เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
Food Tech เครื่องจักรใหม่ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหาร


 


ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์ หรืออีไอซี(EIC)ออกบทวิเคราะห์                                   เรื่องFood Tech เครื่องจักรใหม่ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหาร 

 
 
Highlight
 
Food Tech สตาร์ทอัพเป็นธุรกิจที่กำลังมาแรงและเป็นที่น่าจับตามอง ธุรกิจดังกล่าวช่วย
เติมเต็มความต้องการของผู้บริโภคด้วยการนำเอาเทคโนโลยีมาเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดหาสินค้า สะท้อนได้จากเม็ดเงินลงทุนที่เริ่มไหลเข้ามาในธุรกิจดังกล่าวมากขึ้น อย่างไรก็ดี อีไอซีมองว่าธุรกิจร้านอาหารและร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิมจะยังคงดำเนินการควบคู่ไปพร้อมกับธุรกิจแบบออนไลน์ แต่อาจจะเผชิญกับส่วนแบ่งทางการตลาดที่น้อยลง
 
มีผู้เล่น Food Tech หลายรายที่ต้องยอมพ่ายแพ้และเดินออกจากธุรกิจดังกล่าวภายในเวลาเพียงไม่ถึงปี สาเหตุเป็นเพราะศึกษาข้อมูลทางการตลาดไม่ดีพอ หรือไม่มีทุนเพียงพอที่จะหมุนเงินให้ธุรกิจอยู่ในระบบต่อไปได้ ดังนั้น ปัจจัยที่สร้างความสำเร็จจึงเป็นเรื่องของการศึกษาข้อมูลทางการตลาดเชิงลึก การเลือกจังหวะเวลาในการเปิดตัวสินค้า และการมีแหล่งเงินทุนที่จะคอยขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจให้ลุล่วง


เทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามามีบทบาทในการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต การจัดส่งและการบริโภคอาหารแบบดั้งเดิม ส่งผลให้ในปีที่ผ่านมา มีการระดมทุนของธุรกิจอาหารทั่วโลกเพิ่มขึ้นกว่า 107% Food Tech สตาร์ทอัพเกิดขึ้นมาหลากหลายรูปแบบ ยกตัวอย่างเช่น Yelp และ UrbanSpoon เว็บไซต์แชร์วิธีการทำอาหาร รีวิวร้านอาหาร Savored เว็บไซต์แจกคูปองอาหาร หรือ Opentable เว็บไซต์ให้บริการจองโต๊ะอาหารร้านดัง
 
รวมถึงธุรกิจจัดส่งอาหารออนไลน์ที่ให้บริการตั้งแต่จัดส่งวัตถุดิบสดใหม่จากฟาร์ม ไปจนถึงวัตถุดิบพร้อมปรุง ตลอดจนเมนูอาหารมื้อพิเศษที่รังสรรค์ขึ้นโดยเชฟชื่อดัง ทั้งนี้ มีบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ อย่าง Amazon, UberEat และ Google ที่เห็นโอกาสและก้าวเข้าร่วมในธุรกิจดังกล่าว 
 
Food Tech สตาร์ทอัพ มีการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น แบ่งออกเป็นหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่การจัดส่งวัตถุดิบสดใหม่ไปจนถึงอาหารพร้อมรับประทาน ยกตัวอย่างเช่น Grubhub แอพพลิเคชั่นที่ให้บริการจัดส่งอาหาร โดยจูงใจให้ผู้บริโภคใช้โทรศัพท์มือถือและแพลตฟอร์มบนเว็บไซต์ในการสั่งอาหารกลับบ้าน แทนการโทรสั่งอาหารในรูปแบบเดิม หรือ Foodpanda และ Deliveroo เว็บไซต์ซึ่งทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการให้บริการจัดส่งอาหารจากร้านอาหารต่างๆ ซึ่งไม่มีบริการจัดส่งอาหารถึงบ้าน ด้วยธุรกิจบริการดังกล่าวส่งผลให้ยอดการสั่งอาหารของร้านอาหารนั้นๆ เพิ่มขึ้นอีกด้วย

Food Tech ไม่เพียงแต่เป็นการสร้างความสะดวกสบายให้กับผู้บริโภค (convenience value preposition) เท่านั้น แต่ยังทำให้สินค้าต่างๆ เข้าสู่ตลาดได้ง่ายขึ้น โดยการจัดส่งอาหารออนไลน์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในปี 2015 ได้แก่ วัตถุดิบพร้อมปรุงและอาหารพร้อมรับประทานสินค้าประเภทหนึ่งที่สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค คือ เครื่องดื่มสูตรดีท็อกซ์ ยกตัวอย่างเช่น Boston Juice Cleanse หนึ่งในผู้ประกอบการ Food Tech ที่จัดส่งน้ำผักผลไม้สกัดเย็น หรือ Blue Apron และ Plated ที่จัดส่งวัตถุดิบในการทำอาหาร โดยผู้บริโภคสามารถเลือกเมนูที่ต้องการจะทำและระบุจำนวนคนที่จะรับประทาน และทางร้านจะดำเนินการจัดส่งวัตถุดิบอาหารเมนูนั้นๆ ให้แก่ผู้บริโภคถึงบ้าน นอกจากนี้ Sprig และ Spoonrocket ซึ่งเป็น Food Tech ที่ให้บริการด้านอาหารอย่างครบวงจร
 
โดยมีการใช้แอพพลิเคชั่นเพื่อให้ผู้บริโภคสามารถสั่งเมนูที่เชฟชื่อดังทำขึ้นมาและจัดส่งถึงบ้านในเวลาเพียง 15 นาที อีกตัวอย่าง คือ การให้บริการจัดส่งวัตถุดิบสดใหม่จากฟาร์มถึงมือของผู้บริโภค (farm-to-table) โดยผู้ประกอบการ Food Tech จะทำหน้าที่เป็นคนกลางระหว่างเกษตรกรและผู้บริโภคในการซื้อขายสินค้าออร์แกนิค ทั้งนี้ โดยทั่วไป สินค้าประเภทนี้จะวางขายอยู่ในร้านค้าอย่าง Whole Food หรือ Traders Joes ในขณะที่ร้านค้าออนไลน์ e-commerce อย่าง Urban Organic, Spud และ Boxed Green สามารถนำเสนอสินค้าสดใหม่จากฟาร์มที่มีให้เลือกมากกว่า รวมถึงมีการระบุแหล่งที่มา ตลอดจนการันตีคุณภาพของสินค้า และด้วยธุรกิจแบบใหม่นี้จะค่อยๆ เข้ามาดึงส่วนแบ่งทางการตลาดไปจากร้านอาหารและร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิม
 
 
ปัจจัยที่ทำให้ผู้ประกอบการ Food Tech ประสบความสำเร็จคือการสร้างคุณค่าที่นำเสนอต่อผู้บริโภค (customer value preposition) รวมถึงจังหวะในการเข้าตลาดที่เหมาะสม ตลอดจนการรักษาสภาพคล่องทางการเงินที่ดี Food Tech สตาร์ทอัพควรจะต้องหาปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภค (pain point) และตอบโจทย์ดังกล่าวให้ได้ ยกตัวอย่าง Blue Apron เข้ามาดำเนินธุรกิจเพื่อตอบโจทย์คุณแม่ที่ชื่นชอบการทำอาหาร แต่ไม่อยากเสียเวลาไปกับการซื้อวัตถุดิบเพื่อนำมาทำอาหาร ด้วยการนำเสนอบริการจัดส่งวัตถุดิบในการทำอาหาร เป็นต้น นอกจากนี้ ปัจจัยถัดมา คือ การเลือกจังหวะในการเข้าตลาดที่เหมาะสม แม้ว่าธุรกิจจะเกิดขึ้นมาจากไอเดียที่ดี แต่ถ้าผู้คนยังไม่คุ้นเคยกับเทคโนโลยีที่มากพอ อาจจะทำให้ธุรกิจที่เริ่มต้นมานั้นต้องเผชิญกับความล้มเหลวได้ และปัจจัยสุดท้าย การรักษาสภาพคล่องทางการเงินเป็นสิ่งสำคัญ ผู้ประกอบการ Food Tech จำเป็นที่จะต้องมีแหล่งเงินทุนที่เพียงพอ เพราะในช่วงเวลาที่กำลังสร้างฐานลูกค้า จำเป็นที่ว่าจะต้องมีค่าใช้จ่ายหมุนเวียนอยู่ตลอดเวลาในทุกๆ เดือน
 
 
ไม่ใช่ว่าผู้ประกอบการ Food Tech ทุกรายที่เข้ามาในธุรกิจนี้จะประสบความสำเร็จเหมือนกันหมด บางรายต้องเดินออกจากธุรกิจในช่วงเวลาเพียงไม่กี่ปี เพราะไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการดำเนินธุรกิจได้ ยกตัวอย่าง Pop-up Pantry และ Chefler สตาร์ทอัพที่ล้มเหลวในการดำเนินธุรกิจ โดยกรณีของ Chefler ซึ่งเป็นธุรกิจ Food Tech รายแรกที่จัดส่งอาหารพร้อมรับประทานระดับพรีเมียม ในซานฟรานซิสโก ในปี 2013 ถึงแม้ว่าจะมีแคมเปญทางการตลาดที่ประสบความสำเร็จ อีกทั้ง ยังได้รับการจัดอันดับ 5-star จาก Yelp แต่เมื่อต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น จากผู้ประกอบการ Food Tech รายอื่นๆ อย่าง Spoonrocket ที่นำเสนอราคาในการให้บริการที่ถูกเกินกว่าครึ่ง ส่งผลให้ Chefler ต้องออกจากตลาดไปในที่สุด นอกจากนี้ ปัจจัยความล้มเหลวของ PUP ซึ่งเป็น Food Tech จัดส่งเซ็ตเมนู 3 คอร์สระดับพรีเมียมที่ปรุงโดยเชฟชื่อดัง มาจากการวางระบบการดำเนินงานที่ผิดพลาดในการขยายการจัดส่งที่เร็วรวดเกินไป แต่จำนวนฐานลูกค้ายังมีไม่มากนัก ทำให้ค่าใช้จ่ายในการขนส่งเกินกว่ากำไร

อีไอซีเชื่อว่าธุรกิจร้านอาหารแบบดั้งเดิมจะดำเนินการควบคู่ไปพร้อมกับธุรกิจร้านออนไลน์ ไม่ใช่ว่าธุรกิจร้านออนไลน์จะครอบครองส่วนแบ่งทางการตลาดทั้งหมด เพียงแต่อาจจะได้รับส่วนแบ่งทางการตลาดที่เพิ่มขึ้น
 
อย่างไรก็ดี Food Tech เป็นธุรกิจที่สามารถลอกเลียนแบบกันได้ค่อนข้างง่าย ดังนั้น การที่จะตั้งต้นธุรกิจดังกล่าวนี้ควรที่จะหาจุดแข็งของตัวเองให้เจอ

ในไทยเพิ่งเริ่มต้นกับ Food Tech ในการใช้โซเชียลมีเดียในการติดต่อกับลูกค้า อย่างไรก็ดี หากระบบโครงสร้างพื้นฐานอย่างอินเทอร์เน็ต การชำระเงินออนไลน์ และระบบโลจิสติกส์ได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้น ก็จะผลักดันให้เกิด Food Tech มากขึ้น ในปัจจุบัน ผู้ประกอบการ Food Tech ในไทยใช้โซเชียลมีเดีย อย่าง Facebook หรือ Instagram ในการนำเสนอสินค้าและติดต่อกับผู้บริโภคเป็นส่วนใหญ่ อีกทั้ง สินค้าที่ขายโดยส่วนใหญ่จะเป็นขนมหวาน โฮมเมดคุ้กกี้ และบริการจัดส่งอาหาร โดยเฉพาะอาหารไขมันต่ำ
 
นอกจากนี้ ยังใช้ LINE หรือ Whatsapp ในการติดต่อพูดคุยกับผู้บริโภค และวิธีการชำระเงินจะอยู่ในรูปแบบการโอนเงิน หรือ online banking อย่างไรก็ดี ธุรกิจนี้มีโอกาสที่จะเติบโตได้อีกมาก หากจำนวนคนใช้งานสมาร์ทโฟนเพิ่มขึ้น รวมถึง การมีระบบการชำระเงินออนไลน์ที่พร้อมใช้งานและปลอดภัย ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานในด้านโลจิสติกส์ที่ได้รับการพัฒนา

LastUpdate 03/03/2559 08:29:55 โดย : Admin
25-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 25, 2024, 10:00 pm