แบงก์-นอนแบงก์
ไทยพาณิชย์ชู Industry Solution มอบโซลูชั่นทางการเงินเจาะเอสเอ็มอีรายอุตสาหกรรม




 

ธนาคารไทยพาณิชย์ รุกธุรกิจลูกค้าเอสเอ็มอี ผุดกลยุทธ์ Industry Solution ตอบโจทย์ลูกค้ารายอุตสาหรรมด้วยโซลูชั่นทางการเงินครบถ้วนทุกความต้องการ นำเสนอแพ็คเกจนำร่องเจาะ      5 กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่มีความต้องการเฉพาะด้าน ได้แก่ ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างภาครัฐ ธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ และธุรกิจเคมีภัณฑ์ มอบข้อเสนอที่แตกต่างเพื่อประโยชน์สูงสุดของเอสเอ็มอีแต่ละกลุ่ม พร้อมช่วยสนับสนุนคู่ค้าของลูกค้าอย่างครบวงจร ด้วยโซลูชั่นทางการเงินที่เพิ่มความสะดวก ลดต้นทุนการทำธุรกรรม โชว์ผลการดำเนินงานธุรกิจเอสเอ็มอีขยายตัวดีอย่างต่อเนื่อง ตั้งเป้ายอดสินเชื่อคงค้างปี 2559 เติบโต 4-6% ยอดสินเชื่อใหม่ไม่ต่ำกว่า 80,000 ล้านบาท พร้อมก้าวสู่การเป็นธนาคารหลักของลูกค้าเอสเอ็มอี 
 

 นายวิพล วรเสาหฤท รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปในปัจจุบัน และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่กระจายสู่ทุกระดับ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) รวมถึงการลงทุนในโครงสร้างสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ และความต้องการของผู้บริโภคจากประเทศในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) เป็นปัจจัยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องการขยายการลงทุนมากยิ่งขึ้น ซึ่งธนาคารยินดีจะให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่
 
 
 อย่างไรก็ตาม หลังจากได้ทำงานร่วมกับลูกค้าจากหลายอุตสาหกรรม ธนาคารพบว่าการให้บริการทางการเงินในรูปแบบสินเชื่อและผลิตภัณฑ์เดี่ยวๆ แบบเดิมนั้นอาจไม่สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ธนาคารจึงได้ทำการศึกษาและทำความเข้าใจลักษณะการดำเนินธุรกิจของลูกค้าตลอดทั้งกระบวนการ และได้กำหนดกลยุทธ์ Industry Solution ขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการที่แท้จริงให้กับลูกค้าเป็นรายอุตสาหกรรม ด้วยโซลูชั่นทางการเงินแบบครบวงจรที่เฉพาะเจาะจงสำหรับแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม เนื่องจากแต่ละอุตสาหกรรมมีความต้องการทางการเงินและวงจรการดำเนินธุรกิจที่ต่างกัน ทั้งด้านความต้องการสินเชื่อ การบริหารจัดการธุรกรรมทางการเงิน ซึ่ง Industry Solution สามารถที่จะตอบโจทย์ให้กับเอสเอ็มอีได้อย่างตรงจุด สามารถอนุมัติวงเงินสินเชื่อได้รวดเร็วมากขึ้น และต่อยอดไปยัง value chain ของลูกค้าเพื่อเสริมศักยภาพ Network ของลูกค้าให้เข้มแข็งมากขึ้น รวมถึงสามารถสร้างโอกาสในการทำ Business Matching ให้กับลูกค้าได้อีกด้วย
 
 
 
 
 
 ธนาคารมีการพัฒนาโซลูชั่นทางการเงินเบื้องต้นไว้สำหรับ 5 อุตสาหกรรม ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการไปแล้ว คือ ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างภาครัฐ ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจเคมีภัณฑ์ ธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ และ ธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง นอกจากนี้ ยังมีโซลูชั่นสำหรับอุตสาหกรรมอื่นตามมาอีกเรื่อยๆ ตลอดทั้งปีนี้ ทั้งนี้การเลือกพัฒนาโซลูชั่นจากแต่ละอุตสาหกรรมนั้น ธนาคารได้พิจารณาจากศักยภาพทางธุรกิจที่สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งมั่นใจว่าหากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้รับการส่งเสริมที่เหมาะสมและตรงความต้องการที่แท้จริงจะช่วยผลักดันให้ธุรกิจสามารถเติบโตและขยายตัวไปสู่ตลาดโลก
 
 

 
 
หลังจากธนาคารออกโซลูชั่นทางการเงินให้กับ 5 อุตสาหกรรมไปแล้ว ต่อไปธนาคารมีแผนจะออกโซลูชั่นสำหรับอุตสาหกรรมอื่นๆอีก อาทิ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว,ธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพ เช่น สถานพักฟื้นคนชรา ธุรกิจนำคนต่างประเทศเข้ามาดูแลรักษาสุขภาพในประเทศไทย โดยขายเป็นแพ็กเกจพร้อมท่องเที่ยวและที่พัก,ธุรกิจปั๊มน้ำมัน ที่โฟกัสในเรื่องการขายพื้นที่ทำร้านกาแฟ ร้านอาหาร ร้านค้าต่างๆ เพราะปัจจุบันกำไรจากการให้เช่าพื้นที่มีมากกว่ากำไรจากการขายน้ำมัน ซึ่งขณะนี้เรื่องการให้เช่าพื้นที่ในปั๊มน้ำมันกำลังบูม
 
 

“ด้วยประสบการณ์ในธุรกิจเอสเอ็มอีและความใกล้ชิดกับลูกค้า ทำให้ธนาคารเข้าใจการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการในแต่ละอุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เรารู้ว่าในแต่ละธุรกิจมีความต้องการที่แตกต่างกัน เช่น ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างจะมีความต้องการวงเงินประเภทหนังสือค้ำประกันหลากหลายประเภท ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มต้องการวงเงินเป็นฤดูกาล ธุรกิจโลจิสติกส์จะต้องการวงเงินประเภทเช่าซื้อรถเป็นหลัก ส่วนธุรกิจซื้อมาขายไปจะเน้นวงเงินประเภทสินเชื่อหมุนเวียนเพื่อการสต๊อคสินค้า เป็นต้น ความเข้าใจลูกค้าอย่างแท้จริงทำให้ธนาคารสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่ตรงกับความต้องการของแต่ละอุตสาหกรรม ทั้งสะดวก ช่วยลดต้นทุนการดำเนินงาน และช่วยให้การอนุมัติวงเงินสินเชื่อทำได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น” 

 
 
 
นายวิพล กล่าวต่อไปว่า ธนาคารมองว่าธุรกิจ SMEs  ที่ค่อนข้างเหนื่อยและการทำธุรกิจอาจไม่ดีในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ได้แก่ ธุรกิจที่ยังยึดการทำธุรกิจแบบเดิมๆ ไม่ปรับโมเดลใหม่ไปสู่ธุรกิจที่มีความต้องการของตลาด และธุรกิจที่แห่ตามแฟชั่นตามกระแส เช่น การเปิดร้านกาแฟ ที่ขณะนี้มีมากทุกพื้นที่ และธุรกิจเปิดอพาร์ตเมนต์ให้เช่า ซึ่งเมื่อตามกระแสมากๆ เปิดกันเยอะ ถึงจุดหนึ่งจะมีปัญหาหมด,ธุรกิจการเกษตร ที่ไม่ใช่เกษตรแปรรูปที่ยังไปได้ดี,ธุรกิจติดตั้งแก๊สในรถยนต์ เพราะขณะนี้ราคาน้ำมันใกล้เคียงกับราคาแก๊ส ทำให้คนนำรถยนต์ไปติดตั้งแก๊สน้อยลง,ธุรกิจป้ายโฆษณาบิวบอร์ด เพราะกระแสตอนนี้คนไปออนไลน์กันหมด แต่ธุรกิจซื้อมา-ขายไป ยังไปได้ดี เพราะถ้าซื้อมาแพงก็ขายแพงขึ้น จึงไม่ค่อยถูกกระทบ
 

นายวิพล ยังได้กล่าวถึงพฤติกรรมของลูกหนี้ SMEs ในปัจจุบัน ว่า ปัจจุบันลูกหนี้กล้าที่จะคุย กล้าที่จะยอมรับกับธนาคารว่าเริ่มมีปัญหาเรื่องการเงิน และด้วยระบบของธนาคารเองที่มีขั้นตอนในการดูแลลูกค้า ทำให้ธนาคารสามารถที่จะรู้สัญญาณก่อนที่ลูกค้าจะเริ่มมีปัญหาหรือเริ่มช็อตเงินแล้วก่อนที่ลูกค้าจะไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ได้หรือติดค้างค่างวด โดยดูจากการเงินรอบๆบัญชีของลูกค้า เช่น ลูกค้าใช้วงเงินโอดีที่ให้เต็มแล้ว ซึ่งธนาคารจะรีบเข้าไปดูแลลูกค้ารายนั้นทันทีเพื่อไม่ให้ลูกค้าหันไปพึ่งเงินกู้นอกระบบ ซึ่งตรงนั้นจะยิ่งดูแลยากขึ้นไปอีกและทำให้ธนาคารไม่สามารถประเมินลูกค้าได้ เมื่อธนาคารวิเคราะห์ลูกค้าไม่ได้ก็ไม่รู้จะช่วยลูกค้าได้อย่างไร ฉะนั้นเมื่อกลางปีที่แล้ว ธนาคารจึงได้เพิ่มเจ้าหน้าที่ 40 คนที่จะคอยดูแลลูกค้า เพื่อป้องกันการเป็นหนี้ที่ไม่ดีในอนาคต
 
 

"เดิมในอดีตลูกค้าไม่ค่อยกล้ามาเจรจาประนอมหนี้หรือลดหนี้ โดยบอกความจริงว่าธุรกิจกำลังมีปัญหาเรื่องการเงิน ขาดกระแสเงินสดหมุนเวียน ใช้วิธีไปหาเงินกู้นอกระบบมาใช้หมุนเวียนในธุรกิจ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ใช่ มันเป็นเรื่องที่ยาวและพัวพันเกินไปที่จะไปใช้เงินกู้นอกระบบได้ จึงหันมาหาธนาคาร และกล้าพูดกล้าเปิดเผยปัญหากับธนาคาร ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีและเป็นสิ่งที่ทุกธนาคารต้องการให้เป็นเช่นนั้น"นายวิพลกล่าว

นายวิพลกล่าวเตือนลูกค้าด้วยว่า ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจของประเทศไทยและของโลกยังไม่ดีเช่นนี้ ลูกค้าควรเอาเวลาไปบริหารต้นทุนดีกว่าที่จะมามุ่งเน้นเรื่องยอดขาย เพราะกำไร คือ ยอดขาย ลบ ต้นทุน ฉะนั้นหากยอดขายยังไม่ดีจากสภาพเศรษฐกิจ ควรไปเน้นเรื่องต้นทุนดีกว่า โดยพยายามลดต้นทุนที่ไม่จำเป็น ก็จะทำให้ธุรกิจเกิดกำไรได้แม้ยอดขายจะไม่เข้าเป้า

"ผู้ประกอบการไม่ควรมองเรื่องยอดขายอย่างเดียว เพราะถ้าโฟกัสเรื่องยอดขายก็จะพยายามออกแคมเปญกระตุ้นและโหมโฆษณา ซึ่งยิ่งจะทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นอีก และเมื่อมาหักลบกับรายได้ยอดขายที่อาจไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ จะยิ่งทำให้กำไรลดหรืออาจขาดทุนได้ ซึ่งปัจจุบันต้องยอมรับว่าส่วนใหญ่ลูกค้าชอบมองแต่เรื่องยอดขาย ซึ่งเป็นการบริหารธุรกิจที่ไม่ถูกต้องนัก"นายวิพลกล่าว



 

LastUpdate 27/04/2559 20:47:37 โดย : Admin
10-01-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 10, 2025, 11:29 pm