ในช่วงที่ต้นทุนทางการเงินอยู่ในระดับที่ลดต่ำลงมาก อัตราดอกเบี้ยนโยบายลดลงเหลือเพียง 1.5% และมีแนวโน้มที่จะทรงตัวไปตลอดทั้งปีนี้ ถือเป็นโอกาสดีที่จะกระตุ้นการลงทุนทั้งของภาครัฐและเอกชน ซึ่งนับเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปีนี้
โดยจะเห็นได้จากการให้นโยบายในด้านการลงทุน ที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่ระบุว่า ขณะนี้สัญญาณการลงทุนเริ่มเป็นบวก เห็นได้จากไตรมาส 1/2559 มียอดคำขอรับส่งเสริมการลงทุน 311 โครงการ คิดเป็นมูลค่า 8.99 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่าตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 2.6 หมื่นล้านบาท จำนวน 157 โครงการ
ซึ่งสะท้อนว่า บีโอไอเดินนโยบายมาถูกทางแล้ว โดยคำขอรับการส่งเสริมที่มีเข้ามากเป็นอันดับหนึ่งคือ ญี่ปุ่น คิดเป็น 30% ของมูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ส่วนใหญ่เป็นการผลิตชิ้นส่วนระบบเครื่องยนต์ 7.2 พันล้านบาท และการผลิตรถยนต์ 2.8 พันล้านบาท รองลงมาคือ เนเธอร์แลนด์ จีน เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ ที่มียอดคำขอรับส่งเสริมเข้ามาอย่างมีนัยสำคัญ จึงได้สั่งการให้บีโอไอตั้งทีมเฉพาะกิจเป็นเหมือนหน่วยรบพิเศษทำหน้าที่วิเคราะห์ ติดตามการยื่นคำขอรับการส่งเสริม เจาะลึกการลงทุนจริง แยกแยะอุปสรรค เพื่อวางแผนดึงดูดการลงทุนจาก 4 ประเทศดังกล่าวให้มากขึ้น จึงน่าจะทำให้มูลค่าคำขอรับส่งเสริมทั้งปีเกินเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ 4.5 แสนล้านบาท
ซึ่งนอกจากการลงทุนในระดับประเทศแล้ว รัฐบาลยังสนับสนุนการลงทุนท้องถิ่น โดยนางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการบีโอไอ เปิดเผยความคืบหน้ามาตรการส่งเสริมการลงทุนท้องถิ่น(โลคอล อินเวสเมนต์) ให้มีการลงทุน“1 ตำบล 1 กิจการ” กระจายใน 3 กิจการ ได้แก่ โรงงานแปรรูปเกษตร แหล่งท่องเที่ยวชุมชน และศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน ซึ่งคาดว่า ภายในเดือนเม.ย.นี้ บีโอไอจะออกประกาศส่งเสริมลงทุนในมาตรการดังกล่าวอย่างเป็นทางการ เพื่อบังคับใช้ตามกฎหมาย จากปัจจุบันอยู่ระหว่างตรวจสอบรายละเอียด
ซึ่งผลการหารือเบื้องต้นกับผู้ประกอบการรายใหญ่ที่สนใจลงทุน และจากการประเมินความพร้อมของวิสาหกิจชุมชนที่กระจายใน 7,000 ตำบล หรือกว่า 800 อำเภอทั้งประเทศ พบว่าได้รับความสนใจจากผู้ลงทุน บีโอไอจึงได้ตั้งเป้าหมายกิจการที่ขอส่งเสริมการลงทุนเป็นมากกว่า 1,000 ราย แบ่งเป็นกิจการแปรรูปเกษตร 900 แห่ง แหล่งท่องเที่ยวชุมชนมากกว่า 90 โครงการ และศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน 9 แห่ง
โดยมาตรการส่งเสริมการลงทุนท้องถิ่น คาดว่าจะแบ่งเป็น 3 แนวทางคือ แนวทางที่ 1 ส่งเสริมให้เกิดโรงงานแปรรูปผลิตผลการเกษตรสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตทางการเกษตรในท้องถิ่น โรงงานจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 ปี และการผ่อนปรนลดขนาดการลงทุนขั้นต่ำจาก 1 ล้านบาท เหลือ 1 แสนบาท และอนุญาตให้นำเครื่องจักรใช้แล้วในประเทศบางส่วนมาใช้ในโครงการได้
แนวทางที่ 2 ส่งเสริมกิจการศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน มีช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าที่มีประสิทธิภาพและเป็นแหล่งสนับสนุนการท่องเที่ยว ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี และแนวทางที่ 3 ส่งเสริมกิจการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชุมชน เพื่อสนับสนุนการสร้างจุดขายใหม่ๆ ด้านการท่องเที่ยว ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3-5 ปี
ข่าวเด่น