เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
กระตุ้นค้าชายแดน"ไทย-มาเลเซีย"


 การค้าตามแนวชายแดน  เริ่มมีความสำคัญมากขึ้นหลังจากที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงอย่างชัดเจน    ซึ่งภาครัฐและเอกชนก็เห็นถึงความสำคัญ   ธนาคารกลางมาเลเซีย (บีเอ็นเอ็ม) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงได้เริ่มดำเนินการกลไกการชำระเงินสกุลท้องถิ่นอย่างเป็นทางการตั้งแต่เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 59 ที่ผ่านมา   โดยกลไกนี้เป็นความพยายามของทั้งสองประเทศในการส่งเสริมการใช้เงินสกุลริงกิต และบาทในการชำระธุรกรรมการค้าระหว่างกัน ซึ่งเป็นไปตามบันทึกความเข้าใจที่ทั้งสองธนาคารกลางได้ลงนามร่วมกันเมื่อเดือนส.ค.2558

 

 

 

 


การจัดตั้งกลไกดังกล่าวจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเข้าถึงเงินสกุลท้องถิ่น และการบริหารจัดการความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยนที่เกิดจากการทำธุรกรรมการค้าระหว่างกัน ภายใต้กลไกนี้ ผู้ประกอบการมาเลเซียและไทยสามารถเลือกใช้บริการในเงินสกุลริงกิตและบาทจากธนาคารพาณิชย์ที่ได้รับคัดเลือกในแต่ละประเทศ เพื่อชำระธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศ

ซึ่งบีเอ็นเอ็ม และ ธปท. ได้ประกาศแต่งตั้งธนาคารพาณิชย์ในมาเลเซียและไทย เพื่อสนับสนุนการจัดตั้งกลไกดังกล่าว ดังรายนามต่อไปนี้ ทางมาเลเซีย ได้แก่ Bangkok bank Berhad , CIMB Bank Berhad และ Malayan Banking Berhad(Maybank) ส่วนของไทย ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย และ ธนาคารกสิกรไทย

และเนื่องจากกลไกดังกล่าวเป็นโครงการนำร่อง   เพื่อให้เห็นผลสำเร็จของกรอบความร่วมมือ  รวมทั้งเพื่อให้การดำเนินการมีความคล่องตัว   จึงได้คัดเลือกเฉพาะธนาคารพาณิชย์ที่มีความสัมพันธ์เชิงธุรกิจที่แน่นแฟ้นกับสถาบันการเงินของทั้งสองประเทศอยู่แล้วในปัจจุบัน หรือมีการดำเนินการทั้งในไทยและมาเลเซีย หรือมีศักยภาพในการรองรับธุรกรรมการชำระราคาเงินริงกิตและบาท

โดยธนาคารพาณิชย์ที่เข้าร่วมจะได้รับการ ผ่อนปรนกฎระเบียบบางประการ เพื่อให้สามารถให้บริการทางการเงินในเงินสกุลริงกิตและบาทได้หลากหลายขึ้น ซึ่งรวมถึงการให้บริการรับฝากเงินสกุลริงกิตและบาท การทำธุรกรรมสินเชื่อเพื่อการค้า และการให้บริการผลิตภัณฑ์ป้องกันความเสี่ยงต่างๆ (Hedging products)

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการสำนักวิจัย สายบริหารความเสี่ยง ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า การจัดตั้งกลไกการชำระเงินสกุลท้องถิ่นระหว่าง ธปท. และธนาคารกลางมาเลเซีย โดยใช้ เงินบาทกับริงกิตในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการระหว่างกันนั้น เชื่อว่าจะส่งผลดีต่อภาพรวมการค้าขายระหว่างไทยกับมาเลเซียอย่างแน่นอน เนื่องจากจะช่วยให้ผู้ส่งออกและนำเข้าสามารถทำธุรกรรมได้ง่ายขึ้น และยังลดความผันผวนที่เกิดจากการเคลื่อนไหวของ ค่าเงินดอลลาร์ลงได้ด้วย
         
นอกจากนี้การใช้เงินบาทและริงกิตในการซื้อขายสินค้าและบริการระหว่างกันนี้ ยังช่วยทำให้เงินบาทมีความเป็นสากลมากขึ้น ซึ่งถ้าดูการจัดอันดับโดยระบบชำระเงินโลก หรือ สวิฟ พบว่า เงินบาท ได้รับความนิยมติดอันดับ 10 ของโลก

นายนิยม ไวยรัชพานิช   รองประธาน สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า  มาตรการดังกล่าวจะช่วยในการชำระเงินแล้ว ยังลดส่วนต่างการแลกเปลี่ยนค่าเงินกลับไปกลับมาระหว่างเงินบาทกับเงินดอลลาร์และระหว่างเงินริงกิตกับเงินดอลลาร์   ถือเป็นต้นทุนการทำธุรกิจด้วยส่วนหนึ่ง และเมื่อการดำเนินการทางการค้าคล่องตัว ก็จะส่งผลให้มูลค่าการค้าสองฝ่ายเพิ่ม มากขึ้น
        
        

 

LastUpdate 15/03/2559 15:36:55 โดย : Admin
25-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 25, 2024, 10:37 pm