บริษัท สยามซิตี้ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ปลื้มผลประกอบการประจำปี 2558 มีรายได้รวม สูงสุดนับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท เติบโตจากปีที่แล้วถึง 26.79% ส่งผลให้ฐานะกองทุนมีความมั่นคงสูงถึงกว่า 500% พร้อมเดินหน้ารุกตลาดประกันภัยรายย่อย ตั้งเป้ารายได้ปี 2559 ทะลุ 1,200 ล้านบาท
นายศิริลักษณ์ เมืองศรี กรรมการผู้จัดการ บมจ.สยามซิตี้ประกันภัย เปิดเผยถึงผลประกอบการในปี 2558 ว่า เป็นปีที่บริษัทประสบความสำเร็จอย่างมาก โดยมีอัตราเติบโตขึ้นทุกผลิตภัณฑ์ ทำให้มีรายได้รับรวมทั้งสิ้น 985.17 ล้านบาท เติบโตขึ้น 26.79% เมื่อเทียบกับปี 2557 มีกำไรสุทธิก่อนค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้อยู่ที่ 11.79 ล้านบาท โดยเป็นเบี้ยประกันจากประกันภัยนักเรียน ภายใต้ชื่อ "โครงการโรงเรียนอุ่นใจ" ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์หลักของบริษัท จำนวน 50% และเบี้ยประกันจากผลิตภัณฑ์อื่นๆอีก 50% และถือเป็นรายได้รับรวมที่สูงสุดนับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทมา 69 ปี นอกจากนี้ยังส่งผลให้บริษัทเลื่อนอันดับจากการจัดอันดับรายได้ของบริษัทประกันวินาศภัย (Market Ranking) จากอันดับที่ 41 ขึ้นมาเป็นอันดับ 37 มีส่วนแบ่งตลาดเบี้ยประกันภัยรับโดยตรง (Market Share) อยู่ที่ 0.45%
"ในปี 2558 ที่ผ่านมา ถือว่าผลประกอบการของบริษัทเป็นที่น่าพอใจอย่างมาก รายได้รับรวมเติบโตอย่างก้าวกระโดด และเติบโตขึ้นในทุกผลิตภัณฑ์ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเราสามารถเพิ่มจำนวนลูกค้าในกลุ่มนักเรียน ที่เราครองตลาดเป็นอันดับ 1 ได้มากขึ้น ขณะเดียวกันเราก็ยังสามารถขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มอื่นๆ ได้มากขึ้นเช่นกัน ซึ่งเป็นเครื่องการันตีถึงความเชื่อมั่นของลูกค้าที่มีต่อสยามซิตี้ประกันภัยที่เพิ่มขึ้นทุกปี" นายศิริลักษณ์ กล่าว
และจากผลประกอบการที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ฐานะกองทุนของบริษัทมีความมั่นคงมากขึ้น โดยในขณะนี้บริษัทมีอัตราส่วนเงินกองทุนสูงถึงกว่า 500% จากที่กฎหมายกำหนดไว้ที่ 140% ดังนั้น ผู้เอาประกันภัยจึงมั่นใจได้ว่า สยามซิตี้ประกันภัยสามารถชดใช้ค่าเสียหายได้ตามความคุ้มครองของกรมธรรม์ทุกรายอย่างแน่นอน
สำหรับกลุยทธ์ในปี 2559 สยามซิตี้ประกันภัยจะขยายรายได้จากประกันภัยนักเรียน ที่เป็นผลิตภัณฑ์หลัก และเป็นอันดับ 1 ในตลาดกลุ่มนี้ โดยคาดว่าจะเติบโตขึ้นอีก 15% พร้อมรุกตลาดประกันภัยรายย่อยด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ทุกช่วงอายุ ซึ่งบริษัทตั้งเป้าเบี้ยรับรวมปี 2559 อยู่ที่ 1,200 ล้านบาท เติบโต 20% จากปีก่อน โดยการเติบโตดังกล่าวจะมาจากเบี้ยประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลหรือพีเอ 700 ล้านบาท เบี้ยประกันภัยรถยนต์ 300 ล้านบาท ที่เหลืออีก 200 ล้านบาทเป็นเบี้ยประกันภัยเบ็ดเตล็ดและประกันภัยทรัพย์สิน รวมถึงการรับประกันภัยต่อ
ข่าวเด่น