เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
อุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยแข่งเดือดแม้ขาด JAS


 


หลังจากที่บริษัท แจสโมบาย  บรอดแบรนด์   ไม่สามารถนำเงินงวดแรกและหนังสือค้ำประกันจากธนาคาร มายื่นเพื่อขอออกใบอนุญาตสำหรับคลื่นความถี่ 900MHz ก่อนกำหนดเวลาในวันที่ 21 มีนาคม 2559  แม้จะทำให้ธุรกิจโทรคมนาคมของไทย ขาดผู้เล่นรายใหม่  แต่การแข่งขันก็ไม่ลดความรุนแรงลงไป 
 

ซึ่งฟิทช์ เรทติ้งส์  เผยว่าการที่บริษัท แจส โมบาย บรอดแบรนด์ จำกัด ไม่สามารถเข้ามาเป็นผู้ให้บริการรายที่ 4 ในตลาด  ไม่น่าจะส่งผลให้การแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรมลดลงในปีนี้  เนื่องจากผู้บริการมือถือ 3 รายเดิมจะยังคงแข่งขันกันอย่างดุเดือดต่อไป เพื่อเพิ่มหรือปกป้องส่วนแบ่งตลาดของบริษัท
         
ทั้งนี้ ฟิทช์ได้คงแนวโน้มเชิงลบต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคมของไทยปีนี้ เนื่องจากคาดว่าการวัดระดับความน่าเชื่อถือของบริษัทโทรคมนาคมส่วนใหญ่จะถดถอยลง เนื่องจากการแข่งขันที่ดุเดือดขึ้น การเติบโตของรายได้ชะลอตัว และค่าใช้ในการลงทุนเครือข่ายและการจ่ายค่าคลื่นความถี่สูงขึ้น  
 

โดยฟิทช์คาดว่า การแข่งขันในอุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่ของไทยในปี 2559 จะมีความรุนแรงขึ้น  เนื่องจากผู้ประกอบการจะแข่งขันด้านราคาค่าใช้บริการและส่วนลดค่าเครื่องที่มากขึ้น ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ True Mobile ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่อันดับที่สามมีฐานนะการเงินและสถานะทางการตลาดที่ดีขึ้น และมีเป้าหมายจะเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาด  ในขณะที่ผู้ประกอบการรายใหญ่อีกสองราย ซึ่งได้แก่บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชัน จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC  มีเป้าหมายที่จะรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดของตัวเองเอาไว้
        
 
 
ด้านบริษัท  จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด  โดยนายพิชญ์    โพธารามิก  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทำหนังสือชี้แจงตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถึงกรณีที่ บริษัท แจสโมบาย บรอดแบนด์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย และชนะการประมูลใบอนุญาตโทรศัพท์ระบบ 4จี บนคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรซต์ และไม่เข้าชำระเงินค่าใบอนุญาตฯ ที่ กสทช. จัดประมูล โดยให้เหตุผลว่า ผู้ประกอบการรายใหญ่จากจีนที่จะร่วมลงทุนในแจส โมบาย และได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากธนาคารพาณิชย์แห่งใหญ่ของจีน ติดข้อจำกัดในเรื่องของระยะเวลาในการขออนุมัติจากหน่วยงานที่กำกับดูแล และคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณกลางเดือนเมษายนนี้  จึงไม่สามารถออกแบงค์การันตีมูลค่าที่ประมูลใบอนุญาตได้ เพื่อมายื่นชำระต่อ  กสทช.  ได้ตามกำหนดเวลา
         
ส่วนผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นที่แจสโมบายไม่ชำระเงินดังกล่าว  ที่ปรึกษากฏหมาย เห็นว่า แจสโมบายควรถูกริบเงินประกันการประมูลจำนวน 644 ล้านบาท เท่านั้น เนื่องจากแจส โมบาย ไม่ได้ปฏิบัติผิดเงื่อนไขอื่นใดตามหลักเกณฑ์การประมูล และการถูกริบเงินดังกล่าว ไม่กระทบต่องบการเงินของบริษัทฯ ด้วย

ส่วนนายลาร์ส  นอร์ลิ่ง   ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) หรือดีแทค ซึ่งเป็นผู้ที่ผิดหวังจาการประมูลครั้งก่อน  กล่าวว่าบริษัท ได้ยื่นจดหมายแสดงความคิดเห็นต่อการนำคลื่น 900MHz ชุดที่ 1 กลับมาประมูลใหม่ต่อการพิจารณาของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)  เมื่อวันที่  22 มี.ค.

โดยบริษัทฯ จึงเห็นว่าการประมูลคราวนี้  ควรจำกัดไว้เฉพาะผู้ที่เข้าร่วมการประมูลที่เหลืออยู่จากการประมูลคลื่น 900 MHz คราวก่อนเท่านั้น   ผู้ที่ชนะการประมูลคลื่น 900 MHz ครั้งก่อน ไม่ควรมีสิทธิเข้าร่วมการประมูลในครั้งนี้  
         
นอกจากนี้ ราคาขั้นต่ำ (Reserve Price) ของการประมูลคลื่น 900 MHz ชุดที่ 1 ครั้งใหม่นี้  ควรกำหนดที่ราคา 16,080 ล้านบาท   เท่ากับการประมูลคลื่น 900 MHz คราวก่อน (ในกรณีที่ผู้เข้าร่วมประมูลมีจำนวนน้อยกว่าหรือเท่ากับ 2 ราย ) ซึ่งวิธีนี้ จะเป็นการประมูลแข่งขันที่จะเป็นการกำหนดมูลค่าคลื่นความถี่ 900 MHz ชุดที่ 1 ที่แท้จริงและไม่เป็นการเลือกปฏิบัติ

หลังจากนี้อุตสาหกรรมโทรคมนาคมของไทย  คงจะมีสีสันและความน่าสนใจมากขึ้น  เมื่อกสทช.จะต้องเปิดประมูลคลื่น 4 จี ใหม่อีกรอบ





 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 22 มี.ค. 2559 เวลา : 18:06:33
25-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 25, 2024, 11:48 pm