หากคุณเป็นคนหนึ่งที่เคยมีอาการปวดตามจุดต่างๆ ของร่างกาย เนื่องจากการทำงานเป็นเวลานานหรือที่เรียกว่า ออฟฟิศซินโดรม (office syndrome) เช่น อาการปวดคอและบ่า ร้าวไปถึงศีรษะ ปวดหลังและปวดตึงต้นขา ฯลฯ และพยายามรักษาด้วยวิธีการต่างๆ แล้วก็ยังไม่หายนั้น เป็นเพราะระบบกระดูกและกล้ามเนื้อของคนเรามีความต่อเนื่องเชื่อมโยงกันทั้งร่างกาย เมื่อมีส่วนใดส่วนหนึ่งผิดปกติ ก็ย่อมส่งผลสู่อวัยวะอื่นในร่างกายด้วย เช่น คนที่มีอุ้งเท้าแบน (Flat feet) จะมีโอกาสปวดหัวเข่า สะโพก และหลัง ได้ง่ายกว่าปกตินั้นเอง
นพ.วรวัฒน์ เอียวสินพานิช แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพ โรงพยาบาลปิยะเวท กล่าวว่า "เวชศาสตร์ฟื้นฟูผสมผสานเป็นการนำข้อดีของศาสตร์การรักษาที่หลากหลายมาใช้ร่วมกัน และยังเป็นโปรแกรมการรักษาเฉพาะบุคคลที่ปรับให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย เช่น การตรวจสอบการลงน้ำหนักของเท้า การตรวจความสมดุลของโครงสร้างร่างกาย (Posture analysis) การออกกำลังกายเพื่อปรับสมดุลโครงสร้างร่างกาย การฝังเข็ม การนวดและกดจุดรักษา เวชศาสตร์ฟื้นฟูแบบผสมผสานนั้นไม่เพียงแต่ใช้ในการรักษาอาการหรือป้องกันการเกิดอาการซ้ำเท่านั้น แต่ยังช่วยให้สุขภาพโดยรวมของผู้ป่วยแข็งแรงขึ้น การดูแลผู้ป่วยด้วยวิธีนี้จึงจำเป็นต้องอาศัยทีมสหวิชาชีพ (Interdisciplinary team) ในการดูแลรักษา ได้แก่ แพทย์เวชศาตร์ฟื้นฟู นักกายภาพบำบัด นักกิจกรรมบำบัด นักกายอุปกรณ์ แพทย์แผนไทย โภชนากร ผู้เชี่ยวชาญการออกกำลังกายแบบ Pilate และโยคะ เป็นต้น โดยจะมีการกำหนดจุดมุ่งหมายร่วมกันระหว่างผู้ป่วยและทีมดูแลผู้ป่วย ให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน เพื่อให้การรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์และความพึงพอใจสูงสุด"
อย่างไรก็ดีการใช้งานร่างกายอย่างพอเหมาะพอดีในแต่ละวัน รู้จักผ่อนคลายกล้ามเนื้อ และบริหารกล้ามเนื้อในระหว่างวันก็เป็นสิ่งที่ควรทำเพราะจะช่วยบรรเทาอาการปวดได้ การดำเนินชีวิตประจำวันอย่างเหมาะสม นั่ง เดิน และเคลื่อนไหวร่างกายด้วยอิริยาบถที่ถูกต้อง ก็จะช่วยหลีกเลี่ยงโรคออฟิศซินโดรมได้อีกทางหนึ่งเช่นกัน
ข่าวเด่น