แม้ว่าภาพรวมยอดขายพัดลมไอเย็นของมาสเตอร์คูลในปีที่ผ่านมาจะยังมีอัตราการเติบโตสูงถึง 38-40% เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการใช้พัดลมไอเย็นมากขึ้น เพราะประสิทธิภาพคล้ายกับเครื่องปรับอากาศ กินไฟน้อยกว่า และราคาถูกกว่า แต่เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจของไทย และของโลกยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยเฉพาะในประเทศไทยที่ปีนี้ยังคงต้องเจอปัญหาอีกหลายด้านไม่ว่าจะเป็นภัยแล้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในช่วงหน้าร้อนนี้ หรือกำลังซื้อของผู้บริโภคที่จะยังคงชะลอตัวต่อไปอีกจากผลกระทบภัยแล้ง ส่งผลให้บริษัท มาสเตอร์คูล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ต้องออกมาปรับแผนรุก เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย
สำหรับกลยุทธ์ที่ มาสเตอร์คูล ชูเป็นหมัดเด็ด เพื่อผลักดันให้ยอดขายสิ้นปีนี้เป็นไปตามเป้าหมาย คือ การขายสินค้าในรูปแบบเงินผ่อน ด้วยการให้สิทธิพิเศษผ่อน 0% นาน 6 เดือน โดยพันธมิตรรายแรกที่กระโดดเข้ามาร่วมแคมเปญการตลาดในรูปแบบดังกล่าว คือ ซิงเกอร์ หลังจากเจรจาข้อตกลงร่วมกันเป็นที่เรียบร้อย เพื่อให้ ซิงเกอร์ ทำหหน้าที่เป็นพันธมิตรในด้านของช่องทางการจำหน่ายสินค้า เนื่องจากมีความแข็งแกร่งในด้านของการขายสินค้าเข้าไปตามแหล่งชุมชนต่างๆ โดยเฉพาะในตลาดต่างจังหวัด
นอกจากนี้ ซิงเกอร์ ยังมีประสบการณ์ในด้านของการจำหน่ายสินค้าเงินผ่อน เลยทำให้ มาสเตอร์คูล มีความมั่นใจที่จะทำสินค้าเงินผ่อนในปีนี้เป็นปีแรก ซึ่งหลังจากเริ่มใช้กลยุทธ์ดังกล่าวตั้งแต่เดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ด้วยการให้ลูกค้าสามารถผ่อนสินค้าได้ตั้งแต่ราคา 2,700 บาท ด้วยดอกเบี้ย 0% นาน 6 เดือน พบว่าลูกค้าให้ผลการตอบรับเป็นที่น่าพอใจ เนื่องจากเฉลี่ยการผ่อนสินค้าต่อเดือนลูกค้าจะจ่ายเพียงเดือนละ 400 กว่าบาทเท่านั้น จากผลการตอบรับที่มีแนวโน้มดีดังกล่าว ส่งผลให้ มาสเตอร์คูล มีแผนที่จะขยายความร่วมมือในการทำแคมเปญสินค้าเงินผ่อน 0% นาน6 เดือนไปยังกลุ่มพันธมิตรสถาบันการเงินต่างๆ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาคาดว่าในเร็วๆ นี้น่าจะได้ข้อสรุป
นายนพชัย วีระมาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท มาสเตอร์คูล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า การทำตลาดสินค้าเงินผ่อนในครั้งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ของการกระตุ้นกำลังซื้อของกลุ่มลูกค้าในระดับกลางและล่างให้ออกมาซื้อพัดลมไอเย็นมากขึ้น เนื่องจากแนวโน้มกำลังซื้อของลูกค้ากลุ่มดังกล่าวในปีนี้ยังอยู่ในภาวะชะลอตัว ซึ่งวิธีนี้น่าจะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อและยอดขายของบริษัทได้เป็นอย่างดี เนื่องจากการผ่อนสินค้าในแต่ละเดือนไม่เป็นภาระของผู้บริโภคที่มากเกินไป เนื่องจากราคาสินคาของบริษัทไม่แพง
พร้อมกันนี้ มาสเตอร์คูล ยังมีแผนที่จะขยายตลาดผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น เพราะหลังจากทดลองนำพัดลมไอเย็นไปจำหน่ายผ่านช่องทางดังกล่าวในช่วงปีที่ผ่านมาพบว่า ลูกค้าให้ผลการตอบรับเป็นอย่างดี เนื่องจากคนไทยเริ่มมีความมั่นใจกับการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ซึ่งจากแนวโน้มที่ดีดังกล่าว ทำให้มาสเตอร์คูล มั่นใจว่าสิ้นปีนี้ยอดขายในช่องทางออนไลน์จะมีอัตราการเติบโตไม่ต่ำกว่า 110% อย่างแน่นอน
ทั้งนี้ อัตราการเติบโตดังกล่าวถือว่าสูงกว่าภาพรวมยอดขายในช่องทางอื่นๆ ที่ในปีนี้คาดว่าจะเติบโตอยู่ในหลักสิบเปอร์เซ็นต์เท่านั้นไม่ว่าจะเป็นช่องทางการทำตลาดในประเทศที่คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ประมาณ 40% ส่วนการทำตลาดต่างประเทศด้วยการส่งออกสินค้าเข้าไปทำตลาดในประเทศต่างๆ กว่า 40 ประเทศทั่วโลกคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ประมาณ 60%
สำหรับแนวทางการทำตลาดส่งออกในนี้นั้น มาสเตอร์คูล มีแผนที่จะแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายในอีกหลายประเทศ จากปัจจุบันมีการทำตลาดไปแล้วกว่า 40 ประเทศทั่วโลก โดยในปีนี้ได้มีการเซ็นสัญญาแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายเพิ่มเติมจากเดิมที่อยู่แล้วในประเทศเกาหลีไต้ ไต้หวัน ญี่ปุ่น อังกฤษ แคนาดา อเมริกา อินโดนีเซีย และพม่า รวมไปถึงประเทศอิตาลี ซึ่งประเทศเหล่านี้มีความต้องการสินค้าดีไซน์และนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ของไลฟ์สไตล์ผู้บริโภค
อย่างไรก็ดี เพื่อให้ยอดขายในทุกตลาดมีอัตราการเติบโตเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ล่าสุด มาสเตอร์คูล ได้มีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์พัดลมไอเย็นโฉมใหม่ “คูลบอท” (KOOLBOT) จำนวน 3 รุ่นเข้ามาทำตลาด ประกอบด้วย รุ่น MIK-07EC รุ่น MIK-07EX และรุ่น MIK-15EX ทั้งนี้ก็เพื่อเพิ่มทางเลือกของผู้บริโภคให้มีความหลากหลายมากขึ้น โดยในส่วนของจุดเด่นพัดลมไอเย็นรุ่นใหม่ที่นำเข้ามาทำตลาดในครั้งนี้จะเป็นแบบเคลื่อนที่รุ่นแรกของโลกที่ดึงลมเข้ารอบทิศทาง สามารถลดอุณหภูมิได้สูงสุด 15 องศา แต่ประหยัดกว่าแอร์ 10 เท่า
นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนานวัตกรรมและดีไซน์ให้มีขนาดกะทัดรัด และประสิทธิภาพการใช้งาน ตอบโจทย์ลูกค้าบ้านพักอาศัย และคอนโด ที่มีพื้นที่การใช้งานจำกัด ซึ่งหลังจากเปิดตัวสินค้า 3 รุ่นใหม่เข้าทำตลาด มาสเตอร์คูลมั่นใจว่า จะสามารถตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้เป็นอย่างดี โดย มาสเตอร์คูล ได้ตั้งเป้ายอดขายสำหรับสินค้าพัดลมไอเย็น 3 รุ่นใหม่นี้ไว้ที่ประมาณ 200 ล้านบาท เนื่องจากมีการทำการตลาดในเชิงรุกครอบคลุมทุกช่องทางไม่ว่าจะเป็นตลาดในประเทศ ตลาดส่งออก หรือช่องทางออนไลน์
นายนพชัย กล่าวอีกว่า แนวคิดในการพัฒนารูปลักษณ์ของพัดลมไอเย็น “คูลบอท” ในครั้งนี้บริษัทต้องการตอบโจทย์ผู้บริโภคในยุคปัจจุบันที่ มุ่งเน้นการใช้สอยในพื้นที่ขนาดเล็กมากขึ้น ประมาณ 12-17 ตร.ม. ทำให้พัดลมไอเย็นตัวใหม่มีความสามารถในการทำความเย็นได้สูงกว่าพัดลมไอเย็นปกติ ด้วยเทคโนโลยีการออกแบบที่สามารถดึงลมเข้ารอบทิศทาง เพิ่มพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนความร้อน สามารถลดอุณหภูมิได้สูงสุด 15 องศา ช่วยให้เกิดความคุ้มค่าและประหยัดพลังงาน
พร้อมกันนี้ ยังได้มีการวางงบประมาณ 60 ล้านบาท เพื่อทำการตลาดสินค้าต่างๆในปีนี้ แบ่งช่องทางบีโลว์เดอะไลน์ (Below the Line) อะโบฟเดอะไลน์ (Above the Line)ประมาณ 30 ล้านบาท เช่น การทำกิจกรรม ณ จุดขาย การสร้างการรับรู้ในตัวผลิตภัณฑ์ และการทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ และอีก 30 ล้านบาท จะเป็นการทำโปรโมชั่นส่งเสริมการขายในรูปแบบต่างๆ ซึ่งขณะนี้ได้มีการเจรจากับพันธมิตรเพื่อเพิ่มช่องทางการการขายที่เข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่ยังเข้าไม่ถึง
นายนพชัย กล่าวต่อว่า จากแนวทางการดำเนินธุรกิจดังกล่าวส่งผลให้บริษัทต้องเร่งหาข้อสรุปในด้านของการขยายกำลังการผลิตสินค้า เนื่องจากปัจจุบันกำลังการผลิตที่มีทั้ง 2 แห่ง คือ ที่ อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี และที่เมืองกวางโจว ประเทศจีน เริ่มไม่เพียงพอต่อการขยายตลาดในอนาคต ซึ่งภายในครึ่งปีหลังของปี 2559 นี้คาดว่าจะได้ข้อสรุปในด้านของการขยายโรงงานว่าจะเป็นในประเทศไทย หรือประเทศจีน
อย่างไรก็ดี หลังจากบริษัทเดินหน้าขยายธุรกิจทุกช่องทางต่อเนื่องคาดว่าสิ้นปีจะมีรายได้เติบโตไม่ต่ำกว่า 40% จากปี 2558 ที่มีรายได้อยู่ที่ประมาณ 640 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากการขายในประเทศประมาณ 80 % และส่งออกประมาณ 20 % โดยในส่วนของตลาดส่งออก 50% มาจากการทำตลาดในภูมิภาคอาเซียน 30% ตลาดเอเชีย และที่เหลืออีกประมาณ 20% เป็นการทำตลาดในกลุ่มประเทศยุโรป ตะวันออกกลางและอื่นๆ ส่วนตลาดในประเทศจะเน้นการทำตลาดในช่องทางร้านโมเดิร์นเทรด และค้าปลีก ผ่านตัวแทนจำหน่าย และดีลเลอร์ทั่วประเทศ รวมไปถึงช่องทางออนไลน์ที่กำลังได้รับความนิยม
เดินหน้าตอกย้ำความเป็นที่ 1 ในด้านนวัตกรรมพัดลมไอเย็น และมียอดขายอันดับ 1 ขนาดนี้ จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมมาสเตอร์คูล ถึงเป็นผู้นำในตลาดพัดลมไอเย็น ซึ่งจากการขยายตัวของตลาดพัดลมไอเย็นที่ยังเติบโตต่อเนื่อง ส่งผลให้มีการคาดการณ์ว่าในปี 2564 ตลาดรวมพัดลมไอเย็นน่าจะมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 3,000-6,000 ล้านบาท หรือมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 10-20% จากตลาดรวมเครื่องปรับอากาศและพัดลมที่มีมูลค่ารวมกันที่ 30,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่ตลาดรวมพัดลมไอเย็นมีมูลค่าเพียง 1,000 ล้านบาท เท่านั้น
ข่าวเด่น