จากปัญหาเศรษฐกิจที่ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะฟื้นตัวในทิศทางที่ดีขึ้น ส่งผลให้ภาพรวมกลุ่มสินค้าอุปโภค-บริโภคที่มีอัตราการบริโภคสูง หรือ FMCG (Fast Moving Consumer Goods) มีอัตราการเติบโตที่ชะลอตัวต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา โดยในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมาของปี 2559 นี้กลุ่มสินค้าดังกล่าวมีอัตราการเติบโตเพียง 1.8% เท่านั้น เนื่องจากผู้บริโภคหันมาระมัดระวังเรื่องการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น เพราะกำลังซื้อของผู้บริโภคยังอยู่ในภาวะซบเซาโดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคในระดับรากหญ้า
ทั้งนี้ จากผลการวิจัยของบริษัท กันตาร์ เวิร์ลดพาแนล (ไทยแลนด์) จำกัด หรือ KWP ผู้นำด้านการวิจัยพฤติกรรมการจับจ่ายของผู้บริโภคเชิงลึกที่มีความเชี่ยวชาญในกลุ่มสินค้าอุปโภค-บริโภคที่มีอัตราการบริโภคสูงพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในกลุ่มสินค้า FMCG มีการตกอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2540 ซึ่งเป็นผลกระทบจาก วิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งในปีนั้นทำให้เกิดฟองสบู่แตก และในปี 2543 ก็เกิดปัญหาภาวะเงินเฟ้ออย่างหนัก หลังจากนั้นต่อมาในปี 2550 ประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ของพี่น้องตระกูล เลห์แมน บราเธอร์ส จนต้องประกาศลดสินทรัพย์ลงไปกว่า 1.38 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เรื่อยมาจนถึงกรณีน้ำท่วมใหญ่ ในปี 2554 และสถานการณ์ด้านการเมืองที่รุนแรงในปี 2556 ซึ่งจากปัจจัยลบที่เกิดขึ้นดังกล่าวส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในประเทศไทยปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง
นายคาเร็ต อิลิส ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจ บริษัท กันตาร์ เวิร์ลดพาแนล (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ตกต่ำดังกล่าว ส่งผลต่อแนวโน้มการเติบโตในอัตราที่ถดถอยของกลุ่มสินค้า FMCG ในประเทศไทย ซึ่งมีอัตราลดต่ำลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2552 ในสถิติ 9.9 ลดลงเหลือ 1.8 ในปี 2559 ซึ่งกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวประกอบด้วยสินค้าอุปโภคบริโภคที่สำคัญ 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนบุคคล (Personal Care) 2. กลุ่มผลิตภัณฑ์ ในครัวเรือน (Household) และ 3. กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม (Food & Beverage)
นอกจากนี้ ยังพบว่า 40% ของกลุ่มสินค้า FMCG ที่ยอดขายมีการตกลงอย่างต่อเนื่อง ในอัตรา 10-20 % ค่อนข้างน่าเป็นห่วงในปีนี้ ประกอบด้วย ชาพร้อมดื่ม ชาสำเร็จรูป เครื่องดื่มธัญพืช นมพาสเจอร์ไรส์ ครีมเทียมสำหรับกาแฟ ผลิตภัณฑ์ใบมีดโกน และ โทนเนอร์ ส่วนกลุ่มสินค้าที่ยังมีอัตราการเติบโตในระดับที่ดีตั้งแต่ 10% ขึ้นไป ได้แก่ กระดาษเช็ดหน้า ผลิตภัณฑ์กันแดด ครีมล้างหน้า ผลิตภัณฑ์มาสค์หน้า นมถั่วหลืองสเตอริไรส์ น้ำดื่มบรรจุขวด และกาแฟพร้อมดื่ม เป็นต้น
ทั้งนี้ จากผลวิจัยที่ได้รับดังกล่าวง หากมองในแง่ของพฤติกรรมการจับจ่ายของผู้บริโภคจะเห็นได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมค่อนข้างมาก ซึ่งหากนำข้อมูลที่ได้จาก ไตรมาส 1 ปี 2557 กับ ไตรมาส 1 ของปี 2559 จะพบว่า มีสถิติลดลงทุกกรณีไม่ว่าจะเป็นในส่วนของจำนวนกลุ่มสินค้าที่เลือกซื้อของแต่ละครัวเรือน ความถี่ในการออกไปจับจ่าย และช่องทางค้าปลีกที่ไปเลือกซื้อ ตลอดจนการใช้จ่ายแต่ละครั้งในแต่ละช่องทาง
นายคาเร็ต กล่าวต่อว่า กลุ่มสินค้า FMCG ที่มีการเลือกซื้อเฉลี่ยแต่ละครัวเรือน ระหว่างไตรมาส 1 ในปี 2557 กับ ไตรมาส 1 ในปี 2559 มีสถิติลดลง จาก 43 เหลือ 41 กลุ่มสินค้า สำหรับความถี่ในการออกไปจับจ่ายในช่องทางการขายไฮเปอร์มาร์เก็ต และ ซูเปอร์มาร์เก็ต จาก 27 ครั้ง ลดลงเหลือ 21 ครั้ง ช่องทางร้านสะดวกซื้อ จาก 37 ครั้ง เหลือ 36 ครั้ง และ ช่องทางร้านค้าโชห่วย จาก 133 เหลือ 127 ครั้ง ส่วนการใช้จ่ายเงินต่อทริปของการจับจ่ายในช่องทางต่าง ๆ ก็เป็นตัวเลขที่น่าสนใจ โดยการจ่ายใช้เงินต่อทริปเพิ่มขึ้นสำหรับช่องทาง ไฮเปอร์มาร์เก็ต และ ซุปเปอร์มาร์เก็ต คือ ครั้งละ 252 บาท เป็น 257 บาท ช่องทางร้านสะดวกซื้อ ครั้งละ 93 บาท เพิ่มขึ้นเป็นครั้งละ 95 บาท แต่ช่องทางร้านโชห่วย หรือ ร้านของชำทั่ว ๆ ไป กลับมีตัวเลขที่ลดลง คือ จากครั้งละ 52 บาท ลดลงเหลือ 51 บาท
สำหรับกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีการเติบโตมากถึง 16% จากกลุ่มผลิตภัณฑ์รวมทุกกลุ่ม ซึ่งพิจารณาจากสินค้าที่มีการซื้อมากขึ้นในแง่ของจำนวนชิ้น คือ ผลิตภัณฑ์สำหรับทารก ตามด้วยรังนก แชมพู น้ำยาซักผ้า ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดบ้าน และน้ำยาบ้วนปาก ส่วนกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ยอดขายตก คือ ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม สบู่ ผงซักฟอก ครีมล้างหน้า น้ำยาซักผ้า น้ำยาล้างจาน แปรงสีฟัน และ ยาสีฟัน
จากผลวิจัยที่ได้รับดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าการอัดโปรโมชั่นไม่ได้เป็นปัจจัยต่อการเติบโตของกลุ่มสินค้าเสมอไป เห็นได้จากสถิติของการทุ่มงบโปรโมชั่นในไฮเปอร์มาร์เก็ต และ ซูเปอร์มาร์เก็ต โดยในส่วนของซูเปอร์มาร์เก็ตจะมีการทุ่มงบโปรโมชั่นสูงขึ้นทุกปี ขณะที่ไฮเปอร์มาร์เก็ตจะลดการทำแคมเปญด้านโปรโมชั่นลงทุกปี โดยระหว่างไตรมาส 1 ของ ปี 2557 – ไตรมาส 1 ของปี 2559 ไฮเปอร์ มาร์เก็ต มีสถิติการทำโปรโมชั่นลดลงตามลำดับ คือ จาก 70.0 เหลือ 68.1 และ 66 ขณะที่ซูเปอร์มาร์เก็ต มีสถิติเพิ่มสูงขึ้น คือ จาก 30 เพื่อเป็น 31.9 และ 34.0 ซึ่งจากการปรับแผนของกลุ่มธุรกิจไฮเปอร์มาร์เก้ตดังกล่าว ทำให้ช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าผ่านไฮเปอร์มาร์เก็ต เริ่มมีการฟื้นตัวในทิศทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะช่องทางร้านสะดวกซื้อภายใต้แบรนด์เทสโก้ เอ็กซ์เพรส
นายคาเร็ต กล่าวว่า จากสภาวะเศรษฐกิจและการเมืองโดยภาพรวม ส่งผลกระทบต่อดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ตกต่ำต่อเนื่อง ซึ่งทำให้พฤติกรรมนักช็อปได้เปลี่ยนไป ในแง่ของความถี่ในการออกไปจับจ่าย จำนวนเงินใช้จ่ายในแต่ละครั้ง และช่องทางการจับจ่ายที่เลือกใช้ ทั้งหมดนี้ เป็นปัจจัยสำคัญในการเปลี่ยนโฉมหน้า วงการค้าปลีก ไทย ทั้งในพื้นที่กรุงเทพปริมณฑล และ ตัวเมืองของจังหวัด ตลอดจน พื้นที่นอกเมืองในต่างจังหวัด ซึ่งสามารถสรุปวิเคราะห์ตามพื้นที่และตามช่องทางการขาย ได้ดังนี้ 1.พื้นที่เขตกรุงเทพปริมณฑล ช่องทางร้านสะดวกซื้อมีสัดส่วนการจับจ่ายที่เติบโตอย่างรวดเร็ว เห็นได้จากการจับจ่ายปกติที่เพิ่มขึ้น 20% และการใช้จ่ายในโอกาสพิเศษเพิ่มขึ้น 37% เนื่องจากผู้บริโภคสามารถ เปลี่ยนช่องทางการซื้อได้ตามอำเภอใจ
2. พื้นที่ตัวเมืองในเขตจังหวัด ผู้บริโภคส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับการซื้อสินค้าผ่านช่องทางร้านโชห่วย และ ร้านของชำ แต่ภายหลังจากค้าปลีกสมัยใหม่เข้าไปเปิดให้บริการเพิ่มขึ้น ทำให้ธุรกิจค้าปลีกในรูปแบบดังกล่าวเริ่มสูญเสียส่วนแบ่งช่องการการจับจ่ายให้กับ ไฮเปอร์มาร์เก็ต ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้าน สะดวกซื้อ ซึ่งในส่วนของการจับจ่ายในช่องทางดังกล่าวที่มีการจับจ่ายปกติเพิ่มขึ้น 22% และโอกาสพิเศษเพิ่มขึ้น 34% ส่วนพื้นที่ที่ 3 คือ เขตนอกเมืองต่างจังหวัด ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังคงเลือกที่จะจับจ่ายใช้สอยผ่านช่องทางร้านโชห่วยเป็นหลัก เห็นได้จากการรักษาระดับซื้อปกติในอัตรา 50% และในโอกาสพิเศษ 74%
ปัจจัยลบต่างๆที่กำลังรุมเร้าประเทศไทยอยู่ในขณะนี้ ทำให้ปี 2559 นี้ยังคงเป็นปีที่ยากลำบากยิ่งสำหรับกลุ่มสินค้า FMCG ที่จะเติบโต เนื่องจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังคงอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งตัวบ่งชี้ว่าสภาวะเศรษฐกิจโดยภาพรวมยังคงถดถอยต่อเนื่อง คือ การบริโภคกลุ่มผลิตภัณฑ์ FMCG ภาคครัวเรือน ในรอบ 12 เดือน ที่สิ้นสุดไปเมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา มีสถิติตกลงกว่า 2% เนื่องจากจำนวนการซื้อต่อครั้งยังปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง เพราะผู้บริโภคยังมีความกังวลต่อความสามารถในการจับจ่ายจากปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง
จากผลกระทบดังกล่าว จะเห็นได้ว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากลุ่มสินค้า FMCG ส่วนใหญ่ต่างพากันเน้นกลยุทธการลดขนาดสินค้า และมีแนวโน้มหลีกเลี่ยงจากการทำสินค้าแนวพรีเมี่ยม เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคชะลอตัว ซึ่งจากปัจจัยลบดังกล่าวบริษัท กันตาร์ฯ จึงได้มีการเสนอแนะผู้ประกอบการว่า ควรสร้างความเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงความต้องการของผู้บริโภคว่าต้องการขนาดแพคเก็จอย่างไร เพื่อพัฒนาสินค้าเข้ามาทำตลาดให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าให้ได้มากที่สุด
ข่าวเด่น