงมากไม่ใช่เรื่องเลวร้าย เพราะเป็นเพียงแค่เดือนเดียวในปีนี้ อีกทั้งมูลค่าการส่งออกสินค้าไม่สามารถบอกได้ถึงความมั่งคั่งของประเทศไทย  เพราะสินค้าส่งออกส่วนใหญ่ของไทยเป็นการผลิตและส่งออกของนักลงทุนต่างชาติ เมื่อมีการย้ายฐานลงทุนไปประเทศอื่นๆ มูลค่าการส่งออกจากไทยย่อมลดลง กระทรวงฯจึงยังคงเป้าหมายการเติบโตของการส่งออกในปีนี้ที่ 5%


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 26 ก.พ. 2559 เวลา : 15:36:41
25-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 25, 2024, 10:00 pm