ต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีการให้บริการทางการเงินรูปแบบใหม่ที่ นำระบบการสื่อสารออนไลน์มาประยุกต์ ใช้ในธุรกิจด้านการเงินการธนาคาร และการลงทุน (ฟินเทค หรือ Fin Tech ) ในบริการทางการเงินทุกประเภท ได้เริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ตามวัฎจักรของโลกที่ต้องการความรวดเร็ว ฉับไว
ซึ่งในเรื่องดังกล่าว นางทองอุไร ลิ้มปิติ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงินธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยอมรับว่า การให้บริการ ฟินเทคอาจจะกระทบกับธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะการปล่อยกู้ระหว่างบุคคลที่ไม่ผ่านธนาคาร (พีทูพีเลนดิ้ง) เนื่องจากมีลักษณะคล้ายการให้สินเชื่อบุคคลหรือนาโนไฟแนนซ์ ที่ต้องขออนุญาตจาก ธปท.ก่อน
โดย ธปท. จะเสนอแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินระยะที่ 4 ที่จะใช้ในปี 2560 เกี่ยวกับการบริการผ่านเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่สนับสนุนช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้ครม.รับทราบเช่น เนชั่นแนลอี-เพย์เมนต์ เป็นระบบการชำระเงินแบบเลขใดก็ได้ (แอนนี่ไอดี) ทั้งเลขที่บัตรประชาชน เลขที่บัญชีธนาคาร หมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ อี-วอลล์เลทไอดี และอีเมล แอดเดรส
ด้านนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. เปิดเผยว่า ในปี 59 นี้ ธปท.จะพัฒนาระบบการชำระเงินของประเทศ โดยเน้นการป้องกันภัยคุกคามทางโลกไซเบอร์ที่อาจจะสร้างปัญหาของระบบไอทีของสถาบันการเงิน เนื่องจากในช่วงหลัง ภัยคุกคามด้านไซเบอร์ทั้งของไทยและต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากไม่มีการเฝ้าระวังและหามาตรการป้องกันไว้ล่วงหน้าอาจจะสร้างความเสียหายให้กับระบบการชำระเงินไทย และกระทบต่อความมั่นใจของผู้ใช้บริการและภาคเศรษฐกิจจริงได้
ทั้งนี้ แนวทางการรับมือการคุกคามของโลกไซเบอร์นั้น ในส่วนของภาครัฐต้องปรับปรุงกฎเกณฑ์และกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับความเสี่ยงใหม่ๆด้านไอที และจากโลกไซเบอร์ที่จะปรับเปลี่ยนรูปแบบตลอดเวลา และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต ขณะที่ ธปท.ได้จัดทำมาตรฐานการดูแลระบบไอทีของระบบการชำระเงินของประเทศตามมาตรฐานสากล และได้ประสานงานกับธนาคารพาณิชย์ เพื่อวางแนวทางป้องกันและรับมือภัยคุกคามที่เข้ามาในรูปแบบต่างๆ โดยได้กำหนดให้สถาบันการเงินจะต้องมีมาตรการป้องกันและติดตามการโจมตีทางไซเบอร์หรือแฮกเกอร์ ได้อย่างเป็นระบบ
นางสาววิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วนสายงานธุรกิจที่ปรึกษา บริษัท PwC Consulting (ประเทศไทย) หรือไพร้ซฯ เปิดเผยถึงผลสำรวจ Blurred Lines: How FinTech is shaping Financial Services ในกลุ่มธุรกิจการเงินและ ผลกระทบต่อผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม ผ่านสำรวจความคิดเห็น ซีอีโอ หัวหน้าสายงานนวัตกรรม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายสารสนเทศ และผู้บริหารระดับสูงที่มีความเชี่ยวชาญ ด้านการเงิน ดิจิทัล และเทคโนโลยี จำนวน 544 ราย จาก 46 ประเทศ
พบว่า 'ฟินเทค' กำลังเป็นกระแส ที่เข้ามาเปลี่ยนโฉมอุตสาหกรรมทางการเงินทั่วโลก โดยผู้ประกอบการในตลาดธุรกิจให้บริการการเงินรวมทั้งไทย ต่างหันมาลงทุนในฟินเทคมากขึ้น คาดว่า ภายใน 3-5 ปีจากนี้ จะมีเม็ดเงินจำนวนมหาศาลถึง 1.5 แสนล้านดอลลาร์ หรือ 5.3 ล้านล้านบาท ไหลเข้ามาลงทุนในธุรกิจฟินเทค
ข้อมูลของ PwC's DeNovo platform ยังพบว่า ปี 2558 ที่ผ่านมา เม็ดเงินลงทุนของ อุตสาหกรรมฟินเทคขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่า เท่าตัวจาก 5.6 พันล้านดอลลลาร์ หรือเกือบ 2 แสนล้านบาท เป็น 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือกว่า 4.3 แสนล้านบาท และ ผู้บริหารสถาบันการเงินแบบดั้งเดิมกว่า 83% เชื่อว่า ธุรกิจบริการทางการเงินของตนเสี่ยงที่จะเสียผลประโยชน์ไม่ด้านใดก็ด้านหนึ่งให้ฟินเทค ผู้บริหารในกลุ่มธุรกิจธนาคารพาณิชย์กังวลสูงสุดถึง 95% ขณะที่ 23% ของผู้บริหารภาคธุรกิจการเงินยังมองว่า บริษัทมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากการเติบโตของกลุ่มธุรกิจฟินเทคอย่างมีนัยสำคัญ
ข่าวเด่น