แบงก์-นอนแบงก์
มองอิหร่านหลังนานาชาติปลดล็อกมาตรการคว่ำบาตร:EXIM BANK


 


ทันทีที่นานาชาติประกาศยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่ออิหร่านตามข้อตกลงนิวเคลียร์ที่อิหร่านและชาติมหาอำนาจ P5+1 ซึ่งประกอบด้วยสหรัฐอเมริกา เยอรมนี ฝรั่งเศส รัสเซีย สหราชอาณาจักร และจีน บรรลุร่วมกัน ส่งผลให้ ณ เวลานี้อิหร่านเตรียมกลับมาผงาดในเวทีโลกอีกครั้ง หลังจากเคยทรงอิทธิพลในธุรกิจน้ำมันมาเป็นเวลานาน ทั้งนี้ หากพิจารณาศักยภาพของอิหร่านในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของภูมิภาคตะวันออกกลาง รองจากซาอุดีอาระเบีย และมีแนวโน้มเติบโตอย่างแข็งแกร่ง การมีจุดยืนทางการเมืองที่เป็นอิสระไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด และความสัมพันธ์กับนานาประเทศเริ่มดีขึ้นเป็นลำดับ จึงมีความเป็นไปได้ที่อิหร่านจะพลิกโฉมเป็นตลาดการค้าและแหล่งลงทุนเนื้อหอมที่นักธุรกิจจากทั่วทุกมุมโลกอยากเข้าไปแสวงหาโอกาสการค้าการลงทุนทันทีที่ตลาดเปิดกว้าง
 

เศรษฐกิจอิหร่านหลังถูกยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร
 
 
ในช่วงระหว่างปี 2554-2558 อิหร่านถูกดำเนินมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากสหรัฐฯ สหภาพยุโรป (European Union : EU) และองค์การสหประชาชาติ (The United Nations : UN) ส่งผลให้เศรษฐกิจอิหร่านหดตัวเฉลี่ย 1.4% ต่อปี อย่างไรก็ตาม The Economist Intelligence Unit (EIU) คาดการณ์ว่าการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่ออิหร่านจะทำให้เศรษฐกิจอิหร่านในช่วงปี 2559-2563 ขยายตัวเฉลี่ยเกือบ 5% ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวสูงที่สุดในภูมิภาค สอดคล้องกับแถลงการณ์ของประธานาธิบดี Hassan Rouhani ของอิหร่านเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2559 ซึ่งมีใจความสำคัญให้ชาวอิหร่านคว้าโอกาสในช่วงที่เศรษฐกิจอิหร่านกำลังเติบโตแบบก้าวกระโดด พร้อมทั้งระบุว่าอิหร่านจะดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศมูลค่าราว 30-50 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วง 5 ปีข้างหน้า ซึ่งจะกระตุ้นให้เศรษฐกิจอิหร่านขยายตัวได้ถึง 8% ในช่วงดังกล่าว
 
 
นอกจากนี้ หลังจากมาตรการคว่ำบาตรถูกยกเลิก อิหร่านยังได้รับคืนสินทรัพย์ที่ถูกอายัดไว้ในต่างประเทศเป็นมูลค่าราว 29,000-100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งธนาคารกลางอิหร่าน (Bank Markazi) จะนำมาเสริมปริมาณทุนสำรองระหว่างประเทศให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันอิหร่านยังมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการกลับมาส่งออกน้ำมันได้อีกครั้ง ซึ่งคาดว่าจะทำให้อิหร่านสามารถทวงคืนตำแหน่งประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่อันดับต้นๆ ของโลกกลับมาได้ในไม่ช้า
 
 
อีกทั้งในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลอิหร่านตระหนักถึงข้อจำกัดของภาคอุตสาหกรรมน้ำมัน จึงให้ความสำคัญกับการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจเพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาในภาคอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่น้ำมันอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดการพึ่งพารายได้จากการส่งออกน้ำมัน จนปัจจุบันซึ่งเป็นช่วงที่เกิดภาวะราคาน้ำมันในตลาดโลกตกต่ำ อิหร่านจึงมีความได้เปรียบบรรดาประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคจากการมีภาคอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่น้ำมันที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ (อิหร่านเป็นตลาดยานยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค และอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่อันดับ 2 ของประเทศ รองจากอุตสาหกรรมน้ำมัน) อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร และอุตสาหกรรมเวชภัณฑ์
 
 
สะท้อนให้เห็นได้จากสัดส่วนรายได้ภาครัฐที่มาจากน้ำมันของอิหร่านในปีงบประมาณ 2558/59 อยู่ที่ 37.5% ของรายได้ภาครัฐทั้งหมด ซึ่งต่ำกว่าซาอุดีอาระเบีย (73%) และคูเวต (88%) ซึ่งทั้งสองประเทศยังพึ่งพารายได้จากน้ำมันเป็นหลัก ขณะที่รายได้ภาครัฐที่ไม่ได้มาจากน้ำมันของอิหร่านมีสัดส่วนสูงกว่า 60% ทั้งนี้ การปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจของอิหร่านที่ลดการพึ่งพาอุตสาหกรรมน้ำมันลง อาจทำให้หลายประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางเริ่มหันมาตามอย่างอิหร่านโดยเฉพาะในช่วงที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกตกต่ำ
 

นอกจากภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่แข็งแกร่งแล้ว อิหร่านยังมีภาคท่องเที่ยวที่มีศักยภาพและแนวโน้มเติบโตสดใส ซึ่งคาดว่าในอนาคตจะเป็นแหล่งรายได้สำคัญ โดยทางการอิหร่านคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเยือนอิหร่านจะเพิ่มขึ้นจากราว 4.5 ล้านคนในปัจจุบัน เป็น 20 ล้านคนภายในปี 2568 สร้างรายได้
ราว 25-30 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้นักลงทุนต่างชาติสนใจเข้าไปลงทุนธุรกิจท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่องในอิหร่าน ล่าสุด AccorHotels กลุ่มทุนโรงแรมรายใหญ่ของฝรั่งเศส เตรียมเปิดโรงแรมใหม่ 2 แห่งในกรุงเตหะราน เมืองหลวงของอิหร่าน และในอนาคตคาดว่าจะเข้าบริหารโรงแรมในอิหร่านกว่า 100 แห่ง ทั้งนี้ ภาคท่องเที่ยวของอิหร่านได้รับแรงเกื้อหนุนจากการมีแหล่งมรดกโลกที่ขึ้นทะเบียนกับ UNESCO จำนวน 19 แห่ง และมีสถานที่ที่ได้รับการขึ้นบัญชีเบื้องต้นเพื่อพิจารณาเป็นมรดกโลกในอนาคตอีก 49 แห่ง นอกจากนี้ อิหร่านยังมีแผนพัฒนาเมืองท่องเที่ยวในประเทศแห่งใหม่อีก 26 แห่งภายใต้แผนพัฒนาประเทศระยะ 5 ปี 
 

ความสัมพันธ์ของอิหร่านกับนานาประเทศดีขึ้นเป็นลำดับ
 
 
หากไม่นับรวมสหรัฐฯ และซาอุดีอาระเบียซึ่งขัดแย้งกับอิหร่านมาโดยตลอด ความสัมพันธ์ของอิหร่านกับนานาประเทศเริ่มดีขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะกับ EU สะท้อนได้จากการเดินทางเยือนอิตาลีและฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดี Hassan Rouhani ซึ่งเป็นการเดินทางเยือน EU ของประธานาธิบดีอิหร่านครั้งแรกในรอบ 16 ปี เพื่อกระชับความสัมพันธ์ด้านการค้าการลงทุนผ่านการลงนามในข้อตกลงร่วมกันหลายฉบับมูลค่า 55 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งทั้งสองฝ่ายตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกัน หลังจากมูลค่าการค้าระหว่าง EU และอิหร่านลดลงจาก 28 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2554 เหลือ 12.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2557 
 
 
นอกจากการกระชับความสัมพันธ์กับ EU แล้ว อิหร่านและชาติมหาอำนาจอีกหลายประเทศ อาทิ จีน ญี่ปุ่น และรัสเซีย ยังฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างกัน ล่าสุดประธานาธิบดี Xi Jingping ของจีน เดินทางเยือนอิหร่านอย่างเป็นทางการ นับเป็นประธานาธิบดีจีนคนแรกที่เดินทางเยือนอิหร่านในรอบ 14 ปี เพื่อลงนามความร่วมมือในการขยายการค้าการลงทุนร่วมกันเป็นมูลค่า 6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐภายใน 10 ปีข้างหน้า ขณะที่คณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจของญี่ปุ่นและบริษัทชั้นนำในญี่ปุ่น 21 แห่ง เดินทางเยือนอิหร่านในช่วงก่อนที่นานาชาติจะยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรต่ออิหร่าน เพื่อลงนามในข้อตกลงการค้าและการลงทุน โดยให้มีผลทันทีที่อิหร่านถูกยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร
 
 
อีกทั้งยังมีการหารือกับผู้ว่าการธนาคารกลางของอิหร่านเพื่อจัดทำเครื่องมือทางการเงินสำหรับสนับสนุนการค้าระหว่างกัน นอกจากนี้ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2558 ประธานาธิบดี Vladimir Putin ของรัสเซีย ได้เดินทางเยือนอิหร่านอย่างเป็นทางการ เพื่อลงนามในข้อตกลงขยายการค้าระหว่างกันที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น โดยรัสเซียเตรียมส่งออกขีปนาวุธเพื่อใช้ในการป้องกันประเทศไปอิหร่าน ขยายความร่วมมือในโครงการพลังงานนิวเคลียร์ และสั่งซื้อสินค้าอาหารจากอิหร่าน เพื่อทดแทนการนำเข้าจากตุรกี ยิ่งไปกว่านั้นทั้งสองประเทศยังได้เตรียมยกเลิกวีซ่าท่องเที่ยวระหว่างกันอีกด้วย


เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังจากอิหร่านถูกยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร เศรษฐกิจอิหร่านมีแนวโน้มเติบโตแบบก้าวกระโดด อีกทั้งโอกาสทางการค้าการลงทุนยังเปิดกว้าง แต่การทำการค้าและการเข้าไปลงทุนในอิหร่านยังมีความท้าทายรออยู่ท่ามกลางภาวะการแข่งขันในประเทศที่มีแนวโน้มสูงขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งนักลงทุนต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจในอิหร่าน พร้อมทั้งพึงระวังต่อข้อจำกัดในด้านต่างๆ
 
อาทิ อิหร่านใช้กฎหมายชารีอะห์ในการกำกับดูแลภาคการเงินและระบบธนาคารในประเทศ ซึ่งนักลงทุนต้องศึกษาและปรับเปลี่ยนการดำเนินงานให้สอดคล้องกับหลักปฏิบัติของกฎหมายดังกล่าว นอกจากนี้ อิหร่านยังมีปัญหาด้านโครงสร้างพื้นฐานในประเทศที่ไม่ได้รับการพัฒนา และความล้าหลังของระบบขนส่ง ซึ่งเป็นผลพวงจากการถูกนานาชาติคว่ำบาตรมาเป็นเวลานาน อย่างไรก็ตาม เป็นที่คาดว่าปัญหาดังกล่าวจะได้รับการแก้ไขโดยเร็ว เนื่องจากรัฐบาลอิหร่านมีนโยบายผลักดันการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน และดึงดูดนักลงทุนต่างชาติที่มีประสบการณ์ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ

ภาพ:EXIM BANK เป็นธนาคารไทยแห่งแรกที่พร้อมให้บริการทางการเงินสนับสนุนการค้ากับอิหร่าน
 
 
 
 

 นายมนัส แจ่มเวหา (ซ้าย) ประธานกรรมการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) และนายเขมทัศน์ สายเชื้อ (ขวา) รักษาการกรรมการผู้จัดการ EXIM BANK แถลงข่าวแก่สื่อมวลชน ณ EXIM BANK สำนักงานใหญ่ เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2559 ว่า EXIM BANKพร้อมให้การสนับสนุนทางการเงินและธุรกรรมระหว่างประเทศเพื่อสนับสนุนการค้าไทย-อิหร่านตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ซึ่งนับเป็นธนาคารแห่งแรกในไทยที่จะเปิดให้บริการดังกล่าวอย่างเป็นทางการและถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อสนองนโยบายรัฐบาลที่ตั้งเป้าหมายเพิ่มมูลค่าการค้าไทย-อิหร่าน จากประมาณ 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2558 เป็น 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายใน 5 ปีข้างหน้า ภายหลังคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (United Nations : UN) มีมติยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรต่ออิหร่านเมื่อเดือนมกราคม 2559 ที่ผ่านมา 



 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 05 เม.ย. 2559 เวลา : 17:04:17
10-01-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 10, 2025, 4:12 pm