ไอที
Priceza เผยเทรนด์ร้อนตลาดอีคอมเมิร์ซปี 2559




 


Priceza ผู้นำในด้านบริการเปรียบเทียบราคาสินค้าสำหรับนักช้อปในเมืองไทยและอีก 5 ประเทศทั่วภูมิภาคอาเซียน เผย 5 เทรนด์ร้อนแรงที่จะเป็นตัวกำหนดทิศทางตลาดอีคอมเมิร์ซของไทยตลอดปี 2559 นี้ พร้อมแนะนำผู้ประกอบการให้เร่งปรับตัวเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลง

“ทุกวันนี้ แนวคิดที่ว่าโลกธุรกิจต้องขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีได้กลายเป็นคำพูดที่ดาษดื่นจนแทบจะไม่ต้องย้ำกันแล้ว” นายธนาวัฒน์ มาลาบุปผา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง Priceza กล่าว “แต่ในทางกลับกัน ดูเหมือนว่ายังมีธุรกิจอีกจำนวนมากที่ยังไม่สามารถปรับทิศทางของตนเองให้เข้ากับโลกยุคนี้ได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะในวงการค้าปลีกออนไลน์ ที่ต้องคอยขยับขยายและเปลี่ยนแปลงกันไม่หยุดยั้งเพื่อไล่จับกับเทรนด์ต่างๆ ให้ทัน ทั้งในฝั่งของผู้บริโภคและกลยุทธ์จากแบรนด์สินค้ามากมายในตลาด”
 
 
 
 
“แต่แน่นอนว่าการรับรู้ถึงเทรนด์เพียงอย่างเดียวคงไม่สามารถช่วยให้ผู้ประกอบการเดินหน้าสู่ความสำเร็จได้อย่างที่หวัง เพราะการจะเป็น “ผู้ชนะ” ในโลกอีคอมเมิร์ซยุคนี้ ต้องอาศัยกลยุทธ์ที่ทั้งรวดเร็ว ฉับไว ตรงเป้า และมองการณ์ไกล” นายธนาวัฒน์กล่าวเสริม

สำหรับเทรนด์หลักที่น่าสนใจทั้ง 5 ในวงการอีคอมเมิร์ซปี 2559 มีดังต่อไปนี้
 
1. “Brand.com” – เมื่อแบรนด์เบนเข็ม เข้าหาลูกค้าโดยตรง
 
ฐานผู้ใช้อินเตอร์เน็ตที่กว้างขวางขึ้นทุกวัน และแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ ที่แทรกซึมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันได้อย่างกลมกลืน ได้จุดประกายให้หลายแบรนด์เลือกที่จะเดินหน้าเข้าหาลูกค้าโดยตรงผ่านทางช่องทางต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการก้าวข้ามตัวกลางในเชิงสื่อเพื่อโฆษณาสินค้า หรือการเปิดช่องทางจัดจำหน่ายสินค้าให้ถึงมือลูกค้าได้โดยตรง
 
 
 

สำหรับผู้ประกอบการเอง ในฐานะที่มีบทบาทเข้าถึงผู้บริโภคโดยตรงอยู่แล้วเป็นทุนเดิม ก็สามารถใช้ฐานข้อมูลลูกค้าในมือเพื่อสร้างหรือรักษาความได้เปรียบเอาไว้ เช่นการปรับแผนการตลาดให้สะท้อนถึงทิศทางพฤติกรรมในกลุ่มฐานลูกค้าอย่างชัดเจนขึ้น หรือการเปิดช่องทางเพิ่มเติมเพื่อการสื่อสารและให้บริการกับลูกค้าอย่างเป็นกันเอง นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังอาจเลือกใช้ความยืดหยุ่นที่สูงกว่าในด้านการตั้งราคาสินค้ามาเป็นอาวุธในการแข่งขันก็ได้เช่นกัน

 
 
2. สิ้นสุดเส้นแบ่งออฟไลน์-ออนไลน์
นอกจากแบรนด์เจ้าของสินค้าแล้ว อีกหนึ่งกลุ่มธุรกิจที่หันมาใช้ช่องทางออนไลน์ในการขยายตลาดก็คือกลุ่มผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่ในโลกออฟไลน์ เช่นห้างสรรพสินค้าเป็นต้น จากการเปรียบเทียบข้อมูลแล้ว พบว่าเมืองไทยมีคนเข้าเว็บไซต์มากกว่าคนเดินห้างถึง 41 เท่า จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่จะไม่พลาดโอกาสในการจับจองส่วนแบ่งตลาดในช่องทางออนไลน์ไว้
 
 

แน่นอนว่าผู้เล่นรายใหญ่เหล่านี้จะมีข้อได้เปรียบเหนือกว่าผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซทั่วไปในหลายด้าน ทั้งในแง่ของสินค้าที่มีให้เลือกซื้อ งบประมาณเชิงการตลาด และฐานข้อมูลลูกค้าขนาดใหญ่ แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซสามารถทำได้เพื่อรับมือกับเทรนด์นี้ก็คือการแสดงความเป็น “ผู้รู้” ในตลาดหรือประเภทสินค้าที่ตนเองมุ่งเน้นและเชี่ยวชาญ แนะนำสินค้าที่เป็นประโยชน์หรือไฮไลท์คุณสมบัติที่ผู้ใช้ตัวจริงเท่านั้นถึงจะทราบให้ผู้บริโภคได้รับรู้ ทั้งหมดนี้จะช่วยให้ธุรกิจของคุณดูมีบุคลิกที่แตกต่างจากห้างสรรพสินค้าทั่วไป เปิดกว้างและเข้าถึงได้ง่าย จนเป็นมากกว่าเพียงแค่ช่องทางการซื้อขายผลิตภัณฑ์เท่านั้น
 
 

3. ลบล้างทุกพรมแดนกับ “เส้นทางสายไหม 2.0”
หลังจากที่อินเตอร์เน็ตและโมบายบรอดแบนด์ได้ลบล้างข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูลความรู้ลงไป คราวนี้ก็เป็นตาของขอบเขตด้านการค้ากันบ้าง โดยเริ่มกันที่เรื่องของรูปแบบการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน

ปัจจุบันนี้ จากเงินทุกๆ 100 บาทที่คนไทยใช้จ่ายในแต่ละวัน พบว่ามีเพียง 50 สตางค์เท่านั้นที่เป็นการใช้จ่ายบนช่องทางออนไลน์ จริงอยู่ว่าตัวเลขนี้อาจจะฟังดูน้อยนิดเหลือเกิน แต่มูลค่ารวมของตลาดอีคอมเมิร์ซไทยในปัจจุบันก็ยังสูงถึง 4.2 หมื่นล้านบาท  และมีแนวโน้มที่จะเติบโตแบบก้าวกระโดดในอนาคตอันใกล้ หากเราลองชายตามองไปยังประเทศที่พัฒนาแล้ว ก็จะพบว่าตลาดอีคอมเมิร์ซที่แข็งแกร่งอาจมีอัตราส่วนการใช้จ่ายสูงถึง 10% จากยอดรวมทั้งหมด จึงอาจกล่าวได้ว่าการซื้อขายสินค้าในโลกออนไลน์เป็นช่องทางที่ล้ำค่า ไม่ต่างจากเส้นทางสายไหมที่จุดประกายสร้างความรุ่งเรืองให้กับประเทศจีนเมื่อหลายศตวรรษก่อน
 
 
 

ส่วนในแง่ของขอบเขตพรมแดนทางการค้า ตลาดอีคอมเมิร์ซก็เปิดช่องทางให้ผู้ประกอบการทุกรายสามารถออกไปรุกตลาดต่างประเทศได้ง่ายขึ้น แต่ในทางกลับกัน ตลาดในบ้านเราก็ต้องรับมือกับการมาถึงของผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซรายใหญ่จำนวนมาก โดยเฉพาะยักษ์สัญชาติจีนอย่าง JD, Alibaba หรือ Lightinthebox ที่หันมารุกตลาดอาเซียนกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา

ปัจจุบัน ผู้ประกอบการชาวไทยหลายรายได้นำเทรนด์นี้มาพลิกเป็นโอกาสด้วยการเปลี่ยนเว็บอีคอมเมิร์ซต่างชาติเหล่านี้ให้กลายเป็นแหล่งซื้อหาสินค้าเข้ามาป้อนตลาดในเมืองไทยต่อไป จนเกิดเป็นชุมชนย่อมๆ ของนักช้อปที่โปรดปรานในสินค้านำเข้าราคาคุ้มค่าจากแหล่งเหล่านี้
 

4. ปั้นฐานลูกค้า ในยุค “คอนเทนต์” ครองเมือง
ในการเลือกซื้อสินค้าสักชิ้น คงไม่มีอะไรที่สำคัญไปกว่าข้อมูลของสินค้านั้นๆ ที่พบได้ ณ จุดขาย ดังนั้น ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซจึงต้องปั้นแต่งเนื้อหาบนหน้าร้านให้น่าสนใจ เพราะคอนเทนต์เหล่านี้มีบทบาทเป็นเหมือนกับพนักงานขายในโลกดิจิตอลนั่นเอง

นอกเหนือจากเนื้อหาประเภทข้อความหรือโฆษณาทั่วไปแล้ว ธุรกิจอีคอมเมิร์ซยังสามารถสร้างความแตกต่างและเติมสีสันให้กับประสบการณ์การช้อปของลูกค้า ผ่านทางรูปแบบการนำเสนอที่หลากหลายและโดนใจผู้บริโภค นับตั้งแต่เรื่องง่ายๆ อย่างการเปิดบล็อกเพื่อแบ่งปันเนื้อหาสาระเกี่ยวกับสินค้าบางประเภท บอกเล่าประสบการณ์การใช้งานผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ หรือการถ่ายทำรีวิวสินค้าในรูปแบบวิดีโอ เป็นต้น ส่วนการเพิ่มเติมคอนเทนต์เชิงกิจกรรมให้ลูกค้าสามารถโต้ตอบกับธุรกิจของคุณได้ เช่นการเปิดรับรีวิวสินค้าจากผู้ใช้จริง หรือลูกเล่นอย่างการทำโปรโมชั่นแบบเปิดโพลล์ให้เลือกสินค้าลดราคาชิ้นถัดไป ก็เป็นอีกหนึ่งเทคนิคที่ช่วยสานสัมพันธ์ระหว่างธุรกิจกับลูกค้าได้เป็นอย่างดี

5. ลูกค้าอยู่ที่ไหน ไปที่นั่น
หากเราหยุดมองว่าในหนึ่งวัน มีการรับข้อมูลข่าวสารจากช่องทางใดบ้าง ก็คงจะต้องนับกันจนมือเป็นระวิง สำหรับผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซ การนำสินค้าไปปรากฎอยู่บนช่องทางต่างๆ ที่หวังผลได้ให้มากที่สุดก็เป็นอีกกลยุทธ์ในการสร้างรายได้และการเติบโต โดยนอกจากเว็บไซต์หลักและหน้าร้านที่เป็นตลาดใหญ่แล้ว ยังควรพิจารณาช่องทางโซเชียลมีเดียและเว็บไซต์เปรียบเทียบราคา รวมถึงวิธีการสื่อสารที่แตกต่าง พร้อมดึง เช่นการจัดดีลพิเศษที่แจ้งเตือนถึงมือลูกค้า เป็นต้น
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 31 มี.ค. 2559 เวลา : 11:03:44
28-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 28, 2024, 4:45 pm