เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ห่วงธปท.นำเงินสำรองฯลงทุนหุ้นตปท.


 


แม้คณะรัฐมนตรีจะมีมติเห็นชอบการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย โดยแก้ไขเพิ่มเติมให้ ธปท.สามารถทำธุรกรรมได้เพิ่มขึ้นในการเข้าไปลงทุนในสินทรัพย์นอกประเทศ เช่น ตราสารทุน หรือ หุ้น ของนิติบุคคลในต่างประเทศ จากเดิมที่ลงทุนได้เฉพาะตราสารหนี้เท่านั้น  เพื่อเพิ่มช่องทางในการลงทุน  และเป็นการกระจายความเสี่ยงจากการลงทุน
 
 
 
 

โดยนายวิสุทธิ์   ศรีสุพรรณ   รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง บอกว่า  แม้ ครม.จะมีมติเห็นชอบการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย   แต่การลงทุนจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย   ซึ่งได้มีการว่าจ้างบริษัทที่มีความชำนาญและเป็นมืออาชีพให้ดำเนินการ แต่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ แบงก์ชาติ ซึ่งจะมีการกำหนดสัดส่วนการลงทุนระหว่างตราสารหนี้กับตราสารทุนให้เกิดความเหมาะสม และทำให้มูลค่าทรัพย์สินมีเสถียรภาพสูงสุด 
 
 
 
 

ด้านดร.วิรไท  สันติประภพ  ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผย การแก้ไขพ.ร.บ.ดังกล่าว เป็นการแก้ไขเฉพาะในส่วนของ พ.ร.บ.ธปท.ที่เป็นในส่วนกิจการธนาคารเท่านั้น ไม่ได้เป็นการแก้ไขในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพ.ร.บ.เงินตราแต่อย่างใด และเป็นการขยายขอบเขตการลงทุนให้มีความหลากหลายมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับตลาดโลกและตลาดตราสารหนี้ สกุลเงินต่างๆ ที่มีแนวโน้มผันผวนเพิ่มมากขึ้นและสูงขึ้น
 
 

และการขยายการลงทุนไปสู่ตราสารทุน จึงเป็นช่องทางการบริหารความเสี่ยงและการกระจายความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหมือนที่ต่างประเทศใช้กัน อาทิ ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย สวิตเซอร์แลนด์  เนเธอร์แลนด์ และนอร์เวย์ เป็นต้น โดยหลักการสำคัญจะกระจายความเสี่ยงในผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย และยังคงวัตถุประสงค์เน้นการลงทุนที่มีสภาพคล่องเป็นหลักเพื่อพร้อมที่จะนำมาใช้ได้ตลอดเวลา
         
ซึ่งสัดส่วนการลงทุนในหุ้นในช่วงแรก คาดว่าจะทยอยการลงทุนในระดับไม่เกิน 3-4% ของทุนสำรองเฉพาะในส่วนกิจการธนาคารที่มีอยู่ปัจจุบัน 1.10 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากปัจจุบันเงินทุนสำรองระหว่างประเทศทั้งหมดมีอยู่ 1.8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ   ซึ่งต้องพิจารณาตามภาวะอาจจะทำอย่างค่อยเป็นค่อยไปภายใต้การบริหารความเสี่ยง และการบริหารสภาพคล่องระหว่างประเทศ
 
         
และหลังจากครม.อนุมัติ จะต้องผ่านขั้นตอนความเห็นชอบจากคณะกรรมการกฤษฎีกา, สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และจากนั้นจึงนำข้อกฎหมายที่ผ่านจากการเห็นชอบในข้างต้น เข้าสู่ที่ประชุมของคณะกรรมการธปท.เพื่อเห็นชอบ และกำหนดกรอบการลงทุนในตราสารประเภทต่างๆ ภายใต้การดูแลความเสี่ยงอย่างรอบด้าน ก่อนที่จะมีการนำทุนสำรองไปลงทุนในหุ้น  ทั้งนี้ ยืนยันว่าการลงทุนทั้งหมดไม่ได้ต้องการจัดตั้งเป็นกองทุนเพื่อความมั่งคั่งแต่อย่างใด
 
 
 
 
 

ขณะที่นายธีระชัย   ภูวนาถนรานุบาล    อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความผ่านเว็บไซต์เฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala ถึงกรณีดังกล่าวว่า   เรื่องนี้ตนไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง ถึงแม้จะมีคำอธิบายพยายามให้คลายใจก็ตาม   เช่น ต้องเป็นหุ้นในตลาดต่างประเทศเท่านั้น ไม่ใช่ตลาดไทย   เป็นทุนสำรองส่วนที่อยู่ในบัญชีแบงค์ชาติเท่านั้น ไม่ใช่ทุนสำรองที่หนุนการออกธนบัตร เป็นการลงทุนปกติเท่านั้น ไม่ใช่การตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (sovereign wealth fund)  แต่คำอธิบายเหล่านี้ ไม่ได้ทำให้ตนเห็นด้วยประการใด
 

ซึ่งสิ่งที่ควรทำไม่ใช่แก้ไขกฎหมาย เพื่อให้แบงค์ชาติ เอาทุนสำรองไปซื้อหุ้น แต่แบงค์ชาติ ควรจะนำเงินดอลลาร์จากทุนสำรองส่วนที่เกินความจำเป็น  ออกไปขายในตลาด พร้อมทั้งผ่อนคลายให้ประชาชนนำเงินออกไปลงทุนต่างประเทศได้ง่ายขึ้น   ภาคเอกชนที่สนใจจะลงทุนต่างประเทศ จะได้ซื้อดอลลาร์ไปจากแบงค์ชาติ เพื่อนำไปลงทุนเอง วิธีนี้ ถ้าการลงทุนเกิดกำไร ประเทศโดยรวม จะได้ประโยชน์ ถ้าการลงทุนเกิดขาดทุน ก็จะเป็นเรื่องที่เอกชนรับขาดทุนกันเอง หน้าที่ของแบงค์ชาติจึงควร คือทำนโยบายต่างๆ ให้ดี   ส่วนเรื่องการคิดอ่านจะทำกำไรให้เป็นกอบเป็นกำนั้น ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของภาคเอกชน 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 24 มี.ค. 2559 เวลา : 07:15:37
25-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 25, 2024, 11:26 pm