การพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อรองรับนโยบายรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อรองรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายในอนาคต เป็นสาเหตุหลักในการปรับขึ้นค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ โดยม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรม การค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างว่า ที่ประชุมบอร์ดค่าจ้างมีมติเห็นชอบกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรม รวม 20 สาขาอาชีพ คือ 1. กลุ่มไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์จำนวน 4 สาขา 2. กลุ่มชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ จำนวน 4 สาขา 3. ยานยนต์ จำนวน 4 สาขา 4. อัญมณี จำนวน 4 สาขา และ 5. โลจิสติกส์ จำนวน 4 สาขา
ขณะที่รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 29 มี.ค.ที่ผ่านมา มีมติรับทราบประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่องอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ (ฉบับที่ 5) ลงวันที่ 14 มี.ค. 2559 ตามที่ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เสนอ โดยประกาศฉบับดังกล่าวจะมีผล 90 วันนับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา หรือคาดว่าจะมีผลตั้งแต่เดือน ส.ค.เป็นต้นไป
ทั้งนี้ ประกาศฉบับนี้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 5 กลุ่มอุตสาหกรรม 20 สาขาอาชีพ และแบ่งเป็นสาขาละ 2 ระดับ เช่น กลุ่มไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 4 สาขา ประกอบด้วย พนักงานประกอบอุปกรณ์ไฟฟ้าและแสงสว่าง ระดับ 1 ไม่ต่ำกว่าวันละ 360 บาท และระดับ 2 ไม่ต่ำกว่าวันละ 430 บาท , พนักงานประกอบมอเตอร์สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้า ระดับ 1 ไม่ต่ำกว่าวันละ 370 บาท ระดับ 2 ไม่ต่ำกว่าวันละ 445 บาท และ ช่างเทคนิคบำรุงรักษาเครื่องจักรกล ระดับ 1 ไม่ต่ำกว่าวันละ 410 บาท ระดับ 2 ไม่ต่ำกว่าวันละ 490 บาท
กลุ่มชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ 4 สาขา ประกอบด้วย สาขาช่างกลึง ช่างเชื่อมมิก-แม็ก ช่างเทคนิคบำรุงรักษาเครื่องจักรกล ช่างเทคนิคเครื่องกลึงอัตโนมัติ ค่าจ้างเท่ากัน คือ ระดับ 1 ไม่ต่ำกว่าวันละ 400 บาท และระดับ 2 ไม่ต่ำกว่าวันละ 480 บาท
กลุ่มยานยนต์ 4 สาขา ประกอบด้วย ช่างเทคนิคพ่นสีตัวถัง ช่างเทคนิคพ่นซีลเลอร์ตัวถัง พนักงานประกันคุณภาพผลิตภัณฑ์ยานยนต์ (ขั้นสุดท้าย) ช่างเทคนิคเชื่อมสปอตตัวถัง อัตราค่าจ้างเท่ากัน คือ ระดับ 1 ไม่ต่ำกว่าวันละ 400 บาท และระดับ 2 ไม่ต่ำกว่าวันละ 480 บาท
กลุ่ม อัญมณี 4 สาขา ประกอบด้วย ช่างเจียระไนพลอย ช่างหล่อเครื่องประดับ ช่างตกแต่งเครื่องประดับ ช่างอัญมณีบนเครื่องประดับ อัตราค่าจ้างเท่ากัน คือ ระดับ 1 ไม่ต่ำกว่าวันละ 420 บาท และระดับ 2 ไม่ต่ำกว่าวันละ 550 บาท
และกลุ่มโลจิสติกส์ 4 สาขา ประกอบด้วย นักบริหารการขนส่งสินค้า ระดับ 1 ไม่ต่ำกว่าวันละ 415 บาท ระดับ 2 ไม่ต่ำกว่าวันละ 500 บาท ผู้ควบคุมรถยกสินค้าขนาดไม่เกิน 10 ตัน ระดับ 1 ไม่ต่ำกว่าวันละ 360 บาท ระดับ 2 ไม่ต่ำกว่าวันละ 430 บาท ผู้ควบคุมสินค้าคงคลัง ระดับ 1 ไม่ต่ำกว่าวันละ 350 บาท ระดับ 2 ไม่ต่ำกว่าวันละ 420 บาท ผู้ปฏิบัติการคลังสินค้า ระดับ 1 ไม่ต่ำกว่าวันละ 340 บาท ระดับ 2 ไม่ต่ำกว่าวันละ 410 บาท
ซึ่งการกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ จะทำให้แรงงานไทยมีรายได้ที่เหมาะสม เป็นธรรม สอดคล้องกับทักษะฝีมือ รวมถึงเป็นการส่งเสริมให้แรงงานมีการพัฒนาฝีมือแรงงานให้มีศักยภาพเป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ และรองรับนโยบายรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อรองรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายใน 2 รูปแบบ คือ การต่อยอด 5 อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ ซึ่งมีการลงทุนในประเทศอยู่แล้ว เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี การแปรรูปอาหาร และ 5 อุตสาหกรรมแห่งอนาคต
ด้านนายสมชาย พรจินดารักษ์ ประธานสมาพันธ์ อัญมณี เครื่องประดับ และโลหะมีค่าแห่งประเทศไทย ยอมรับว่า อุตสาหกรรมอัญมณีมีปัญหาการขาดแคลนแรงงานมากถึง 4 หมื่นคน ซึ่งในจำนวนนี้แบ่งเป็นแรงงานฝีมือระดับสูงประมาณ 20% แรงงานระดับกลาง30% และแรงงานระดับล่าง 50%
ข่าวเด่น