เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
บสย. ประกาศแผนปี 59ตอบโจทย์นโยบายรัฐ วางเป้ายอดค้ำประกันแสนล้าน


 



บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ประกาศทิศทางการดำเนินงานปี 2559  ทำงานเชิงรุก ตอบโจทย์นโยบายรัฐ  ออกโครงการค้ำประกันสินเชื่อให้เข้าถึงผู้ประกอบการ SMEs ทุกกลุ่ม หนุนผู้ประกอบการเข้าถึงสินเชื่อ วางเป้าหมายยอดค้ำประกัน 100,000 ล้านบาท 
 
 

นายนิธิศ มนุญพร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยทิศทางการดำเนินงาน บสย. ปี 2559  ว่า ได้กำหนดทิศทางการบริหารงาน บสย. ในปี 2559 มุ่งเน้นการทำงานเชิงรุก ตอบสนองนโยบายรัฐบาล ขับเคลื่อนแผนงานไปในทิศทางเดียวกับแผนงานของรัฐบาล ช่วยผู้ประกอบการรายย่อยให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อมากขึ้น ซึ่งเป็นผลสำเร็จจากการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลในปีที่ผ่านมา โดยผลดำเนินงานในปีที่ผ่านมา บสย. สามารถช่วยผู้ประกอบการ เข้าถึงสินเชื่อได้กว่า 7 หมื่นราย โดยเป็นผู้ประกอบการรายย่อยสูงถึง 5 หมื่นราย และมียอดค้ำประกันรวมกว่า 1 แสนล้านบาท  

สำหรับทิศทางและแผนการดำเนินงานในปี 2559 ประกอบด้วย 
1. แผนงานการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs 2.7 ล้านราย ให้เข้าถึงสินเชื่อเพิ่มมากขึ้น ประกอบด้วย
1.1. ผู้ประกอบการทั่วไป
1.2. กลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย
1.3. กลุ่มผู้ประกอบการพิเศษ เช่น กลุ่มนวัตกรรม (Innovation) และกลุ่มเริ่มต้น (Start-up) ซึ่งเป็นกลุ่มนักรบใหม่ของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ  
 

นอกจากนี้ บสย. ได้ให้ความช่วยเหลือค้ำประกันสินเชื่อกับกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ภาคการเกษตรภายใต้โครงการรัฐบาล 1 ตำบล 1 SMEs เกษตร ซึ่งขณะนี้ บสย. ได้เข้าไปดำเนินการให้ความช่วยเหลือด้านการค้ำประกันสินเชื่อแล้ว โดยผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.)
2. แผนงานพัฒนาผลิตภัณฑ์ค้ำประกันสินเชื่อ เพื่อรองรับความต้องการของผู้ประกอบการ SMEs ทุกกลุ่ม โดยปัจจุบัน บสย. มีผลิตภัณฑ์ค้ำประกันสินเชื่อ 3 กลุ่ม ประกอบด้วย 

2.1. ผลิตภัณฑ์ค้ำประกันสินเชื่อโครงการ PGS 5 (ปรับปรุงใหม่) สำหรับผู้ประกอบการทั่วไปขนาดกลาง และเล็ก วงเงินรวม 100,000 ล้านบาท ปัจจุบัน บสย. อนุมัติวงเงินค้ำประกันไปแล้ว 58,000 ล้านบาท เหลือวงเงินอนุมัติอีกประมาณ 42,000 ล้านบาท ซึ่งจะสิ้นสุดโครงการรับคำขอในวันที่ 30 มิถุนายน 2559 โดยวางแผนว่าจะนำเสนอโครงการใหม่ เพื่อช่วยผู้ประกอบการต่อเนื่องภายในปีนี้ คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ภายในไตรมาสที่ 3 โดยขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการรับฟังความคิดเห็นจากธนาคาร
2.2. ผลิตภัณฑ์ค้ำประกันสินเชื่อผู้ประกอบการกลุ่มนวัตกรรม (Innovation SMEs) และกลุ่มเริ่มต้น (Start-up) ซึ่งถือเป็นกลุ่มนักรบใหม่ วงเงินค้ำประกันรวม 10,000 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการนำเสนอกระทรวงการคลัง
2.3. ผลิตภัณฑ์ค้ำประกันสินเชื่อผู้ประกอบการรายย่อย (ระยะ 2) ซึ่งรัฐบาลได้อนุมัติไปแล้วเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา วงเงิน 13,500 ล้านบาท  ค้ำประกันสูงสุดรายละไม่เกิน 200,000 บาท โดยปรับเกณฑ์สินทรัพย์ถาวร จาก 200 ล้านบาท เหลือ 5 ล้านบาท เพื่อเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้จำนวนรายมากขึ้น และจะสิ้นสุดโครงการในปี 2560 โดยคาดว่าจะช่วยผู้ประกอบการรายย่อยได้ 135,000 ราย 
นอกจากนี้ บสย. ยังได้เตรียมพัฒนาผลิตภัณฑ์ค้ำประกันสินเชื่อใหม่ เพื่อขยายฐานลูกค้า อาทิ กลุ่มที่ไม่ใช่ธนาคาร (Non-bank) ซึ่งขณะนี้ ร่างกฏหมายที่มีการแก้ไขได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง และอยู่ระหว่างเตรียมนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) 
3. แผนงานด้านการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อผู้ประกอบการ SMEs เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการ SMEs (Financial Literacy) โดยออกแบบหลักสูตรที่เหมาะสมกับผู้ประกอบการ SMEs แต่ละกลุ่ม โดยให้ฝ่ายกิจการสาขาทั้ง 11 แห่ง  ร่วมกับศูนย์บ่มเพาะธุรกิจในสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ 
4. แผนงานพัฒนาองค์กรและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานภายใน ด้านการค้ำประกันสินเชื่อและการออกหนังสือค้ำประกันให้รวดเร็วขึ้น เพื่อรองรับการเติบโตและการใช้บริการค้ำประกันสินเชื่อรายย่อยที่เพิ่มขึ้น โดยปีที่ผ่านมา บสย. ได้ปรับปรุงประสิทธิภาพด้านเทคโนโลยี และการพัฒนาโครงการค้ำประกันสินเชื่อออนไลน์

ทั้ง 4 แผนงานนี้ จะเป็นทิศทางการขับเคลื่อนการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs โดย บสย. ตั้งเป้าหมายการค้ำประกันสินเชื่อที่จะช่วยผู้ประกอบการได้ไม่ต่ำกว่า 80,000 ราย คาดว่าจะสามารถผลักดันยอดค้ำประกันให้ได้ 100,000 ล้านบาท
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 08 มี.ค. 2559 เวลา : 11:42:27
25-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 25, 2024, 10:42 pm