การค้า-อุตสาหกรรม
4 องค์กร สานพลัง 'เครือข่ายนวัตกรรมยางพารา'


 


(13 พ.ค. 59) ณ อาคาร 50 ปี การยางแห่งประเทศไทย กรุงเทพฯ - กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) “เครือข่ายนวัตกรรมยางพารา” ร่วมกับ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงในรูปแบบของเครือข่ายระหว่างภาคส่วนหลักที่สำคัญของประเทศไทย ทั้งภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม ภาคราชการ และภาคการศึกษา ที่มีบทบาทในการพัฒนาเกี่ยวข้องกับยางพาราในด้านต่างๆ ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจและสังคม ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงด้านบุคลากร ซึ่งเครือข่ายดังกล่าวจะเป็นฐานสำคัญที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย
 

ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า “เอ็มเทค สวทช. มีพันธกิจหลักในการพัฒนาและสร้างขีดความสามารถทางด้านเทคโนโลยีวัสดุให้แก่ภาครัฐและภาคเอกชน โดยดำเนินการวิจัย พัฒนาและวิศวกรรม การถ่ายทอดเทคโนโลยี การพัฒนากำลังคน รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง รองรับการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมของประเทศ ซึ่งเอ็มเทคได้ให้ความสำคัญกับงานวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับด้านยางพารา โดยมีการจัดตั้งหน่วยเฉพาะทางด้านยางธรรมชาติขึ้น มีความเชี่ยวชาญในด้านการพัฒนายางคอมพาวด์ การออกแบบและวิเคราะห์เชิงวิศวกรรมผลิตภัณฑ์ยาง และเทคโนโลยีน้ำยาง เช่น เทคโนโลยีสารรักษาสภาพน้ำยางธรรมชาติไร้แอมโมเนีย (TAPS Technology) การพัฒนาเทคโนโลยีการออกแบบยางล้อรถ การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตยางแท่งคุณภาพสูงระดับชุมชน เป็นต้น”

“การร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายนวัตกรรมยางพาราในครั้งนี้ เอ็มเทคมีภารกิจและความรับผิดชอบหลักในการดำเนินการวิจัยและพัฒนา เพื่อสร้างนวัตกรรมการบริหารจัดการและการผลิตยางพาราตลอดกลางน้ำจนถึงปลายน้ำ เช่น การเก็บรักษาน้ำยางพารา เทคโนโลยีการผลิตและการแปรรูปยางพาราขั้นต้น นวัตกรรมด้านการวิเคราะห์ทดสอบวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ยางพารา รวมถึงงานมาตรฐานต่างๆ จากโจทย์ที่ได้รับจากการยางแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งการร่วมมือกันของเครือข่ายครั้งนี้ มีความคาดหวังคือ การได้เห็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ใช้ยางพาราเป็นวัตถุดิบมีการใช้งานในตลาดอย่างแพร่หลายมากขึ้น นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ยางพาราไทยจะต้องสามารถตอบโจทย์ความต้องการใช้งานได้อย่างเหมาะสม ทั้งในด้านคุณสมบัติการใช้งาน ราคา ตลอดจนความเชื่อมั่นและมาตรฐาน”
 
 

รศ.ดร.ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) กล่าวว่า “การลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเครือข่ายนวัตกรรมยางพารา มุ่งเน้นการดำเนินการสร้างนวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์จากยางพารา เทคโนโลยีการผลิตหรือแปรรูปยางพารา การวิเคราะห์ทดสอบวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ยางพารา รวมถึงมาตรฐานต่างๆ การบริหารจัดการและการผลิตยางพาราต้นน้ำและกลางน้ำ การเพาะปลูกและการดูแลสวนยางพารา การบริหารจัดการข้อมูลสารสนเทศด้านยางพารา และการเรียนการสอนและการผลิตบุคลากรด้านยางพารา โดยทั้ง 4 ฝ่ายจะปฏิบัติงานเป็นเครือข่ายตลอดระยะเวลา 3 ปี ซึ่งทาง ม.อ. โดยคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องของ ม.อ. มีภารกิจและความรับผิดชอบหลักในด้านการสร้างนวัตกรรมการผลิตและพัฒนาบุคลากรทางด้านเทคโนโลยียางพาราให้มีคุณภาพสูง ทั้งในรูปแบบหลักสูตรระยะสั้น ร่วมกับ กยท. และหลักสูตรปกติ พร้อมกับสนับสนุนทางวิชาการตามความต้องการของอีก 3 ฝ่ายที่เหลือโดยใช้ศักยภาพของคณาจารย์ นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ และศิษย์เก่าที่มีประสบการณ์ปฏิบัติงานในโรงงานอุตสาหกรรมยางพารา”
 
 
 

นายบวร วงศ์สินอุดม รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า “ปัจจุบันประเทศไทยมีการขับเคลื่อนและส่งเสริมอุตสาหกรรมยางพาราอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ยาง รวมทั้งการกำหนดมาตรฐานและการพัฒนาด้านบุคลากร เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางพาราในภูมิภาค แซงหน้าผู้ผลิตและผู้ส่งออกยางพารารายใหญ่อย่าง มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ โดยในปี 2558 ประเทศไทยมีการผลิตยางพาราในประเทศ ประมาณ 4.47 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2557 จำนวน 1 แสนตัน และมีการปริมาณการใช้ยางพาราในประเทศ จำนวน 6 แสนตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2557 จำนวน 6 หมื่นตัน สำหรับการส่งออกยางพาราต้นน้ำ มีปริมาณ 3.74 ล้านตัน ลดลงจากปี 2557 จำนวน 3 หมื่นตัน ส่วนมูลค่าของการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางของไทย ปี 2558 มีจำนวน 4.3 แสนล้านบาท โดยแบ่งเป็นวัตถุดิบ 2 แสนล้านบาท และผลิตภัณฑ์ 2.3 แสนล้านบาท ซึ่งผลิตภัณฑ์หลักที่ถือว่าเป็น Product Champion ของอุตสาหกรรมยางคือ ผลิตภัณฑ์ยางล้อ ที่มีมูลค่าในการส่งออก 1.2 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 40 ของการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางทั้งประเทศ อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่าสัดส่วนการใช้ยางพาราในประเทศยังมีสัดส่วนไม่มากนัก เมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณการผลิตและการส่งออกยางพารา ดังนั้น การส่งเสริมการดำเนินการเรื่องมาตรฐานผลิตภัณฑ์ และการพัฒนาด้านบุคลากรและเทคโนโลยี จึงถือเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการสร้างความสามารถในการแข่งขันและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมยางของประเทศ” 


ซึ่งภารกิจและความรับผิดชอบหลักของ ส.อ.ท. โดยกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง ในความร่วมมือเครือข่ายนวัตกรรมยางพารา ได้แก่ การผลักดันให้มีการใช้ยางธรรมชาติในประเทศ และพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อการส่งออกให้มากขึ้น การกำหนดโจทย์ และสนับสนุนข้อมูลแนวโน้มความต้องการนวัตกรรมยางพารา เพื่อให้อีก 3 ฝ่ายสร้างนวัตกรรมได้ตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม หรือร่วมสนับสนุนการผลิตบุคลากรทางด้านเทคโนโลยียางพาราในรูปแบบทุนการศึกษา ทายาทอุตสาหกรรม การรับเข้าฝึกปฏิบัติงานสหกิจศึกษา การร่วมวิจัยระดับสูง
 
 

ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า “ข้อตกลงความร่วมมือเครือข่ายนวัตกรรมยางพารา เป็นการร่วมมือกันระหว่าง 4 องค์กร ให้เกิดการวิจัยพัฒนายางพาราอย่างครบวงจร เพื่อร่วมกันส่งเสริมให้เกิดการสร้างนวัตกรรมในรูปแบบต่างๆ ได้แก่ นวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์ยาง ด้านเทคโนโลยีการผลิตหรือการแปรรูปยางพารา ด้านการวิเคราะห์ทดสอบยาง และผลิตภัณฑ์ยางตามมาตรฐานสากล ทั้งในระดับต้นทาง กลางทาง และปลายทาง รวมถึงข้อมูลสารสนเทศยางพารา และการพัฒนาบุคลากรด้านอุตสาหกรรมยางให้กับภาคเอกชน ซึ่งการบูรณาการดำเนินงานระหว่าง 4 องค์กร จะสามารถผลักดันให้นวัตกรรมที่เกิดขึ้นไปใช้เป็นประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม
 
 
ซึ่ง กยท. มีภารกิจและความรับผิดชอบหลักในการส่งเสริมสนับสนุนให้มีการศึกษา วิเคราะห์ วิจัย และพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรมด้านต่างๆ โดยเฉพาะการบริหารจัดการและการผลิตยางพาราต้นน้ำ การเพาะปลูกและการดูแลสวนยางพารา เผยแพร่ข้อมูลสารสนเทศเกี่ยวกับยางพารา ส่งเสริม สนับสนุนด้านวิชาการ งบประมาณเพื่อสร้างนวัตกรรมการผลิต นวัตกรรมการแปรรูป การอุตสาหกรรม การตลาด การประกอบธุรกิจ และการดำเนินการที่เกี่ยวข้อง โดย กยท. พร้อมผลักดันและสนับสนุนความร่วมมือทางวิชาการด้านยางพาราในรูปแบบต่างๆ ทั้งในเรื่องการวิจัยพัฒนา การฝึกอบรม และการผลิตบุคลากรด้านยางพารา สู่ภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนสนับสนุนทรัพยากรเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อวงการยางพาราของประเทศอย่างครบวงจร
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 13 พ.ค. 2559 เวลา : 18:51:11
18-10-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ October 18, 2024, 7:19 pm