ยังคงเนื้อหอมอย่างต่อเนื่องสำหรับสื่อโฆษณาดิจิทัล หลังจากพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนหันมาเสพติดเทคโนโลยีมากขึ้น ส่งผลให้การทำตลาดผ่านช่องทางออนไลน์โดยเฉพาะการสร้างแบรนด์และการโฆษณาสินค้าได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากแนวโน้มที่ดีดังกล่าว ทำให้อุตส่หกรรมโฆษณาดิจทัลมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องดูได้จากเม็ดเงินที่ไหลเข้าในสื่อโฆษณาดิจิทัลตั้งแต่ปี 2555 มีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 2,783 ล้านบาท เติบโตจากปี 2554 ที่ 53% ต่อมาปี 2556 มีมูลค่าเพิ่มเป็น 4,248 ล้านบาท เติบโต 44% ปี 2557 มีมูลค่า 6,115 ล้านบาท เติบโต 32% ปี 2558 มีมูลค่า 8,084 ล้านบาท เติบโต 23% และปี 2559 คาดว่าจะมีมูลค่าอยู่ที่ 9,927 ล้านบาท หรือ 10,000 ล้านบาท หากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจเอื้ออำนวยให้เจ้าของสินค้าออกมาใช้งบทำการตลาดมากขึ้น
ทั้งนี้ จากผลการสำรวจของเอเยนซี่ชั้นนำจำนวน 23 รายเกี่ยวกับการใช้งบผ่านสื่อโฆษณาดิจิทัลในปี 2558 ที่ผ่านมา กลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้งบโฆษณากับสื่อดิจิทัลมากที่สุดยังคงเป็นกลุ่มสื่อสาร โดยในปีที่ผ่านมามีการใช้งบโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัลมากกว่า 974 ล้านบาท
ตามด้วยกลุ่มยานยนต์มีการใช้งบอยู่ที่ประมาณ 918 ล้านบาท กลุ่มเครื่องผลิตภัณฑฺดูแลผิวใช้งบอยู่ที่ประมาณ 595 ล้านบาท กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมใช้งบที่ประมาณ 567 ล้านบาท และอันดับ 5 คือกลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมใช้งบที่ประมาณ 513 ล้านบาท ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการใช้เม็ดเงินโฆษณาดิจิทัลเพิ่มในมูลค่าสูงที่สุดเทียบจากปี 2557 คือ กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม มีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นถึง 400 ล้านบาท
นายนรสิทธ์ สิทธิเวชวิจิตร กรรมการสมาคมโฆษณาดิจิทัล กล่าวว่า สัดส่วนการใช้งบโฆษณาในปลายปี 2558 ยังคงมีการใช้งานเพิ่มขึ้น โดยในกลุ่มธุรกิจสื่อสารยังคงเป็นกลุ่มที่มีการใช้งานโฆษณาดิจิทัลสูงสุด แม้ว่าปี 2558 ที่ผ่านมาจะมีการชะลอการใช้งบไปในช่วงไตรมาส 4 เนื่องจากมีการประมูลคลื่นความถี่ จึงทำให้งบโฆษณาที่เคยใช้ค่อนข้างมากหมายไปในช่วงเวลาดังกล่าว
แต่อย่างไรก็ตาม หลังจากการประมูลคลื่นความถี่เสร็จสิ้นลงในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ขณะนี้กลุ่มธุรกิจสื่อสารเริ่มกลับมาใช้งบโฆษณาดิจิทัลเหมือนเดิมแล้ว ขณะเดียวกันมีแนวโน้มจะใช้มากขึ้น เนื่องจากการแข่งขันของธุรกิจดังกล่าวยังคงมีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากแนวโน้มที่เกิดขึ้นดังกล่าวส่งผลให้กลุ่มธุรกิจสื่อสารยังคงเป็นกลุ่มที่มีการใช้จ่ายในโฆษณาดิจิทัลมากสุดในปี 2559 ต่อไป
ส่วนในด้านของรูปแบบการโฆษณา Facebook และ Google ยังคงเป็นสื่อที่ผู้ลงโฆษณาใช้มากที่สุดและยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในปี 2558 แม้ว่าจะมี LINE และเว็บไซต์ชั้นนำของไทยอย่าง Sanook และ Mthai เข้ามาร่วมชิงเค้กเม็ดเงินโฆษณา ด้วยการปรับตัวเพื่อเพิ่มขีดการแข่งขัน แต่ Facebook และ Google ก็ยังคงเป็นช่องทางที่เจ้าของสินค้าให้ความสนใจมากที่สุดในปีที่ผ่านมาและต่อนเองมาจนถึงปี 2559 นี้
จากความนิยมดังกล่าวถือว่าสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกับผลสำรวจตามประเภทของการใช้สื่อออนไลน์ ที่พบว่า Facebook ยังคงเป็นรูปแบบของสื่อโฆษณาที่ครองส่วนแบ่งงบโฆษณาดิจิทัลสูงสุด โดยในปี 2558 ที่ผ่านมาสามารถครองส่วนแบ่งงบได้มากถึง 24% ของยอดการใช้จ่ายทั้งหมด ซึ่งเติบโตแบบก้าวกระโดดที่ 95% จากปี 2557 โดยกลุ่มสินค้าที่ให้ความสนใจเข้ามาโฆษณาผ่าน Facebook คือ กลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลผิว ส่วนรูปแบบของสื่อโฆษณาที่มีสัดส่วนยอดใช้จ่ายรองลงมาคือ Display มียอดการใช้อยู่ที่ประมาณ 21 % และตามติดด้วย YouTube 20% โดย YouTubeเติบโตเพิ่มขึ้นจากปี 2557 ถึง 87%
นายนรสิทธ์ กล่าวว่า ภาพรวมสื่อโฆษณาดิจิทัลในปี 2559 นี้คาดการณ์ว่า แนวโน้มของเม็ดเงินโฆษณาดิจิทัลน่าจะปรับตัวสูงขึ้นอีก 23% จากปี 2558 หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 9,927 ล้านบาท แต่หากเศรษฐกิจฟื้นตัวเจ้าของสินค้าหันมาใช้งบมากขึ้นมูลค่าของสื่อโฆษณาดิจิทัลในสิ้นปีนี้อาจถึง 10,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราส่วนประมาณ 8-10% ของภาพรวมอุตสาหกรรมโฆษณาทั้งหมด โดยกลุ่มสินค้าที่คาดว่าจะใช้งบมากที่สุดยังคงเป็นกลุ่มสื่อสาร ซึ่งปีนี้คาดว่าจะใช้งบประมาณ 1,304 ล้านบาท ตามด้วยกลุ่มยานยนต์ 1,228 ล้านบาท กลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลผิว 691 ล้านบาท กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม 653 ล้านบาท และกลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม 592 ล้านบาท
นายศิวัตร เชาวรียวงษ์ นายกสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) กล่าวว่า ความนิยมในการบริโภคสื่อดิจิทัลของคนไทยสูงขึ้นมาก หลังจากที่ผู้บริโภคสามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงได้ผ่านทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ ทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ผ่านอินเตอร์เน็ตได้ง่ายขึ้น ซึ่งรูปแบบที่คนไทยให้ความสนใจในขณะนี้ คือ วีดีโอ เพราะหลังจากอินเตอร์เน็ตมีความเร็วสูงขึ้นทำให้การดูวีดีโอไม่สะดุด และสามารถดูได้ทุกที่ ทุกเวลา ซึ่งจากความต้องการที่เกิดขึ้นดังกล่าว ส่งผลให้นักการตลาดต้องออกมาใช้สื่อดิจิทัลเป็นช่องทางในการสื่อสารโฆษณาในรูปแบบของวิดีโอนี้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค จากเดิมจะใช้จ่ายเงินโฆษณาในสื่อหลักอย่างทีวีเป็นส่วนใหญ่
สำหรับกลุ่มสินค้าที่น่าจับตามองในปีนี้ คือ ประกันภัย เนื่องจากสามารถหวังผลยอดขายได้จากการใช้สื่อโฆษณาดิจิทัล เช่นเดียวกับกลุ่มสถาบันการเงิน และกลุ่มค้าปลีก ที่เริ่มหันมาใช้สื่อดิจิทัลทำการตลาดมากขึ้น เนื่องจากสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ตรงจุด ขณะเดียวกันยังสามารถทำการขายสินค้าได้ในทันทีที่มีการใช้สื่อโฆษณาดิจิทัล ซึ่งจากแนวโน้มที่ดีดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบการค้าปลีกเริ่มปรับตัวหันมาขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น
นอกจากนี้ กลุ่มหน่วยงานภาครัฐก็เป็นอีกกลุ่มที่น่าจับตามอง เนื่องจากปีที่ผ่านมามีการใช้งบโฆษณาดิจิทัลเติบโตมากถึง 992% ส่วนอีกหนึ่งกลุ่มที่เริ่มมีการใช้งบผ่านสื่อดิจิทัลมากขึ้น คือ กลุ่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยในปีที่ผ่านมามีการใช้งบโฆษณาเติบโตมากถึง 513% ตามด้วยสถาบันการเงินใช้งบโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัลเติบโต 322%
ด้าน น.ส. อาภาภัทร บุญรอด ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มคันตาร์ ประเทศไทย กล่าวว่า ผลสำรวจเม็ดเงินโฆษณาดิจิทัลในปีนี้ได้จัดทำขึ้นในมิติที่หลากหลายและแตกต่างไปจากปีที่ผ่านมา จากรูปแบบการทำวิจัยทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพควบคู่กันเพื่อให้สามารถสะท้อนภาพเชิงลึกได้ดียิ่งขึ้น เช่น การลงรายละเอียดในข้อมูลเกี่ยวกับโซเชียล มีเดีย แพลทฟอร์ม อย่าง Facebook, Instagram, YouTube และ Twitter โดยเฉพาะ หรือ ข้อมูลเฉพาะในลักษณะของรูปแบบการซื้อแบบ Direct, Ad Network หรือ Programmatic ทั้งในรูปแบบของรายงานและข้อมูลดิบโดยทาง ทีเอ็นเอส ประเทศไทยได้มีการพัฒนาเครื่องมือในการสำรวจเชิงปริมาณให้มีความแม่นยำ ถูกต้อง และรวดเร็วมากขึ้น
นอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การสำรวจในครั้งนี้ ทีเอ็นเอส ประเทศไทย ยังได้ดำเนินการจัด Workshop ให้ผู้ประกอบการธุรกิจโฆษณาดิจิทัล ได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และทำความเข้าใจวิธีการเข้าร่วมการสำรวจผ่านระบบดิจิทัล ซึ่งเป็นระบบที่สามารถรักษาความลับของข้อมูลในระดับสูงสุด อีกทั้งยังมีระบบการตรวจทานข้อมูล (Information Verification System) ก่อนส่งแบบสำรวจ ทำให้ข้อมูลมีความถูกต้องมากขึ้นกว่าครั้งที่ผ่านมา โดยเล็งเห็นว่าข้อมูลงบประมาณและการใช้จ่ายด้านสื่อต่างๆ เป็นข้อมูลที่สำคัญต่อนักการตลาด และนักโฆษณาประชาสัมพันธ์ ในการตัดสินใจทางธุรกิจ
ปัจจุบันสื่อดิจิทัลมีบทบาทต่อผู้บริโภคในการสร้างการรับรู้ต่อตราสินค้า บริการ และการตัดสินใจซื้อเป็นอย่างมาก โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ภายหลังการเข้ามาของสมาร์ทโฟนในประเทศไทย การบริโภคสื่อหลักของผู้บริโภคก็ได้มีการแบ่งสัดส่วนการบริโภคให้กับสื่อดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น แต่เนื่องจากงบประมาณของแต่กลุ่มธุรกิจยังคงใช้จ่ายอยู่ในวงจำกัด ส่งผลให้นักการตลาดและเอเยนซี่โฆษณา ต้องหันมาทำความเข้าใจในพฤติกรรมของผู้บริโภค ควบคู่ไปกับช่องทางการใช้สื่อ ว่าช่องทางใดเหมาะกับกลุ่มเป้าหมายแบบใด เพราะปัจจุบันเจ้าของต้องการประสิทธิภาพทางการขายมากกว่าการสร้างแบรนด์ให้เข้าไปอยู่ในใจของผู้บริโภค
ข่าวเด่น