ถิรไทย หรือ TRT ประกาศศักดาปี 2559 ออเดอร์หม้อขนาดใหญ่ (Power) 115 Kv และ 230 Kv ทะลัก คาดโกยรายได้ทะลุ 3,000 ล้านบาท หลังหน่วยงานการไฟฟ้าภาครัฐเริ่มขยับตัวแรงโดยเฉพาะ กฟผ. จากแผนพัฒนาของประเทศ และการขยายตัวของการใช้พลังงานไฟฟ้า ทั้งพลังงานทางทดแทน ยังคงมีในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ผู้บริหารแจงผลประกอบการปี 58 รายได้จากการขายลดลงเล็กน้อยเท่ากับ 1,908.68 ล้านบาท ลดลง 117.68 ล้านบาท หรือเพียง 5.81 % แต่รายได้จากการให้บริการ และรายได้จากการให้บริการตามสัญญาก่อสร้างยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง พร้อมเผยขณะนี้ TRT สามารถกวาดงานในมือ (Backlog) แล้วกว่า 2,969 ล้านบาทอีกด้วย
นายสัมพันธ์ วงษ์ปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ถิรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TRT ผู้ผลิต จำหน่าย และซ่อมบำรุง หม้อแปลงไฟฟ้าทุกขนาดของคนไทยเพียงแห่งเดียว เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานในปี 2558 ว่า บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีผลกำไรสุทธิสำหรับปี 2558 เท่ากับ 45.97 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 94.05 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 195.61 โดยมีรายได้จากการขายเท่ากับ 1,908.68 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 117.68 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 5.81 และมีรายได้จากการให้บริการปี 2558 เท่ากับ 210.19 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 126.84 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 152 และรายได้จากการให้บริการตามสัญญาก่อสร้างเท่ากับ 105.10 ล้านบาท และ 21.92 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 83.18 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 379.47
ทั้งนี้รายได้จากการขายที่ลดลง เนื่องจากการรับคำสั่งซื้อในปี 2558 เกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี จึงทำให้กำหนดส่งมอบสินค้าในปี 2559 เป็นส่วนใหญ่ แต่บริษัทยังคงมีรายได้จากการให้บริการและ รายได้จากการให้บริการตามสัญญาก่อสร้างสูงขึ้น
อย่างไรก็ดีความต้องการสินค้าอันเนื่องมาจากการขยายตัวของการใช้พลังงานไฟฟ้า และการขยายตัวของเศรษฐกิจในภาพรวม ยังคงมีในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2559 ยังมีการประมูลงานรวมไม่น้อยกว่า 9,800 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นการไฟฟ้านครหลวง 2,000 ล้านบาท การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 2,500 ล้านบาท และการไฟฟ้าฝ่ายผลิต 3,500 ล้านบาท และภาคเอกชนภายในประเทศ 1,100 ล้านบาท และส่งออกประมาณ 700 ล้านบาท บริษัทฯ คาดว่าจะสามารถชนะการประมูลงานได้ไม่น้อยกว่า 20% หรือ ประมาณ 1,915 ล้านบาท
ซึ่งในปีนี้เอง การไฟฟ้าฝ่ายผลิต หรือ กฟผ. มีการขยายตัวอย่างมาก โดยในปีนี้มีการเปิดประมูลหม้อแปลงไฟฟ้ากำลัง (Power) ถึง 3,500 ล้านบาท และอีก 5 ปีข้างหน้ารวมแล้วมากกว่า 10,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นหม้อแปลงไฟฟ้า Power ที่ทาง TRT เพียงคนไทยรายเดียวที่สามารถแข่งขันกับคู่แข่งต่างประเทศได้ และทำให้บริษัทฯ มั่นใจในการได้รับงานจาก กฟผ. ไม่น้อยกว่า 20-25 %
นายสัมพันธ์ กล่าวต่อไปว่า ในปี 2559 จากการขยายตัวของการใช้ไฟฟ้า และการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ ทั้งตลาดพลังงานทดแทน วินฟาร์ม และโซล่าฟาร์ม ซึ่งบริษัทฯ คาดว่าจะมีผลประกอบการไปในทิศทางที่ดีขึ้นไม่น้อยกว่า 3,000 ล้านบาท โดยรายได้จะมาจากกลุ่มภาครัฐบาลประมาณ 655 ล้านบาท กลุ่มบริษัทเอกชนภายในประเทศ 1,025 ล้านบาท ส่งออก 570 ล้านบาท ซึ่งสามารถแยกมูลค่างานเป็นหม้อแปลง Power เป็นหลักถึง 1,600 ล้านบาท และกลุ่ม Distribution 650 ล้านบาท และการบริการอื่น ๆ และบริษัทฯ ในเครืออีกกว่า 1,802 ล้านบาท
"สำหรับปี 2559 คาดว่าจะเป็นปีทองของบริษัทฯ อีกปีหนึ่ง โดยปัจจุบันบริษัทฯ มีงานในมือ (Backlog) แล้วกว่า 2,969 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นกลุ่มภาครัฐ 252 ล้านบาท กลุ่มบริษัทเอกชนในประเทศ 778 ล้านบาท และส่งออกอีก 438 ล้านบาท รวมถึงการบริการอื่น ๆ และบริษัทฯ ในเครืออีกกว่า 1,501 ล้านบาท ซึ่งทำให้บริษัทฯ มั่นใจรายได้ไม่ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้อย่างแน่นอน"
"ถ้าพูดถึงทิศทางบริษัทฯ ในอีก 3 ปีข้างหน้า 2016 – 2018 บริษัทฯ ยังคงมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการเติบโตของการใช้พลังงานไฟฟ้า รวมถึงพลังงานทดแทน โดยในปี 2018 คาดว่าบริษัทฯ จะมีรายได้เฉียด 5,000 ล้านบาท โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์หม้อแปลงไฟฟ้ากำลัง (Power) ที่บริษัทฯ ถือได้ว่าเป็นผู้ผลิตอันดับ 1 ของคนไทย และในปีที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้ดำเนินการเพิ่มศักยภาพการผลิตโดยการสร้างโรงงานใหม่ ที่จะเริ่มสายการผลิตได้ในเดือนสิงหาคม 2559 สำหรับรองรับสายการผลิตเดิม และสนับสนุนสายการผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่ได้ ทำให้ TRT มีศักยภาพในการผลิตเพิ่มจาก 5,500 MVA เป็น 9,000 MVA ซึ่งจะสามารถรับรองการเติบโตของการผลิตไปอีก 5-7 ปีข้างหน้า และผลจากที่ภาครัฐมีแผนในการใช้หม้อแปลงไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นตามแผนพัฒนาของประเทศ (PDP 2015) ทำให้สภาวะการแข่งขันทางด้านราคาผ่อนคลายลง ซึ่งสามารถทำให้ TRT สามารถรักษากำไรขั้นต้นเป็นไปตามนโยบาย 20-25 % ได้อีกด้วย" นายสัมพันธ์ กล่าวสรุปในตอนท้าย
ข่าวเด่น