พ.อ.ดร.นที ศุกลรัตน์ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.)ในฐานะประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์(กสท.) บอกถึง “ทิศทางอุตสาหกรรมโทรทัศน์ในปี 2559 “ ว่า
ในปีนี้จะมีการแข่งขันในเรื่องของคอนเทนต์ ส่งผลให้ลดการผูกขาด ช่องเดิมต้องยอมรับว่าจะต้องถูกแบ่งสัดส่วนครองตลาดคนดูจากช่องใหม่ๆ ส่วนช่องที่ยังไม่มีฐานคนดูมากนักก็จะเร่งพัฒนาคอนเท้นต์ เพื่อดึงคนดูให้เกิดความสนใจและจดจำช่องของตนให้ได้ โดยช่องที่มีส่วนแบ่งตลาดในอันดับต้นจะเร่งประชาสัมพันธ์เพื่อรักษากลุ่มผู้ชมในระยะยาว รวมถึงจะมีการสร้างเนื้อหาใหม่ๆที่แตกต่างไปจากเดิมเพื่อเจาะตลาดโดยเน้นกลุ่มผู้ชมคนรุ่นใหม่
สำหรับการคืนทุนที่เคยมีการคาดการณ์ว่า จะคืนทุนในระยะเวลา5 ปีขึ้นไปในสถานการณ์ปัจจุบันความยากในการแข่งขันของผู้ประกอบการทุกรายเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้แต่สุดท้ายแล้วเนื้อหารายการจะเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้
ในขณะที่ผลจากการเปลี่ยนผ่านระบบโทรทัศน์จากระบบอะนาล็อกไปสู่การรับส่งสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลนั้นได้เริ่มเห็นจำนวนผู้ชมปรับตัวดีขึ้น โดยณ สิ้น เดือนธ.ค. 58 สัดส่วนการรับชมโทรทัศน์ต่อนาที จากทุกช่องทางการรับชม ระหว่างช่องรายการเดิมและช่องรายการใหม่ขยับขึ้นเป็น62% ต่อ 38% จากเดือน ธ.ค. 57 อยู่ที่ 82% ต่อ 18%
สะท้อนได้ว่าประชาชนหันมาสนใจรับชมดิจิตอลทีวีมากขึ้น ส่วนเม็ดเงินในธุรกิจโฆษณา ได้กระจายสู่ดิจิตอลทีวีจากที่เคยกระจุกตัวอยู่ที่เพียง 6 ช่องหลัก โดยในปี 2558 มูลค่าโฆษณาในดิจิตอลทีวีมีอัตราเติบโตถึง 144%เมื่อเทียบจากปีก่อนหน้า คิดเป็นเม็ดเงินที่เข้าช่องดิจิตอลทีวีทั้งสิ้น 20,930 ล้านบาท จากปีก่อนหน้า อยู่ที่ 8,584 ล้านบาท
ขณะที่เม็ดเงินโฆษณาใน 6 ช่องเดิมในปี 2558ลดลงเหลือ 57,526 ล้านบาทจากปีก่อนหน้าอยู่ที่ 63,776 ล้านบาท และยังทำให้ภาพรวมการลงโฆษณาในอุตสาหกรรมทีวีปี 2558 สูงขึ้นถึง 78,456 ล้านบาทจากปีก่อนหน้า 72,360 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเติบโต 8.43% แม้เศรษฐกิจจะไม่ดีนักในช่วงที่ผ่านมา
สำหรับช่องดิจิตอลทีวีที่ได้รับความนิยมเป็นลำดับต้นๆได้แก่ ช่อง Workpoint เรทติ้งสามารถอยู่ในอันดับ3 ได้ตั้งแต่ปลายปี 2557 ขณะที่ช่อง 8 และช่อง Mono29 ขึ้นมาติดอันดับ 4 และอันดับ 5 ได้ในช่วงต้นปี 2558 และถึงแม้ว่าช่อง 3 และช่อง 7 จะยังเป็นสองช่องเดิมที่ครองตลาดส่วนใหญ่อยู่ในปัจจุบัน แต่มีแนวโน้มว่าช่องที่มีกลุ่มเป้าหมายชัดเจน กำลังมีเรทติ้งที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นการตอกย้ำว่าในอุตสาหกรรมนี้เนื้อหาคือปัจจัยสำคัญในการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันผู้ประกอบการหลายช่องเริ่มปรับตัวหาจุดแข็งให้กับช่องตัวเองให้ความสำคัญเรื่องคุณภาพเนื้อหา และมีการลงทุนความสวยงามของภาพผ่านหน้าจอโทรทัศน์ด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ
ปัจจุบันโทรทัศน์ที่สามารถรับสัญญาณดิจิตอลทีวีได้ในตัวมียอดจำหน่ายประมาณ 4.4 ล้านเครื่อง กล่องรับสัญญาณดิจิตอลทีวีจำหน่ายกว่า 8.7 ล้านกล่อง และอุปกรณ์ที่สามารถรองรับสัญญาณดิจิตอลทีวีได้ เช่น สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต มียอดจำหน่าย 1.4 ล้านเครื่อง ซึ่งทำให้ช่องทางในการเข้าถึงดิจิตอลทีวีได้มากขึ้นและยังส่งผลดีต่อการขยายตัวของผู้ชม
ข่าวเด่น