ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผย ตัวเลขการรับประกันภัยจำแนกตามช่องทางการจำหน่าย ในช่วงเดือนมกราคม-ธันวาคม 2558 มีเบี้ยประกันภัยรับรวมทั้งสิ้น 742,408 ล้านบาท ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 5.46 โดยแบ่งเป็น เบี้ยจากธุรกิจประกันชีวิต 533,211 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 6.91 และเบี้ยจากธุรกิจประกันวินาศภัย 209,197 ล้านบาท ขยายตัว ร้อยละ 1.92 ซึ่งส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลจาก มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ รวมถึงประชาชนมีความตื่นตัวต่อความเสี่ยงต่างๆ ที่เพิ่มสูงขึ้น จึงทำให้ตระหนักถึงความสำคัญในการทำประกันภัยมากขึ้น
ทั้งนี้ ช่องทางการขายประกันชีวิตที่ได้รับความนิยมสูงสุด คือ การขายผ่าน “ตัวแทน” โดยมีจำนวนเบี้ยรับรวมทั้งสิ้น 276,882 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 51.52 ของเบี้ยประกันชีวิตรับรวมทุกช่องทาง ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 7.39 รองลงมาได้แก่การขายผ่าน “ธนาคาร” (Bancassurance) มีเบี้ยประกันชีวิตทั้งสิ้น 227,225 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 42.28 ขยายตัวร้อยละ 9.43 ตามมาด้วยการขายผ่าน “โทรศัพท์” มีเบี้ยประกันชีวิตทั้งสิ้น 13,903 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.59 ขยายตัวร้อยละ 5.49
บริษัทประกันชีวิตที่มีส่วนแบ่งการตลาดในการขายผ่านตัวแทนสูงสุด 3 ลำดับแรกได้แก่ บริษัท เอไอเอ จำกัด บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) และบริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ตามลำดับ และบริษัทประกันชีวิตที่มีส่วนแบ่งการตลาดในการขายผ่านธนาคารมากที่สุด 3 ลำดับแรกได้แก่ บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยพาณิชย์ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) และบริษัท กรุงไทย-แอกซ่า จำกัด (มหาชน) ตามลำดับ ส่วนช่องทางการขายประกันวินาศภัยที่ได้รับความนิยมสูงสุด คือ การขายผ่าน “นายหน้า” โดยมีจำนวนเบี้ยรับรวมทั้งสิ้น 119,228 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 56.92 ของเบี้ยประกันวินาศภัยรับรวมทุกช่องทาง ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 0.56 โดยประกันภัยรถ และประกันภัยเบ็ดเตล็ด มีจำนวนเบี้ยรับรวมสูงสุด ตามลำดับ รองลงมาได้แก่การขายผ่าน “ตัวแทน” มีเบี้ยประกันวินาศภัยทั้งสิ้น 30,622 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 14.62 ขยายตัวร้อยละ 2.71 ตามมาด้วยการขายผ่าน “ธนาคาร” (Bancassurance) มีเบี้ยประกันวินาศภัยทั้งสิ้น 25,681 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 12.26 ขยายตัวร้อยละ 1.93 ซึ่งบริษัทประกันวินาศภัยที่มีส่วนแบ่งการตลาดในการขายผ่านนายหน้าสูงสุดได้แก่ บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัทโตเกียวมารีนประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ตามลำดับ
เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่าในปีนี้สำนักงาน คปภ. ได้วางมาตรการพัฒนาธุรกิจประกันภัยไว้หลายมิติซึ่งเป็นไปตามแผนพัฒนาการประกันภัยฉบับที่ 3 (ปี 2559-2563) โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำนักงาน คปภ. ให้ความสำคัญกับการพัฒนาช่องทางการจำหน่วยกรมธรรม์ประกันภัย เพื่อให้ประชาชนในวงกว้างสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากระบบประกันภัยได้อย่างเพียงพอ และทั่วถึง รวมถึงการส่งเสริม และกำกับดูแลให้ตัวแทน/นายหน้าประกันภัยมีมาตรฐานจรรยาบรรณและแนวปฏิบัติที่ดีในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ประกันภัยต่อประชาชน ตลอดจนดูแลประชาชนผู้เอาประกันภัยภายหลังที่มีการขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยแล้ว (Service After Sale) ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับธุรกิจประกันภัยในระยะยาว ทั้งนี้ ก่อนตัดสินใจซื้อกรมธรรม์ประกันภัยภัย ประชาชนควรศึกษาเงื่อนไขความคุ้มครอง รายละเอียด และข้อยกเว้นให้เข้าใจเสียก่อน เพื่อให้เกิดความเหมาะสมและตรงกับความต้องการมากที่สุด
ข่าวเด่น