สำนักงาน คปภ. เดินหน้าผลักดันประกันภัยพืชผลสู่วาระแห่งชาติ เสนอให้มีการยกร่างกฎหมายโดยเฉพาะ พร้อมคณะกรรมการระดับชาติขึ้นมากำกับดูแลอย่างเป็นระบบ เพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปประกันภัยพืชผลเพื่อช่วยเกษตรกรไทยสู้ภัยแล้ง ประเดิมงานเชิงรุกเร่งสร้างเครือข่ายกระจายความรู้ด้านการประกันภัย “Training for the trainers” ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการปฏิรูปการประกันภัยพืชผล เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงในชีวิต และยกระดับรายได้ให้กับเกษตรกรไทยในประเทศ ซึ่งก่อนหน้านี้คณะทำงานขับเคลื่อนการปฏิรูปการประกันภัยพืชผล ได้ประชุมนัดสุดท้ายเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2559 และได้สรุปข้อเสนอการปฏิรูปการประกันพืชผล เป็น 2 แนวทาง คือแนวทางปฏิรูประยะสั้น และระยะยาว
โดยในส่วนของแนวทางการปฏิรูประยะสั้น ได้แก่ การเพิ่มพื้นที่เป้าหมายให้มากขึ้นเพื่อให้มีการกระจายความเสี่ยง การขยายระยะเวลาดำเนินโครงการเป็น 3-5 ปี เพื่อให้เกิดความชัดเจนต่อเกษตรกรและผู้รับประกันภัย การให้ความรู้ด้านประกันภัยแก่เกษตรกร และการปรับปรุงการบริหารจัดการข้อมูลให้มีประสิทธิภาพเพื่อรองรับการเอาประกันภัยเพิ่มขึ้น แต่เบี้ยประกันภัยถูกลง ซึ่งระยะสั้นนี้ควรเป็นการปฏิรูปการประกันภัยข้าวก่อนแล้วจึงขยายผลไปยังพืชอื่น
ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. ได้รับมอบหมายจากคณะทำงานขับเคลื่อนการปฏิรูปการประกันภัยพืชผล ให้ดำเนินโครงการอบรมความรู้ประกันภัย (Training for the trainers) ประเดิมที่แรกจังหวัดแรกพระนครศรีอยุธยา โดยได้รับเกียรติจาก นางสาวพจนีย์ ธนวรานิช ประธานคณะกรรมการทำงานขับเคลื่อนการปฏิรูปการประกันภัยพืชผล เป็นประธานเปิดงานในครั้งนี้ โดยมี นายประยูร รัตนเสนีย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ให้เกียรติกล่าวต้อนรับและมีตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆเข้าร่วมรับการอบรมประมาณ 200 คน
ดร.สุทธิพล กล่าวด้วยว่า โครงการอบรมความรู้ประกันภัย (Training for the trainers) มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการประกันภัย โดยเฉพาะกรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปีให้กับผู้เกี่ยวข้องกับเกษตรกรโดยตรง อาทิ เกษตรกรจังหวัด เกษตรอำเภอ สำนักงานป้องกันและบรรเทา สาธารณภัยจังหวัด อบจ. อบต. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ตลอดจนเจ้าหน้าที่สำนักงาน คปภ.ภาค/จังหวัด ซึ่งผู้ที่ผ่านการอบรมจะนำความรู้ที่ได้ไปถ่ายทอดแก่เกษตรกรในพื้นที่ในลักษณะการสร้างเครือข่ายด้านองค์ความรู้และความเข้าใจอย่างทั่วถึงและต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ยังเป็นการผลักดันให้การประกันภัยพืชผลเข้าไปเป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารความเสี่ยงภัยธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นกับเกษตรกร โดยคปภ.มีแผนเดินสายให้ความรู้แก่ผู้เกี่ยวข้องกับเกษตรกรใน 8 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี นครราชสีมา อุดรธานี อุบลราชธานี พิษณุโลก เชียงราย และนครศรีธรรมราช เป็นลำดับเพื่อให้ครอบคลุมทั่วภูมิภาค
สำหรับแนวทางปฏิรูปการประกันภัยพืชผลระยะยาว เลขาธิการ คปภ. ได้เสนอต่อที่ประชุมคณะทำงานขับเคลื่อนการปฏิรูปฯ ให้การประกันภัยพืชผลเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำแผนการปฏิรูปการประกันภัยพืชผล เพื่อเสนอต่อสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ รวมทั้งเสนอให้มีการยกร่างพระราชบัญญัติการประกันภัยการเกษตรสำหรับประเทศไทย ที่ครอบคลุมการประกันภัยการเกษตร และปศุสัตว์ นอกจากนี้ที่ประชุมเห็นควรให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการแห่งชาติ ในการ
ขับเคลื่อนการประกันภัยพืชผลระดับนโยบาย โดยเสนอให้รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจเป็นประธานและรัฐมนตรีจากกระทรวงที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นกรรมการเพื่อทำหน้าที่ขับเคลื่อนนโยบาย อาทิ การกำหนดกรอบภารกิจ ลักษณะการประสบภัย ชนิดของสินค้าเกษตร และเกณฑ์การช่วยเหลือเกษตรกร การประเมินค่าเสียหายและการจ่ายค่าสินไหมทดแทน การกำหนดบริษัทที่จะเข้ามารับทำประกันภัย การหามาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ รวมทั้งการกำหนดบทลงโทษ เป็นต้น
ดร.สุทธิพล กล่าวเพิ่มเติมว่า จากยอดตัวเลขโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2558 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2558 ที่ผ่านมา มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 92,064 ราย พื้นที่ประมาณ 1.5 ล้านไร่ คุ้มครองภัย 7 ประเภท คือ น้ำท่วมหรือฝนตกหนัก ฝนทิ้งช่วง ลมพายุหรือไต้ฝุ่น อากาศหนาว ลูกเห็บ ไฟไหม้ ศัตรูพืชและโรคระบาด โดยปีการเพาะปลูกปี 2559 นี้สำนักงาน คปภ. ตั้งเป้าหมายว่าจะมีเกษตรกรเข้าร่วมทำประกันภัยพืชผล 3-5 ล้านไร่ทั่วประเทศ
“สำนักงาน คปภ. ในฐานะหน่วยงานของรัฐที่ทำหน้าที่กำกับ ดูแล คุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนด้านประกันภัย มีนโยบายหลักที่มุ่งเน้นการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการประกันภัยขั้นพื้นฐานให้กับประชาชนทุกระดับสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากระบบประกันภัย โดยให้ความสำคัญกับประชาชนในกลุ่มรากหญ้า รวมทั้งกลุ่มเกษตรกรซึ่งถือเป็นรากฐานที่แข็งแกร่งของประเทศ ทั้งนี้สำนักงาน คปภ. พร้อมจะให้การสนับสนุนและขออาสาเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยผลักดันให้การประกันภัยพืชผลเกิดความต่อเนื่องและยั่งยืน เพื่อคุ้มครองและยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยให้ดียิ่งขึ้นและมีความยั่งยืนต่อไป” ดร.สุทธิพล กล่าวในตอนท้าย
ข่าวเด่น