นางอรนุช อภิศักดิ์ศิริกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ (Mrs. Oranuch Apisaksirikul, Group Chief Executive) เปิดเผยว่า กลุ่มทิสโก้ประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2559 โดยมีกำไรสุทธิจากการดำเนินงาน จำนวน 1,255 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ลดลงจากร้อยละ 3.23 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นร้อยละ 3.07 สะท้อนให้เห็นถึงการบริหารธุรกิจที่มีประสิทธิภาพ ท่ามกลางความท้าทายของภาวะเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวช้า
“กลุ่มทิสโก้ยังคงรักษาผลประกอบการได้เป็นที่น่าพอใจในไตรมาสแรกของปี 2559 แม้ว่าการเติบโตจะเป็นไปได้ช้าตามภาวะเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัว ส่งผลให้สินเชื่อรวมของกลุ่มปรับตัวลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ด้านการตั้งสำรองในไตรมาส 1 ปี 2559 กลุ่มทิสโก้พิจารณาตั้งค่าใช้จ่ายสำรองหนี้สูญเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ตามนโยบายการตั้งสำรองอย่างระมัดระวังในสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน” นางอรนุช กล่าว
อย่างไรก็ตามภาพรวมธุรกิจของกลุ่มทิสโก้ในปีนี้ยังคงแข็งแกร่ง โดยเน้นการบริหารต้นทุนเงินทุนประสิทธิภาพ เน้นการสร้างรายได้จากค่าธรรมเนียม ด้านธุรกิจจัดการกองทุนและธุรกิจนายหน้าประกันภัย พร้อมเดินหน้าขยายสาขาธุรกิจสินเชื่อรายย่อย รวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีเพื่อตอบสนองความต้องการทางการเงินแก่ลูกค้าในยุคดิจิตอล พร้อมพัฒนาบุคคลากรเพื่อสร้างความมั่นคงอย่างยั่งยืนต่อไป
สรุปผลประกอบการไตรมาส 1/2559
สำหรับผลการดำเนินงานของกลุ่มทิสโก้ ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2559 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า กลุ่มทิสโก้มีกำไรสุทธิจำนวน 1,255 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 จากการปรับตัวดีขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่ร้อยละ 1.0 ด้วยความสามารถในการรักษาอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อรวมและการบริหารจัดการต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ ประกอบกับการเติบโตของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยจากธุรกิจหลักที่ร้อยละ 0.4 โดยมีสาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ค่านายหน้าจากการซื้อขายหลักทรัพย์ร้อยละ 15.9 ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายสำรองหนี้สูญปรับเข้าสู่ภาวะปกติมาอยู่ที่ 981 ล้านบาท จากคุณภาพสินทรัพย์ที่ปรับตัวดีขึ้น โดยในไตรมาสนี้ กลุ่มทิสโก้มีการตั้งสำรองหนี้สูญส่วนเกินเพื่อรองรับต่อความผันผวนทางเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า กลุ่มทิสโก้มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.2 สาเหตุหลักมาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.2 จากต้นทุนเงินฝากที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีก่อนหน้า กอปรกับการบริหารจัดการต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ แม้ว่ารายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยจากธุรกิจหลักลดลงเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.9 จากการอ่อนตัวของรายได้จากธุรกิจตลาดทุน อย่างไรก็ดี รายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจธนาคารพาณิชย์ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวของธุรกิจนายหน้าประกันภัย (Bancassurance)
สำหรับเงินให้สินเชื่อรวมของกลุ่มทิสโก้ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2559 มีจำนวน 233,166 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 2.1 จากสิ้นปี 2558 ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และสินเชื่อเพื่อผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ (Car Inventory Financing) ตามภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัวและตลาดรถยนต์ที่ยังไม่ฟื้นตัว อย่างไรก็ดี Penetration rate ของกลุ่มทิสโก้ปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อนหน้า พร้อมกับสินเชื่ออเนกประสงค์ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ตามแผนการขยายธุรกิจ ถึงแม้ยังคงได้รับผลกระทบจากหนี้สินภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ทั้งนี้ หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องจากการควบคุมคุณภาพสินเชื่อที่มีประสิทธิภาพ โดย ณ สิ้นไตรมาส 1 กลุ่มทิสโก้มีอัตราส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ร้อยละ 3.07 ลดลงจากร้อยละ 3.23 ในไตรมาสก่อนหน้า
กลุ่มทิสโก้ยังคงสามารถควบคุมต้นทุนการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้รวมอยู่ในระดับต่ำ ที่ร้อยละ 38.1 นอกจากนี้ ธนาคารทิสโก้ยังคงรักษาระดับฐานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่งมาโดยตลอดทั้งปี โดยมีประมาณการอัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์ (BIS Ratio) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 18.1 สูงกว่าอัตราเงินกองทุนขั้นต่ำร้อยละ 8.50 ที่กำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย และมีอัตราเงินกองทุนชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ร้อยละ 14.1 และร้อยละ 4.0 ตามลำดับ
ข่าวเด่น