วิลลิส ทาวเวอร์ส วัทสัน (NASDAQ: WLTW) บริษัทที่ปรึกษา โบรกเกอร์ และโซลูชั่นส์ชั้นนำระดับโลก เผยผลสำรวจประจำปีเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของอัตราเงินเดือน (General Industry Total Rewards Survey) พบว่า การปรับอัตราเงินเดือนสำหรับลูกจ้างในกลุ่มอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ของประเทศไทยในปี 2559 จะเพิ่มสูงขึ้นจากปีก่อน
ผลสำรวจยังครอบคลุมถึงแนวโน้มด้านทรัพยากรบุคคลและค่าตอบแทนล่าสุดของประเทศไทยอีกด้วย โดยข้อค้นพบที่น่าสนใจด้านการปรับอัตราเงินเดือน เงินเดือนขั้นต้น อัตราการเข้า-ออกของพนักงาน และการจ่ายโบนัส พบว่า
- การปรับอัตราเงินเดือนเฉลี่ยจากปี 2558 ถึงปี 2559 คาดว่าจะอยู่ระหว่างร้อยละ 5 - 7 ตามแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม โดยคาดการณ์ว่ากลุ่มประกันภัยจะมีการปรับเพิ่มต่ำสุด และกลุ่มไฟฟ้า/พลังงานจะปรับเพิ่มสูงสุด พัฒนาการของอัตราร้อยละเปรียบเทียบระหว่างปีอยู่ในระดับเท่าเดิมหรือดีขึ้นในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ยกเว้นกลุ่มไฮเทค ซึ่งมีอัตราการปรับเพิ่มในปี 2559 ลดลงจากปี 2558 เล็กน้อย
- เงินเดือนขั้นต้นอันดับสูงสุดสำหรับผู้ที่เพิ่งจบการศึกษาคือ ด้านวิศวกร เทคโนโลยีสารสนเทศ การเงินและบัญชี และซัพพลายเชน ในภาคอุตสาหกรรมเหล่านี้ บัณฑิตจบใหม่อาจจะคาดหวังเงินเดือนอยู่ในระดับ 15,000 - 26,000 บาท ในขณะที่ผู้จบการศึกษาระดับปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจสามารถขอเงินเดือนอยู่ในช่วงระหว่าง 18,000 – 33,000 บาท
- โบนัสในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมค่อนข้างแตกต่างกัน ซึ่งอาจเริ่มต้นจากร้อยละ 14 ของเงินเดือนตลอดปีที่ให้กับลูกจ้างในกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (1.7 เดือน) ถึงร้อยละ 37 (4.4 เดือน) ในกลุ่มบริหารสินทรัพย์ ส่วนตัวอย่างอื่น ๆ ได้แก่ กลุ่มไฟฟ้า/พลังงาน (4 เดือน) กลุ่มบริการการเงิน และกลุ่มประกันชีวิต (2.6 เดือน) กลุ่มประกันภัย (2.3 เดือน) กลุ่มอุตสาหกรรมทั่วไป (2.2 เดือน) และกลุ่มไฮเทค (1.9 เดือน)
- ในปี 2558 กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีอัตราการเข้า-ออกของพนักงานสูงสุด ได้แก่ กลุ่มประกันชีวิต (ร้อยละ 20) กลุ่มบริหารสินทรัพย์ (ร้อยละ 17) และกลุ่มไฮเทค (ร้อยละ 15) โดยอัตราการเข้า-ออกของพนักงานเฉลี่ยในทุกกลุ่มอุตสาหกรรมลดลงเหลือร้อยละ 14 จากร้อยละ 15 ในปี 2557
ผลสำรวจประจำปีเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของอัตราเงินเดือน ประจำปี 2558 ดำเนินการเก็บข้อมูลในเดือนพฤศจิกายน 2558 โดยทำการสำรวจบริษัททั้งสิ้น 226 แห่ง ครอบคลุมกลุ่มอุตสาหกรรมและบริการหลายกลุ่ม ซึ่งรวมทั้งไฟฟ้า/พลังงาน อิเล็กทรอนิกส์และไฮเทค ไปจนถึงบริหารสินทรัพย์ บริการการเงิน และประกันชีวิต/ประกันภัย
ทางด้านแนวโน้มสวัสดิการพนักงาน ผลการสำรวจจาก "รายงานเรื่องสวัสดิการพนักงานในกลุ่มอุตสาหกรรมทั่วไปในประเทศไทย ประจำปี 2558" โดยวิลลิส ทาวเวอร์ส วัทสัน (2015 Benefits Design Practices Report for General Industry in Thailand) เผยว่า สวัสดิการด้านการดูแลสุขภาพ การลาหยุด และสวัสดิการเพื่อคุ้มครองความเสี่ยง ทุกบริษัทมีมอบให้กับพนักงาน ตามมาด้วยสวัสดิการการเกษียณอายุ (ร้อยละ 85 ของบริษัททั้งหมด) สวัสดิการด้านสุขภาพ (ร้อยละ 73 ของบริษัททั้งหมด) สวัสดิการด้านอาหาร (ร้อยละ 22 ของบริษัททั้งหมด) และสวัสดิการแบบยืดหยุ่นอื่น ๆ (ร้อยละ 6 ของบริษัททั้งหมด)
ตามรายงานวิจัยที่ผ่านมาของวิลลิส ทาวเวอร์ส วัทสัน เรื่อง "แนวโน้มทรัพยากรบุคคลและประเด็นท้าทายของอุตสาหกรรมต่าง ๆ ประจำไตรมาสที่ 1 ปี 2558" (2015 Q1 Flash Survey: HR Trends and Challenging Issues for General Industry) การสร้างความผูกพันของพนักงานต่อองค์กรเป็นความท้าทายอันดับแรกของบริษัท ตามมาด้วยการรักษาพนักงานที่มีความสามารถให้อยู่กับองค์กร งานวิจัยยังชี้ให้เห็นว่าพนักงานให้ความสำคัญกับความเป็นผู้นำ และอิทธิพลของผู้นำต่อองค์กร ดังนี้
- บทบาทความเป็นผู้นำที่สำคัญที่สุดคือ การขับเคลื่อนธุรกิจ (ร้อยละ 40) ตามมาด้วยการสร้างแรงบันดาลใจหรือช่วยให้พนักงานเติบโต (ร้อยละ 35) การสร้างความผูกพันกับพนักงาน (ร้อยละ 23) และบริหารควบคุมองค์กร (ร้อยละ 2)
คุณพิชญ์พจี สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ บริษัท วิลลิส ทาวเวอร์ส วัทสัน ประเทศไทย อธิบายว่า "การสำรวจและวิจัยร่วมกับลูกค้าและพันธมิตรทางธุรกิจ ทำให้เรามีข้อมูลเชิงลึกในเรื่องแนวโน้มทรัพยากรบุคคลและผลตอบแทนสวัสดิการ ปัจจุบัน องค์กรที่ประสบความสำเร็จหลายแห่งรู้ว่าจะต้องพัฒนาคนและศักยภาพของพนักงานอย่างไร และพนักงานระดับบริหารที่เก่งจริง ซึ่งสามารถกำหนดเป้าหมายผลงานคุณภาพ และสามารถที่จะพัฒนาลูกน้องให้เติบโตในสายอาชีพได้นั้น กำลังเป็นที่ต้องการอย่างมาก และสิ่งที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุดในการสำรวจของเราคือ ความสำคัญของผู้นำที่จะริเริ่มและช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กรได้อย่างมีความหมาย"
ข่าวเด่น