'ทรีนีตี้' วางยุทธศาสตร์ครึ่งปีหลังผลักดันรายได้เติบโตทุกธุรกิจ เล็งเพิ่มจำนวนผู้ลงทุนรายใหญ่ (High Net Worth) 20% และเพิ่มเงินลงทุนภายใต้การบริหารจัดการกองทุนส่วนบุคคลเป็น 3,000 ล้านบาท ภายในสิ้นปี 2559 คาดว่าจะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (IPO) 2 บริษัท พร้อมเดินหน้าตามวิสัยทัศน์ มุ่งสร้างผลตอบแทนให้กับลูกค้าสูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาด 20%
นายชาญชัย กงทองลักษณ์ กรรมการ บริษัท ทรีนีตี้ วัฒนา จำกัด (มหาชน) และกรรมการอำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด เปิดเผยถึงตลาดหุ้นไทยในปี 2558 ว่ามีทิศทางปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดย SET Index มีการปรับตัวลดลงถึง 14%, SET50 Index ปรับตัวลดลง 18.7% และ SET100 Index ปรับตัวลดลง 17.7% ซึ่งถึงแม้ว่าหุ้นขนาดเล็กจะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่ง แต่หุ้นขนาดกลางและขนาดใหญ่ก็ถูกกดดันจากทั้งปัจจัยภายใน และภายนอกประเทศ ซึ่งปัจจัยภายในได้แก่ การปรับลดประมาณการของบริษัทจดทะเบียนที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด
โดยเฉพาะการส่งออกโครงการภาครัฐที่มีความล่าช้า และการประมูลคลื่นความถี่ที่มีราคาสูงเกินคาด ส่วนปัจจัยภายนอกที่สำคัญได้แก่ การปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันอย่างรวดเร็ว การส่งสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed และเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวซึ่งส่งผลให้ SET Index และมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์เฉลี่ยต่อวันของ SET และ MAI ลดลงทุกไตรมาสมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์เฉลี่ยต่อวันสูงสุดในไตรมาสที่ 1 อยู่ที่ 54,369 ล้านบาท และลดลงมาที่ระดับ 40,000 ล้านบาทในไตรมาสที่ 2 – ไตรมาสที่ 4 ขณะที่ SET Index ปรับตัวสูงสุดที่ 1,615.89 จุด และต่ำสุดที่ 1,216.66 จุด”
นายชาญชัย กล่าวเสริมว่า “แม้ภาวะของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ จะผันผวนยาวนานตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน แต่บริษัทก็ยังคงยึดมั่นในวิสัยทัศน์ของบริษัท ด้วยการสร้างผลตอบแทนให้ลูกค้าสูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาด 20% ในทุกกลุ่มธุรกิจ โดยบริษัทมีกำไรสุทธิลดลงในปี 2558 ที่ 146.10 ล้านบาท ลดลงจากปี 2557 ที่ 191.72 ล้านบาท และมีส่วนแบ่งการตลาดลดลงในปี 2558 ที่ ร้อยละ 1.95 ลดลงจากปี 2557 ที่ร้อยละ 2.67 เป็นผลมาจากภาวะตลาดที่มีความผันผวน และภาวะการแข่งขันด้านราคาที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี บริษัทมีทิศทางที่ดีจากธุรกิจที่ปรึกษาทางการเงินโดยบริษัทประสบความสำเร็จในการเป็นผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหลักทรัพย์ที่เสนอขายต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) 3 บริษัท ได้แก่ บมจ.ทีพีซี พาวเวอร์ โฮลดิ้ง (TPCH), บมจ.เอส 11กรุ๊ป (S11), บมจ.มาสเตอร์ คูล อินเตอร์เนชั่นแนล (KOOL)”
นาวสาวสุธางค์ คนศิลป กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวาณิชธนกิจ กล่าวว่า “ในส่วนของงานวาณิชธนกิจ บริษัทจะมีการนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ทั้ง SET และ MAI (IPO) รวมถึงการหาผู้ร่วมทุน (PP) จำนวน 7 – 9 บริษัท ส่วนงานด้านการควบรวมกิจการ (M&A) และงานที่ปรึกษาทางการเงิน รวมอีก จำนวน 7 – 9 บริษัท นอกจากนี้บริษัทเริ่มรุกเข้าสู่งานด้านการจัดจำหน่ายหุ้นกู้และตั๋วแลกเงินอีกด้วย โดยทั้งนี้ลูกค้าที่บริษัทให้บริการอยู่ในขณะนี้อยู่ในหลายกลุ่มธุรกิจ เช่น สถาบันการเงิน, เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร, ขนส่งและโลจิสติกส์, ธุรกิจก่อสร้าง,สื่อและสิ่งพิมพ์ โดยในเบื้องต้นจะมีบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนได้ทันภายในปี 2559 นี้จำนวน 2 บริษัท
นางแก้วกมล ตันติเฉลิม รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายธนบดีธนกิจ กล่าวว่า “เนื่องจากในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2558 SET Index ผันผวนอย่างหนักจึงทำให้ผลตอบแทนการจากการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ติดลบร้อยละ 14 อย่างไรก็ตามกองทุนส่วนบุคคลของบริษัทก็สามารถปรับกลยุทธ์การลงทุนให้อัตราผลตอบแทนติดลบเพียงร้อยละ 4 ซึ่งส่งผลให้มูลค่าสินทรัพย์รวมลดลงจาก 2,468 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2557 เป็น 2,395 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2558 ในส่วนของการบริหารจัดการกองทุนส่วนบุคคล บริษัทตั้งเป้าจะเพิ่มเงินลงทุนภายใต้การบริหารจัดการกองทุนส่วนบุคคล อีกประมาณ 25% หรือเพิ่มเป็น 3,000 ล้านบาท”
นายชาญชัย กล่าวถึงเป้าหมายการดำเนินธุรกิจในช่วงครึ่งปีหลัง 2559 ว่าบริษัทมีกลยุทธ์ในการรักษาและขยายฐานลูกค้าโดยนำเสนอบทวิเคราะห์ในรูปแบบใหม่ เพื่อตอบสนองความต้องการในการลงทุนของลูกค้าที่มีอย่างหลากหลาย และมีข้อจำกัดของเงินลงทุนที่แตกต่างกัน และบริษัทยังคงดำเนินนโยบายกระจายฐานรายได้ต่อเนื่อง จะเห็นว่ารายได้ค่านายหน้าของบริษัทมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 46 ของรายได้รวมซึ่งแตกต่างจากบริษัทหลักทรัพย์อื่นที่ยังคงมีสัดส่วนของรายได้ค่านายหน้าในระดับสูงประมาณ 70 – 80% อย่างไรก็ตามบริษัทก็ยังคงยึดมั่นในวิสัยทัศน์ของบริษัท ด้วยการสร้างผลตอบแทนให้ลูกค้าสูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาด 20% โดยบริษัทวางกลยุทธ์ในการให้บริการลูกค้าแบบครบวงจร มีตั้งเป้าหมายจะเพิ่มลูกค้าใหม่ที่เป็นกลุ่มลูกค้าผู้ลงทุนรายใหญ่ (High Net Worth) อีก 20%
นายชาญชัย กล่าวว่า บริษัทมีนโยบายที่จ่ายเงินปันผลในอัตราที่สูงอย่างสม่ำเสมอมาโดยตลอด โดยบริษัทสามารถจ่ายอ้ตราเงินปันผลตอบแทน (Dividend Yield)ในระยะ 5ปีที่ผ่านมา ไม่น้อยกว่าร้อยละ 8 สำหรับปี 2558 บริษัทฯจ่ายปันผลในอัตรา 0.60 บาท ต่อหุ้น คิดเป็นอัตราจ่ายเงินปันผลตอบแทน ร้อยละ 9.84 ซึ่งติดอันดับ 1 ใน 10 ของบริษัทจดทะเบียนที่มีอัตราการจ่ายเงินปันผลตอบแทนสูง
ข่าวเด่น