ASIAN เปิดงบปี 58 รายได้-กำไร ออกมาสวย ผลประกอบการกลับมาพลิกมีกำไร 183 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 241% จากการปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจเน้นผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่า และอาหารสัตว์เลี้ยงแบบเปียก "สมศักดิ์ อมรรัตนชัยกุล" ซีอีโอ แง้มแผนธุรกิจปี 59 ตั้งเป้ารายได้โต 10% กำไรโตต่อเนื่องจากปี 58 ล่าสุดจัดโครงการ "เอเชี่ยนแฟมิลี่" กลยุทธ์สร้างตลาดใหม่หวังดันกำไร ASIAN โตทั้งกลุ่ม
นายสมศักดิ์ อมรรัตนชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ห้องเย็นเอเชี่ยน ซีฟู้ด จำกัด (มหาชน) หรือ ASIAN เปิดเผยถึงผลประกอบการของบริษัทฯ และบริษัทย่อยในงวดปี 2558 ว่าบริษัทฯ มีกำไรสุทธิรวม 183 ล้านบาท เปรียบเทียบกับปี 2557 ที่มีผลขาดทุนสุทธิ 129 ล้านบาท หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้น 241.7% ในขณะที่อัตรากำไรขั้นต้นสำหรับปี 2558 อยู่ที่ 9.6% ของยอดขาย เทียบกับปี 2557 ที่อัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ราว 5.6% นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยบวกในด้านอัตราแลกเปลี่ยน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแข็งค่าขึ้นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ทำให้กลุ่มบริษัทฯมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนประมาณ 22 ล้านบาทในไตรมาส 4/2558 และจากผลประกอบการที่ดีนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท มีมติให้นำเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อพิจารณาอนุมัติจ่ายเงินปันผล จากผลการดำเนินงานรอบปี 2558 ให้แก่ผู้ถือหุ้น ในอัตราหุ้นละ 0.25 บาท กำหนดให้จ่ายเงินปันผลวันที่ 19 พฤษภาคม 2559 และขึ้น XD วันที่ 3 พฤษภาคม 2559 นี้
สำหรับรายได้รวมของบริษัทฯในปี 2558 อยู่ที่ 7,938 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2% เมื่อเทียบกับปี 2557 โดยยอดขายในกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารแช่เยือกแข็งมีปริมาณเพิ่มขึ้น มาอยู่ที่ราว 3,593 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมากกว่า 7% เทียบกับปีก่อนหน้า กลุ่มผลิตภัณฑ์กุ้ง ซึ่งเป็นยอดขายมากกว่าครึ่งของยอดขายในกลุ่มนี้ ประสบกับภาวะราคาตกต่ำในช่วงไตรมาสที่ 4 ที่ผ่านมา และแม้ว่าจะมีความต้องการเพิ่มสูงขึ้นในช่วงต้นปี 2559 ราคาก็ยังปรับขึ้นไม่มากนัก เอเชี่ยน จึงมุ่งเน้นกลยุทธ์เพิ่มยอดในกลุ่มผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่าที่มีการแกว่งตัว ด้านราคาน้อยกว่ามาก ขณะเดียวกันยอดขายในกลุ่มผลิตภัณฑ์ทูน่า อยู่ที่ราว 1,192 ล้านบาท ลดลงเกือบ 50% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งเป็นผลมาจาการเพิ่มกำลังการผลิตในกลุ่มอาหารสัตว์เลี้ยง ประกอบกับในปี 2558 ยอดผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์ทูน่าในไทยไปยังสหรัฐอเมริกาลดลงราว 20% ซึ่งในธุรกิจนี้ เอเชี่ยน ก็มุ่งไปยังลูกค้าที่มีความต้องการเฉพาะมากขึ้น ในขณะที่กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงมียอดขายเพิ่มขึ้นกว่าสี่เท่า อยู่ที่ราว 1,602 ล้านบาท โดยที่เอเชี่ยน วางกลยุทธ์ที่จะเป็น "ผู้ร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์" หรือ "co-developer" ให้กับเจ้าของตราสินค้าที่ใหญ่และมีการเติบโตสูง โดยอาศัยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่และมีคุณภาพสูง โดยกลยุทธ์นี้ ประสบความสำเร็จอย่างงดงามในปี 2558 ที่ผ่านมา
ขณะที่ยอดขายในกลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์น้ำเติบโตขึ้นราว 15% มาอยู่ที่ประมาณ 1,110 ล้านบาท เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของยอดขายอาหารปลา หลังจากวิกฤตโรคตายด่วนในกุ้งระบาดเมื่อราวปี 2556 ผลผลิตกุ้งในประเทศไทยลดลงเหลือเพียงประมาณ 200,000 ตัน หรือประมาณ 1ใน3 ของปริมาณก่อนหน้า โดยคาดว่า จะมีการค่อยฟื้นตัวเป็นลำดับ จากการที่เกษตรกรสามารถรับมือกับสถานการณ์ของโรคได้ดีขึ้น และ คาดการได้ว่า ยอดขายของเอเชี่ยน จะเพิ่มขึ้นจากการที่เอเชี่ยนมุ่งรักษาคุณภาพผลิตภัณฑ์ และมีการบริหารต้นทุนอย่างสมเหตุสมผล
กลุ่มธุรกิจจัดจำหน่าย เป็นการนำเข้าผลิตภัณฑ์กลุ่มปลาแช่เยือกแข็งเพื่อจำหน่ายไปทั่วประเทศ ยอดขายของธุรกิจในกลุ่มนี้ลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 441 ล้านบาท แต่ก็มีอัตรากำไรเพิ่มสูงขึ้นมากเมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน
"ผลงานปี 58 ที่ออกมา ถือว่าเป็นที่น่าประทับใจ ช่วงครึ่งหลังปี 2558 เป็นช่วงที่ผลประกอบการออกมาดี เมื่อเทียบกับปีก่อน ยอดขายเพิ่มขึ้นถึง 19% อัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นจาก 150 ล้านบาท เป็นราว 509 ล้านบาท ซึ่งผมภูมิใจที่ธุรกิจของเราทุกแห่งต่างก็มีผลประกอบการที่ดีขึ้น และขณะนี้บริษัทฯอยู่ระหว่างการจัดทำแผนกลยุทธ์การดำเนินงาน โดย จะ แล้วเสร็จในไตรมาสที่ 1 นี้ ซึ่งกุญแจสำคัญอยู่ที่ "การเติบโต" และ "ผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่า" ทั้งนี้เชื่อมั่นว่าในปี 2559 ผลประกอบการของบริษัทฯจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปี 2558 ซึ่ง คาดว่าจะโตได้อย่างน้อย 10% ส่วนกำไรเพิ่มจากปีก่อน เพราะอัตราการเติบโตของประชากร ส่งผลให้ธุรกิจผลิตอาหารมีการเติบโตขึ้นทุกปี" นายสมศักดิ์กล่าว
นายสมศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่าผลิตภัณฑ์อาหารทะเล เป็นกลุ่มที่มีการเติบโตสูงที่สุด จากการที่ผู้บริโภคมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นและให้ความสำคัญกับสุขภาพมากขึ้น โดย ASIAN มีสินค้าที่สามารถตอบสนองความต้องการผู้บริโภคได้อย่างครอบคลุม ซึ่งคาดการณ์ว่าในปี 2559 ธุรกิจกลุ่มผลิตภัณฑ์กุ้งและอาหารกุ้งจะโดดเด่น ควบคู่กับการขยายตัวของธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง ขณะเดียวกัน ASIAN ยังคงไม่ปิดกั้นโอกาสเรื่องการควบรวมกิจการ หากเป็นดีลที่เหมาะ
ด้าน Mr.Rik van Westendorp ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บริษัท ห้องเย็นเอเชี่ยน ซีฟู้ด จำกัด (มหาชน) หรือ ASIAN กล่าวว่า สถานะทางการเงินของเอเชี่ยนฯ ดีขึ้นมากในปี 2558 โดยที่อัตราส่วนทางการเงินดีว่าอัตราส่วนที่ต้องดำรงตามข้อกำหนดที่มีกับ สถาบันการเงิน และบริษัทฯยังคงตั้งเป้าที่จะปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นไปอีกในช่วง 2 ปีข้างหน้า โดยเน้นการปรับปรุงกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ผ่านมาเอเชี่ยนมีการลงทุน ที่ดี และคาดว่าการลงทุนในอนาคตของเราจะอยู่ในราว 50-60%ของค่าเสื่อมราคาต่อปี โดยจะเป็นการลงทุนในกลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง ซึ่งมีการเติบโตค่อนข้างเร็ว และยังให้ความสำคัญกับการมีงบดุลที่ดีขึ้น เพื่อเพิ่มความสามารถในการรับมือกับความผันผวนในตลาดและตอบสนองเป้าหมายการ เติบโตของกลุ่มบริษัท
ด้านนายวัลลภ ล้อมลิ้ม กรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์ บริษัท เอเชี่ยน ฟีด จำกัด เปิดเผยว่า ล่าสุดเมื่อช่วงปลายเดือน 20 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา เอเชี่ยนฯได้จัดงานพบปะสังสรรค์ลูกค้าหลักอาหารกุ้งและปลาที่มีสายสัมพันธ์ อันดีกับบริษัทฯเข้าร่วมโครงการ ณ โรงแรมร้อยเกาะ จ.สุราษฎร์ธานี ภายใต้โครงการ "เอเชี่ยนแฟมิลี่" เพื่อเป็นการจับมือร่วมกันระหว่างธุรกิจอาหาร ฟาร์ม และห้องเย็นแปรรูป โดยเกษตกรที่เข้าร่วมโครงการใช้อาหารกุ้งจากเอเชี่ยนฟีด และห้องเย็น เข้ามารับซื้อ โดยมีตลาดที่แน่นอนแบบร่วมมือกันเดินเหมือนครอบครัวเดียวกันในราคาที่เกษตก รพึงพอใจ ไม่ใช่ contract farming ซึ่งจะยั่งยืนกว่า
นอกจากนี้ กรณีสืบเนื่องจากธุรกิจส่งออกกุ้งที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาที่ไทยได้ใบ เหลืองจากยุโรป และเทียร์ 3 จากสหรัฐอเมริกา ทำให้เอเชี่ยนฯ ได้ฉีกกลยุทธ์ใหม่โดยเน้นผลิตกุ้งต้มทั้งตัวสีแดงส่งไปตลาด จีน ซึ่งสินค้ากลุ่มนี้เน้นเทคนิคพิเศษ และสามารถสร้างกำไรได้ดีกว่ากุ้งชนิดอื่นๆ รวมถึงเราเน้นส่งออกตลาดที่เอเชี่ยนมีความแข็งแรงและทำกำไรได้ดี เช่น ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น ส่วนตลาดอเมริกาวางแผนผลักดันในเรื่อง BAP 4 star และการผลิตอาหารกุ้ง Non-IUU เพื่อรองรับตลาดยุโรปด้วย ดังนั้นจากกลยุทธ์ดังกล่าวนี้ คาดว่าจะช่วยผลักดันให้เอเชี่ยนฯสามารถทำกำไรในปีนี้และเติบโตขึ้นได้ตามคาด
ข่าวเด่น