เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
'ตอบโต้ทางการค้า'อุปสรรคส่งออกไทย59




 


อุปสรรคที่สำคัญของการส่งออกไทยในปี 2559  นอกจากจะมาจากการแข็งค่าของเงินบาท  ที่ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยลดลง     แต่ล่าสุด นายอดุลย์  โชตินิสากรณ์  รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ในฐานะรองโฆษกกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า   ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา  ไทยถูกมาตรการตอบโต้ทางการค้ากับสินค้าหลายรายการ  
 
 

เบื้องต้นพบว่า  ประเทศที่ใช้มาตรการดังกล่าวกับไทย มีทั้งประเทศที่เป็นตลาดสำคัญ ตลาดเกิดใหม่และตลาดที่มีศักยภาพ   ดังนั้นผู้ประกอบการต้องติดตามสถานการณ์ทางการค้าอย่างใกล้ชิดว่า  ใช้มาตรการตอบโต้ทางการค้าดังกล่าวหรือไม่
 

นอกจากนี้การส่งออกสินค้าต้องดำเนินการอย่างระมัดระวังไม่ให้ผิดระเบียบทางการค้า เช่น  กรณีปริมาณสินค้าส่งออกเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ และหากพบว่ากระทำที่ผิดระเบียบ เช่นจำหน่ายสินค้าต่ำกว่าทุน จะถูกไต่สวนและตอบโต้
 
         
ซึ่งกรมการค้าต่างประเทศพบว่า  สินค้าที่อยู่ระหว่างการไต่สวน ในปี 2559 ได้แก่ อินเดียเปิดไต่สวนสินค้ากลุ่มยาง,  ออสเตรเลียไต่สวนกระดาษเอ 4 ส่วนกลุ่มสินค้าที่อยู่ในระหว่างถูกเรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาด (เอดี)  เช่น   อินเดียต่อสินค้ากลุ่มสิ่งทอ  กำหนดใช้ 3 ก.ค.นี้   ตุรกีประกาศเอดีกับสินค้าข้อต่อท่อเหล็ก เริ่มมาตรการ 7 ก.ย.นี้ ปัจจุบันสินค้าไทยที่อยู่ในระหว่างถูกเรียกเก็บอากรเอดี สินค้ารวม 45 รายการ
 
         
นางมาลี  โชคล้ำเลิศ  อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึง  การประชุมร่วมกับภาคเอกชน กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมหนัก ว่า กรมได้เชิญสมาคมสำคัญๆ ในกลุ่มสินค้า อุตสาหกรรมหนักกว่า 10 สมาคม พร้อมด้วยหน่วยงานภาครัฐ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมศุลกากร กรมสรรพสามิต กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กรมการค้าต่างประเทศ สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า สำนักมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เข้าประชุมหารือและรับฟังความคิดเห็น เพื่อใช้ประเมินสถานการณ์การส่งออกสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมหนัก และความเป็นไปได้ในการขยายการส่งออกให้เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ตามเป้าส่งออกที่รัฐบาลตั้งไว้
 
 

สำหรับอุปสรรคสำคัญที่มีผลต่อการส่งออกสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมหนัก   คือ เรื่องค่าเงินบาทซึ่งยังคงอ่อนตัวน้อยกว่าค่าเงินของประเทศคู่แข่งอยู่มาก การวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับสินค้าไทยสู่ระดับสากล   การถูกกีดกันทางการค้าด้วยมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีจากประเทศคู่ค้า  และในเรื่องมาตรฐานสินค้าของชิ้นส่วนที่นำเข้ามาใช้เพื่อการส่งออก เป็นต้น ซึ่งประเด็นเหล่านี้ยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญต่อความสามารถในการแข่งขันของ ผู้ประกอบการไทยในปัจจุบัน
 
         
ซึ่งกรมฯ จะรวบรวมนำประเด็นปัญหาทั้งหมดเข้าสู่การประชุมคณะกรรมการพัฒนาการค้าระหว่างประเทศ (พกค.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อให้พิจารณาดำเนินการแก้ไขขจัดอุปสรรคทางการค้าอย่างเร่งด่วนต่อไป   นอกจากนี้ กรมมีกำหนดจัดกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกในตลาดใหม่ๆ อาทิ ตลาด AEC ตลาดละตินอเมริกา และตลาดแอฟริกา เพื่อเร่งรัดการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหนักควบคู่ไปอีกทางหนึ่งด้วย
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 20 พ.ค. 2559 เวลา : 19:51:12
26-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 26, 2024, 5:02 am