แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคไต รพ.พระมงกุฎเกล้าเผย เวทีประชุมนานาชาติสมาคมล้างไตผ่านช่องท้อง ชื่นชมไทยช่วยผู้ป่วยไตเข้าถึงการรักษาด้วยนโยบายส่งเสริมล้างไตช่องท้องภายใต้ระบบบัตรทอง ระบุแนวโน้มทั่วโลกมุ่งส่งเสริมล้างไตผ่านช่องท้อง เหตุเป็นการรักษาได้มาตรฐาน ให้ผลใกล้เคียงฟอกเลือด ดูแลผู้ป่วยไตทั่วถึง แถมช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิต พร้อมระบุ ผู้ฟอกเลือดมีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อเช่นเดียวกับผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้อง ซ้ำรุนแรงกว่าจากภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดเพราะต่อตรงเข้าเส้นเลือด ส่วนอัตราติดเชื้อล้างไตผ่านหน้าท้องลดลง อยู่ที่ 2-3 ปีต่อครั้ง
พล.ท.นพ.ถนอม สุภาพร อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคไต โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เปิดเผยว่า จากการเข้าร่วมประชุมวิชาการนานาชาติของสมาคมนานาชาติเพื่อการล้างไตผ่านช่องท้องในผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง (International Society for Peritoneal Dialysis : ISPD) ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ - 1 มีนาคม 2559 ณ เมืองเมล์เบิร์น ออสเตรเลีย ที่ผ่านมา มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคไต 60 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วม พบว่าขณะนี้ประเทศต่างๆ ทั่วโลก แม้แต่ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ต่างให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมนโยบายการล้างไตผ่านช่องท้อง และกำหนดให้เป็นวิธีหลักในการดูแลผู้ป่วยโรคไตลำดับแรก (CAPD First policy) ไม่ว่าจะเป็นฮ่องกง เม็กซิโก อังกฤษ แคนาดา ออสเตรเลีย หรือแม้แต่สหรัฐฯ เป็นต้น เนื่องจากเห็นตรงกันว่า นอกจากเป็นวิธีการดูแลผู้ป่วยโรคไตที่เป็นมาตรฐานแล้ว ยังได้ผลใกล้เคียงเมื่อเปรียบเทียบกับการฟอกไตผ่านเครื่อง ทั้งยังช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วยโรคไตได้ เพราะทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางมารับการฟอกเลือดที่ศูนย์ฟอกไตเทียมสัปดาห์ละ 2-3 วัน ไม่ต้องจำกัดน้ำและอาหาร ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้ปกติและเข้าร่วมสังคมได้
ในการเข้าร่วมประชุมครั้งนี้ แพทย์ผู้เข้าร่วมประชุมจากไทยยังนำเสนอผลการดำเนินงานการดูแลผู้ป่วยไตด้วยวิธีล้างไตผ่านช่องท้อง โดยได้รับคำกล่าวชื่นชมจากนานาประเทศว่าเป็นตัวอย่างของการดูแลผู้ป่วยโรคไตได้อย่างทั่วถึงและครอบคลุม ด้วยนโยบาย CAPD First ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ทำให้ผู้ป่วยไตของไทยไม่ถูกทอดทิ้ง ขณะที่ภาพรวมทั่วโลกยังคงมีผู้ป่วยโรคไตจำนวนกว่าครึ่งหนึ่งที่ถูกปล่อยให้เสียชีวิตลงเพราะเข้าไม่ถึงการรักษา
ส่วนที่ผ่านมามักมีการระบุถึงปัญหาการติดเชื้อในกลุ่มผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้องนั้น พล.ท.นพ.ถนอม กล่าวว่า ในเรื่องนี้ต้องถามว่าแล้วการล้างไตผ่านเครื่องฟอกไตมีการติดเชื้อหรือไม่ คำตอบคือมีปัญหาการติดเชื้อเช่นกัน เพียงแต่ผู้ที่หยิบยกปัญหาการติดเชื้อด้วยวิธีล้างไตผ่านช่องท้องไม่เคยมีการพูดถึงข้อมูลนี้ เพราะการที่ผู้ป่วยจะรับการฟอกไตได้นั้น ต้องมีการเตรียมเส้นเลือดก่อน ซึ่งผู้ป่วยโรคไตส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้สูงอายุ มีภาวะหลอดเลือดเสื่อมและป่วยเป็นเบาหวาน การผ่าตัดเพื่อเตรียมเส้นเลือดจึงเป็นเรื่องที่ยาก และในผู้ป่วยที่รับการฟอกไตต่อเนื่องยังเกิดภาวะเส้นเลือดตันอีก ต้องมีการผ่าตัดเส้นเลือดซ้ำ ผู้ป่วยบางรายจึงเกิดภาวะติดเชื้อซ้ำ นับเป็นความทุกข์ทรมานของผู้ป่วยฟอกไตที่ไม่มีใครพูดถึง
“คนที่โจมตีการล้างไตผ่านช่องท้อง ไม่เคยหยิบข้อมูลการติดเชื้อผู้ป่วยฟอกไตขึ้นมาพูด ทั้งที่โอกาสการติดเชื้อสามารถเกิดได้จากการล้างไตทั้ง 2 วิธี และเมื่อเปรียบเทียบการติดเชื้อผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่มผู้ที่ฟอกไตยังมีการติดเชื้อที่รุนแรงกว่าจากภาวะการติดเชื้อในกระแสเลือด เพราะการฟอกเลือดต้องต่อตรงเข้าเส้นเลือด ขณะที่การล้างไตผ่านช่องท้องมีความรุนแรงน้อยกว่าเพราะเป็นการติดเชื้อที่บริเวณเปิดช่องท้อง ซึ่งสามารถให้การรักษาได้โดยเร็วด้วยการให้ยาฆ่าเชื้อผ่านถุงน้ำยาล้างไต” อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคไต กล่าว
ทั้งนี้ปัญหาการติดเชื้อจากการล้างไตผ่านช่องท้องไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ ที่ผ่านมาได้มีการพัฒนาด้านวิชาการและเทคโนโลยีต่างๆ จนทำให้ผลแทรกซ้อนต่างๆ ลดลง ทำให้อัตราการติดเชื้อในผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้องพบเพียง 2-3 ปีต่อครั้ง ซึ่งในการประชุมวิชาการครั้งนี้ นอกจากมีข้อมูลในแต่ละประเทศที่ชี้ว่า อัตราการเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนของผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้องนอกจากไม่แตกต่างจากการฟอกไตแล้ว อัตราภาวะแทรกซ้อนของไทยยังต่ำกว่าออสเตรเลียซึ่งเป็นประเทศพัฒนาแล้ว
พล.ท.นพ.ถนอม กล่าวเพิ่มเติมว่า หากวิธีการล้างไตผ่านช่องท้องไม่ดีจริง ต้องถามว่าทำไม 60 ประเทศทั่วโลกจึงใช้วิธีนี้ดูแลผู้ป่วยโรคไต อีกทั้งช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา อัตราจำนวนผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้องยังมีเพิ่มขึ้นมากกว่าผู้ที่รับการฟอกเลือดอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้มองว่านอกจากคุณภาพการรักษาที่เป็นมาตรฐานแล้ว ยังมองในเรื่องคุณภาพชีวิตและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ผู้ป่วย ขณะเดียวกันยังเป็นวิธีการรักษาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยสูงอายุและผู้ป่วยเบาหวานมากกว่าการฟอกไต
“ที่ผ่านมามักมีการหยิบยกข้อมูลการเสียชีวิตของกลุ่มผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้องโดยเปรียบเทียบว่าเป็นอัตราการตายที่มากกว่าผู้ป่วยฟอกไต โดยใช้ข้อมูลการรายงานจำนวนผู้เสียชีวิตของผู้ป่วยโรคไตทั้ง 2 กลุ่มในแต่ละปี ถือเป็นการเปรียบเทียบฉาบฉวยและเป็นการวัดสถิติแบบหยาบ เพราะหากจะเปรียบเทียบคุณภาพการรักษาผู้ป่วยไตทั้ง 2 วิธี ต้องทำการควบคุมปัจจัยกลุ่มตัวอย่างก่อน ตั้งแต่อายุ สุขภาพผู้ป่วยที่ไม่แตกต่างกัน ซ้ำต้องติดตามตั้งแต่ปีแรกที่เข้ารับการล้างไตและฟอกไตของผู้ป่วย”
พล.ท.นพ.ถนอม กล่าวต่อว่า การที่ประเทศไทยยังต้องกำหนดเป็นนโยบาย CAPD First และไม่เปิดให้ผู้ป่วยเป็นผู้เลือกวิธีล้างไตเองนั้น เนื่องจากมีข้อจำกัดของศูนย์ฟอกไตเทียม รวมทั้งแพทย์และพยาบาลที่ไม่เพียงพอต่อการดูแลผู้ป่วย แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการเพิ่มจำนวนของศูนย์ฟอกไตเทียมต่อเนื่อง แต่ยังไม่เพียงพอต่อการรองรับ ดังนั้นนโยบาย CAPD First จึงยังคงต้องดำเนินต่อไป โดยกรณีผู้ป่วยที่ไม่สามารถล้างไตผ่านช่องท้องแต่ต้องรับการฟอกไตนั้น แพทย์ผู้ให้การรักษาสามารถวินิจฉัยและเสนอให้ผู้ป่วยรับการฟอกไตได้
“ผมมองว่าการกำหนดสิทธิประโยชน์การรักษาผู้ป่วยบัตรทองต้องดำเนินไปตามหลักวิชาการและมองถึงความเป็นไปได้ รวมถึงการล้างไตผ่านช่องท้องที่มักมีเสียงวิพากษ์วิจารญ์ ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญโรคไตร่วมพิจารณาอย่างรอบครอบและระมัดระวัง เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบและเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยมากที่สุด” พล.ท.นพ.ถนอม กล่าว
ข่าวเด่น