สถานการณ์ภัยแล้งเริ่มส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างชัดเจนมากขึ้น สะท้อนจากการเปิดเผยของนายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่ระบุว่า สถานการณ์ภัยแล้งได้ทวีความรุนแรงและขยายพื้นที่ประสบภัยมากขึ้น ซึ่งได้สร้างความเดือดร้อนให้แก่พี่น้องประชาชน โดยสถานการณ์อาจจะต่อเนื่องไปถึงเดือน พ.ค.นี้ รัฐบาลจึงมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย ประเมินสถานการณ์ปัญหาน้ำ เพื่ออุปโภคและบริโภค ในพื้นที่ 62 จังหวัดยกเว้น 14 จังหวัดภาคใต้
ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผอ. ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่าสถานการณ์ภัยแล้ง ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจพืชผลทางการเกษตรและการหารายได้ของประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค.ประเมินว่า ปัญหาภัยแล้งอาจกระทบต่อเม็ดเงินทางเศรษฐกิจหายไปจากระบบประมาณ 70,000-100,000 ล้านบาท หรือมีผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ประมาณ 0.5% แบ่งเป็น ภาคเกษตรประมาณ 50,000-70,000 ล้านบาท และภาคอุตสาหกรรมการค้าการท่องเที่ยวและบริการประมาณ 10,000 - 30,000 ล้านบาท
สถานการณ์ภัยแล้งยังทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.พ. ลดลงเป็นเดือนที่ 2 นอกเหนือจากความกังวลสถานการณ์เศรษฐกิจและค่าครองชีพที่มีเพิ่มมากขึ้น โดยมาอยู่ที่ ระดับ 74.7
นายกัมปนาท เพ็ญสุภา รองคณบดีฝ่ายวิจัยและผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) กล่าวว่า ศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร วิเคราะห์ผลจากภัยแล้งกระทบต่อรายได้ของภาคเกษตรประมาณ 6.2 หมื่นล้านบาท จากปริมาณผลผลิตที่หายไป และการจ้างงานภาคเกษตรทั้งแรงงานคนและเครื่องจักรกลการเกษตร
ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านอุตุนิยม วิทยาการเกษตรอาวุโส บริษัท เอ็มดีเอ เวเธอร์ เซอร์วิส กล่าวว่า ปรากฏการณ์ลานินญาที่จะทำให้มีฝนตกหนักใน แถบอาเซียน และแห้งแล้งในฝั่งสหรัฐ กับอเมริกาใต้ ซึ่งเดิมคาดว่าจะเริ่มในเดือน ก.ค.นี้ อาจเลื่อนออกไปอีก 2-3 เดือน ซึ่งจะส่งผลต่อการเกษตรในหลายพื้นที่ตามมา
นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน ยอมรับว่า สถานการณ์ภัยแล้งในช่วง 3 เดือน จะหนักมากตั้งแต่มีนาคม-เมษายน-พฤษภาคม จึงต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ซึ่งมีพื้นที่เฝ้าระวัง 42 จังหวัด 152 อำเภอ จึงขอให้ทุกคนช่วยกันประหยัดอย่างจริงจัง ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าตลอดช่วงฤดูแล้งนี้
ข่าวเด่น