น.ส.ศิริพร สินาเจริญ กรรมการผู้จัดการ บลจ.กรุงศรี เปิดเผยว่า“บริษัทจ่ายเงินปันผลกองทุนเปิดกรุงศรีหุ้นปันผล (KFSDIV) สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 31 ธ.ค. 58 – 31 มี.ค. 59 ในอัตรา 0.50 บาทต่อหน่วย โดยมีกำหนดจ่ายปันผลให้กับผู้ถือหน่วยในวันที่ 26 พ.ค. 59 มูลค่ารวมกว่า 867 ล้านบาท ทั้งนี้ ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2559 บลจ.กรุงศรี มียอดเงินลงทุนใหม่ในกองทุน KFSDIV มูลค่ากว่า 796 ล้านบาท”(ที่มา : บลจ.กรุงศรี เม.ย. 59)
“กองทุนเปิดกรุงศรีหุ้นปันผล (KFSDIV) มีนโยบายลงทุนในประเทศในหุ้นสามัญของบริษัทจดทะเบียนโดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 65 ของ NAV ความเสี่ยงสูงระดับ 6 โดยเน้นหุ้นคุณภาพดี มีความมั่นคง มีแนวโน้มจ่ายเงินปันผลดี ถือเป็นกองทุนที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างต่อเนื่องด้วยจุดเด่นที่มีประวัติการจ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ โดยกองทุนมีการประกาศจ่ายเงินปันผลไปแล้ว 30 ครั้ง ตั้งแต่จัดตั้งกองทุนในปี 2550 จนถึงวันที่ 26 พ.ค. 59 เป็นจำนวนเงินรวม 14.55 บาท กองทุน KFSDIV จึงเหมาะกับนักลงทุนที่ต้องการรับผลตอบแทนการลงทุนในรูปของเงินปันผลที่สม่ำเสมอและต้องการโอกาสที่จะได้รับผลกำไรส่วนเกิน”
สำหรับนักลงทุนที่มองหาโอกาสสร้างผลตอบแทนจากการปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นไทย อาจพิจารณาจัดสรรเงินลงทุนบางส่วนมาลงทุนในกองทุนหุ้นที่มีนโยบายเน้นลงทุนในหุ้นเติบโต(Growth stock) เพิ่มเติมนอกเหนือจากการลงทุนในกองทุนหุ้นปันผลแต่เพียงอย่างเดียว โดยกองทุนแนะนำภายใต้การบริหารจัดการของ บลจ.กรุงศรี ที่มีนโยบายการลงทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นเติบโต ได้แก่ กองทุนเปิดกรุงศรีอิควิตี้ (KFSEQ) และกองทุนเปิดกรุงศรีอิควิตี้ปันผล(KFSEQ-D) ที่มีนโยบายลงทุนในประเทศในหุ้นจดทะเบียนของบริษัทที่มีแนวโน้มการเติบโตทางธุรกิจสูงหรือมีปัจจัยพื้นฐานดี โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของ NAV ความเสี่ยงสูงระดับ 6 เช่นเดียวกับกองทุน KFSDIV จึงเหมาะกับผู้ที่รับความผันผวนในระยะสั้นได้ สำหรับกองทุน KFSEQ-D มีนโยบายจ่ายเงินปันผลด้วย
“บริษัทเชื่อมั่นว่าตลาดหุ้นไทยยังมีความน่าสนใจสำหรับการลงทุนเพื่อโอกาสรับผลตอบแทนที่ดีในระยะกลางถึงยาวแม้ว่าในระยะสั้นจะมีความผันผวนอยู่บ้าง แต่พื้นฐานหุ้นไทยยังคงแข็งแกร่งและมีความน่าสนใจ และเศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงฟื้นตัว ทั้งนี้ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/2559 ขยายตัว 3.2% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปีที่แล้ว หรือโต 0.9% จากไตรมาส 4/2558 ซึ่งสูงกว่าที่ตลาดคาดว่าจะขยายตัว 2.8% โดยได้แรงหนุนหลักจากการใช้จ่ายของภาครัฐและภาคการท่องเที่ยว ซึ่งการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาลเพิ่มขึ้น 8.0% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัว2.3% นอกจากนี้ การที่ตลาดตราสารหนี้ทั่วโลกให้ผลตอบแทนลดลงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้การลงทุนในตลาดหุ้นได้รับความสนใจและมีเงินเข้ามาลงทุนเพิ่มมากขึ้น” น.ส. ศิริพร กล่าว
ข่าวเด่น