ราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ทำ ให้อัตราเงินเฟ้อของไทยยังคงอยู่ในระดับติดลบ โดยตัวเลขเดือนก.พ. 2559 น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) และรองโฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 105.62 ลดลง 0.50% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน เป็นการขยายตัวติดลบต่อเนื่องเดือนที่ 14 นับจากเดือน ม.ค.2558 และเฉลี่ย 2 เดือนปี 2559 (ม.ค.-ก.พ.) เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลง 0.52%
ซึ่งเงินเฟ้อเดือน ก.พ.ที่ยังติดลบ 0.50% ราคาน้ำมันยังคงเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้กลุ่ม การขนส่งและค่าโดยสาร ทั้งรถ บขส. และรถร่วมเอกชนลดลง และยังได้ผลดีจากค่ากระแสไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้มที่ลดลง แม้ว่าจะมีแรงกดดันจากการขึ้นราคาของสินค้ากลุ่มอาหารสด ทั้งผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์ ในช่วงเทศกาลตรุษจีน รวมถึงการขึ้นราคาของกลุ่มยาสูบ
สำหรับเงินเฟ้อพื้นฐานเดือน ก.พ.2559 ที่หักสินค้ากลุ่มอาหารสดและพลังงานออก เท่ากับ 106.37 เทียบเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 0.18% เทียบ ก.พ.2558 เพิ่มขึ้น 0.68% และเฉลี่ย 2 เดือน เพิ่มขึ้น 0.63%
ทำให้แนวโน้มเงินเฟ้อเริ่มเห็นชัดเจนว่า มีสัญญาณค่อยๆ ติดลบน้อยลง ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่เริ่มส่งผล โดยช่วงจากนี้ไปจนถึงกลางปีตัวเลขเงินเฟ้อจะยังคงติดลบอยู่ แต่จะเริ่มเป็นบวกตั้งแต่ช่วงกลางปีเป็นต้นไป และทำให้ทั้งปีกลับมาเป็นบวกได้ โดยกระทรวงพาณิชย์ได้ปรับประมาณการเงินเฟ้อปี 2559 ใหม่ เป็น 0.0-1.0% จากเดิม 1.0-2.0%
ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ภาพรวมเงินเฟ้อในปี 2559 สถานการณ์ราคาน้ำมัน ในตลาดโลกที่น่าจะยังเคลื่อนไหวในกรอบที่ค่อนข้างต่ำในช่วงครึ่งแรกของปี และมีกรอบการฟื้นตัวที่จำกัดในช่วงครึ่งปีหลัง เนื่องจากคาดว่า การเข้ามาดูแลระดับการผลิตน้ำมันของประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน อาจไม่สามารถลบล้างภาวะอุปทานส่วนเกินใน ตลาดน้ำมันได้ทั้งหมด ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ค่าเฉลี่ยของน้ำมันดิบดูไบ ในปีนี้ อาจลดต่ำลงกว่าคาดการณ์เดิม มาอยู่ที่ระดับ 40 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล ดังนั้น จึงมีการทบทวนประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2559 ลงมาอยู่ที่ 0.4% (กรอบคาดการณ์ในช่วง 0.0-0.8%) จากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ 1.2%
เงินเฟ้อปี 2559 (%) ประมาณการใหม่ ประมาณการเดิม
อัตราเงินเฟ้อทั่วไป 0.4 (0.0-0.8) 1.2 (0.8-1.8)
อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน 0.9 (0.5-1.2) 1.1 (0.7-1.6)
ที่มา คาดการณ์โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย
สำหรับผลต่อทิศทางนโยบายการเงินนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ทิศทางของเงินเฟ้อไทยได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดของวัฏจักรรอบนี้มาแล้ว และในช่วงหลังจากนี้จะเริ่มทยอยมีอัตราติดลบน้อยลง โดยคาดว่า ในช่วงไตรมาส 4 จะเป็นช่วงที่มีค่าเฉลี่ยเงินเฟ้อที่สูงที่สุดของปี จึงไม่น่าจะเป็นเงื่อนไขที่สร้างข้อจำกัดสำหรับการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของธปท. ในปีนี้ เนื่องจากคาดว่า ธปท. จะยังคงให้น้ำหนักกับการ ดูแลโมเมนตัมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ที่ยังคงมีสัญญาณอ่อนแอในภาคการส่งออกและการใช้จ่ายของภาคเอกชน เช่นเดียวกับธนาคารกลางของประเทศอื่นๆ
ข่าวเด่น