ประกัน
หนีไม่พ้น'ธุรกิจประกัน-โบรกเกอร์'ควบรวมกิจการมากขึ้น


 


การควบรวมกิจการ เพื่อสร้างความแข็งแกร่ง ยังคงเป็นกระแสที่ต้องจับตามอง โดยเฉพาะในยุคที่เศรษฐกิจอยู่ในช่วงของการชะลอตัว  ซึ่งนายกี่เดช   อนันต์ศิริประภา    ผู้อำนวยการบริหารสมาคมประกันวินาศภัยไทย    เปิดเผยว่า     สมาคมฯ ผลักดันให้บริษัทประกันสัญชาติไทย หันมาควบรวมกิจการเพิ่มขึ้น    หากต้องการขยายธุรกิจให้มีขนาดใหญ่และอยู่รอดได้ ในภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ขยายตัว    ตลาดแข่งขันสูง และมีต่างชาติลงทุนธุรกิจเพิ่ม    โดยถ้าบริษัทใดมียอดขายต่อปีเติบโตเฉลี่ยเหลือปีละ 1-2%   จากปกติเฉลี่ยต่อปี5-10%    ก็มีแนวโน้มที่อาจไปไม่รอด และควรหันมาควบรวมกับบริษัทไทยด้วยกันเองมากกว่าควบรวมกับต่างชาติ
 

ซึ่งการควบรวมกิจการนั้นไม่ได้เป็นเรื่องที่เสียหาย     สถาบันการเงินทั่วโลกทั้งแบงก์และประกันภัยต่างก็ควบรวมกัน    และที่ผ่านมาก็มีบทพิสูจน์ความสำเร็จมาแล้วว่า  ควบรวมกันแล้วอยู่รอด ไม่ว่าจะเป็นโมเดลบริษัทวินาศภัยในญี่ปุ่นหรือยุโรป โดยเฉพาะในญี่ปุ่นควบรวมกันไปมาจนปัจจุบันเหลือ3 รายใหญ่   ได้แก่ กลุ่มโตเกียวมารีน กลุ่มเอ็มเอสไอจีและกลุ่มนิปปอนโคอะ   มีสัดส่วนการตลาดรวมถึง90%
         
และการควบรวมบริษัทประกันวินาศภัยในไทยเคยเกิดขึ้นมาแล้ว  เช่นกรณีของบริษัทนวกิจประกันภัย ซึ่งควบรวมทั้งประกันภัยสากล ,ไทยพาณิชย์ประกันภัย และไทยสมุทรประกันภัย หรือกรณีของเมืองไทยประกันภัยควบรวมกับภัทรประกันภัย    ซึ่งบริษัทที่ควบรวมไปแล้วแม้ชื่อบริษัทจะหายไปแต่ก็ยังเป็นผู้ถือหุ้น   ฉะนั้นการควบรวมในลักษณะนี้ในอนาคตน่าจะยังมีความเป็นไปได้

ซึ่งทิศทางการควบรวมกิจการไม่ได้เกิดเฉพาะกับธุรกิจประกันภัยเท่านั้น  แต่ขณะเดียวกันรายงานข่าวจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)   เปิดเผยว่า ขณะนี้อุตสาหกรรมบริษัทหลักทรัพย์เริ่มประสบปัญหาด้านผลประกอบการ   เนื่องจากการแข่งขันที่สูง และภาวะตลาดหุ้นไทยไม่คึกคัก ทำให้มีบริษัทหลายแห่งเตรียมขายกิจการ หรือควบรวมกิจการ  เพื่อความอยู่รอด โดยเฉพาะในกลุ่มบริษัทหลักทรัพย์ที่มีส่วนแบ่งทางการตลาด   ตั้งแต่อันดับที่ 20 ลงไป ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดเล็ก ที่ไม่มีธนาคารช่วยหนุน โดยจะเน้นให้บริการลูกค้ารายย่อยเพียงกลุ่มเดียว ซึ่งมีการเติบโตช้ามากในปัจจุบัน
         
นายสุชาย สุทัศน์ธรรมกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า การแข่งขันอุตสาหกรรมบริษัทหลักทรัพย์รุนแรงอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มมาตั้งแต่ปี 2556 ที่ภาวะตลาดดีและมูลค่าการซื้อขายสูง   ทำให้มีบริษัทหลักทรัพย์รายใหม่ทยอยเกิดขึ้นในตลาดอย่างต่อเนื่องประมาณ 6 รายและในช่วงปลายปีนี้มีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นอีก 1 ราย   ซึ่งจะทำให้เกิดการแย่งชิงบุคลากร และปรับลดค่าธรรมเนียมนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์(คอมมิชชั่น) เป็นระยะ โดยเฉพาะในบริษัทหลักทรัพย์ที่เน้นการซื้อขายทางอินเทอร์เน็ต เพราะลูกค้าบางส่วนยังต้องการต้นทุนการซื้อขายที่ถูก     รวมถึงบริษัทหลักทรัพย์หลายแห่งเริ่มมาแย่งชิงลูกค้ารายย่อยมากขึ้น จากเดิมที่เน้นการแย่งเพียงลูกค้ารายใหญ่เป็นหลัก
       
หลังจากนี้ต้องยอมรับว่า    การควบรวมกิจการของธุรกิจประกันและหลักทรัพย์    น่าจะมีให้เห็นอย่างเป็นระยะ   เพื่อสร้างอำนาจในการแข่งขันที่จะมีมากขึ้นตามลำดับ     

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 22 พ.ค. 2559 เวลา : 06:31:49
23-12-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ December 23, 2024, 3:53 am