วิทยาศาสตร์
ก.วิทย์ สวทช. และ ออโต้เดสก์ ร่วมกันขยายอุตสาหกรรมเทคโนโลยีการผลิตดิจิทัลในไทย




 


กระทรวงวิทย์ สวทช. และ ออโต้เดสก์ร่วมกันขยายอุตสาหกรรมเทคโนโลยีการผลิตดิจิทัลในประเทศไทยเน้นการนำระบบการออกแบบและซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการจัดการงานร่วมกันของออโต้เดสก์ไปใช้ในวงกว้างครอบคลุมทั้งอุตสาหกรรม ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันด้านการผลิตรวมทั้งเอื้อประโยชน์ต่อวิศวกรอาชีพถึง 100,000 คน

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  และ ออโต้เดสก์ ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อสนับสนุนการขยายศักยภาพการแข่งขันด้านการผลิตของประเทศไทย โดยเน้นการนำเทคโนโลยี 3 มิติ และระบบการผลิตแบบดิจิทัลที่ล้ำสมัย ไปใช้ในวงกว้างให้ครอบคลุมทั้งวงการอุตสาหกรรม
 

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ประเทศไทยในศตวรรษที่ 21 จะต้องเปลี่ยนผ่านจากโมเดลประเทศไทย 3.0 เป็น “โมเดลประเทศไทย 4.0” เพื่อพัฒนาประเทศให้ก้าวสู่การเป็นประเทศในโลกที่หนึ่ง ปรับเปลี่ยนจากประเทศ “รายได้ปานกลาง” เป็นประเทศ “รายได้สูง” โดยปรับเปลี่ยนจากเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วย “ประสิทธิภาพ” เป็นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วย “นวัตกรรม” กลไกหนึ่งที่จะขับเคลื่อนไปสู่เศรษฐกิจยุคประเทศไทย 4.0 นั้น คือ เทคโนโลยีอุตสาหกรรมยุค 4.0 ซึ่งจะมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาในการผลิตสินค้าต่างๆ มากยิ่งขึ้น จุดเด่นที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือ สามารถเชื่อมความต้องการของผู้บริโภคแต่ละรายเข้ากับกระบวนการผลิตสินค้าได้โดยตรง ทำให้โรงงานขนาดใหญ่ไม่ใช่ความได้เปรียบและข้อจำกัดสำหรับผู้ประกอบการเสมอไป ปรากฏการณ์นี้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างครั้งยิ่งใหญ่  
 

"จากความร่วมมือกับบริษัทชั้นนำระดับโลกอย่าง Autodesk กับ สวทช. ในครั้งนี้จะช่วยยกระดับ SME ไทย ในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการออกแบบและผลิต รวมทั้งยกระดับความสามารถของบุคลากรไทยให้รองรับอุตสาหกรรมการผลิตในอนาคต นำไปสู่อุตสาหกรรมเป้าหมายที่สร้างมูลค่าตามแนวทางของรัฐบาล   อาทิ อุตสาหกรรมทางชีวภาพ  อุตสาหกรรมพลังงานทดแทน อุตสาหกรรมด้านวิศวกรรมและการออกแบบ อุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องกับคุณภาพชีวิต และอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อความเข้มแข็งของประเทศต่อไป" ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าว


ทั้งนี้ สวทช. ซึ่งเป็นหน่วยงานในกำกับของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ ออโต้เดสก์ มุ่งหมายที่จะร่วมกันจัดตั้ง ดิจิทัล แมนูแฟคเจอริ่ง แพลตฟอร์ม (‘Digital Manufacturing Platform’) สนับสนุนแผนแม่บทเศรษฐกิจดิจิทัลแห่งชาติ (National Digital Economy Master Plan) โดยจะมอบสิทธิให้กับวิศวกรและนักวิชาชีพถึง 100,000 คน ทั้งจากองค์กรขนาดเล็กและใหญ่ ในการใช้ระบบ 3 มิติของออโต้เดสก์ ไม่ว่าจะเป็นระบบการออกแบบ การผลิต การจำลองสถานการณ์ เครื่องมือที่ใช้ในการจัดการงานร่วมกัน รวมถึงการบริการ และการอบรมต่างๆ ของทางออโต้เดสก์ เป็นเวลา 3 ปี 
 

“ซึ่งอุตสาหกรรมการผลิตมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจของประเทศเรา การผลิตด้วยเทคโนโลยีระบบดิจิทัล  และการพัฒนาทักษะและผู้เชี่ยวชาญ จะช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ตลาดที่มีความสามารถในการแข่งขันสูง ทั้งนี้ การจัดตั้ง ดิจิทัล แมนูแฟคเจอริ่ง แพลตฟอร์ม (‘Digital Manufacturing Platform’) ด้วยการสนับสนุนโดยออโต้เดสก์ จะช่วยผู้ประกอบการในประเทศในการเพิ่มศักยภาพด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการเชื่อมโยงและการทำงานร่วมกันซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ดิจิทัล” ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าว 
 
 

เทคโนโลยีหลักๆ 2 ตัว ของ ดิจิทัล แมนูแฟคเจอริ่ง แพลตฟอร์ม (‘Digital Manufacturing Platform’) นั้นประกอบด้วย Fusion 360 และ A360 Team ของออโต้เดสก์ ซึ่ง Fusion 360 นั้นรวมไปด้วยซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ที่ช่วยในการออกแบบ (CAD) การผลิต (CAM) และระบบวิศวกรรมผ่านคอมพิวเตอร์ (CAE) ซึ่งสามารถเข้าถึงได้จากเครื่องแมคอินทอช พีซี หรืออุปกรณ์การสื่อสารเคลื่อนที่ โดย Fusion 360 เป็นเครื่องมือแบบควบรวมที่สามารถใช้งานได้ง่าย และได้รับการสร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อรับรองวิถีใหม่ๆ ในการออกแบบและผลิต และยังให้ข้อมูลเชิงบริบท ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจในทุกมิติของโครงการการผลิต รวมทั้งสามารถใช้ร่วมกับทุกคนที่เกี่ยวข้องในโครงการผ่านซอฟต์แวร์ A360 ทั้งนี้ A360 ช่วยพัฒนาวิธีการทำงานร่วมกันของทุกฝ่าย โดยบันทึกข้อมูลและกิจกรรมทั้งหมดของโครงการ ซึ่งนับเป็นแหล่งข้อมูลกลางสำหรับทีมงานเพื่อการทำงานร่วมกัน

“เทคโนโลยี เช่น อินเทอร์เน็ตที่เชื่อมอุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ (Internet of Things) เทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือน วิทยาการหุ่นยนต์ และเทคนิคการผลิตแบบต่อเติม ล้วนกำลังมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงทั้งอุตสาหกรรม โดย ดิจิตัล แมนูแฟคเจอริ่ง แพลตฟอร์ม (Digital Manufacturing Platform) นั้น ถือเป็นการมอบเครื่องมือในการแปลงทุกจุดภายในห่วงโซ่คุณค่าด้านการผลิตให้แก่ผู้เชี่ยวชาญและบริษัทในประเทศ รวมทั้งให้
โอกาสประเทศไทยในการเป็นผู้นำด้านการสร้างสรรรค์สิ่งต่างๆ ในอนาคต (Future of Making Things)” คุณรามา ทิวาริ ผู้อำนวยการด้านการขายระดับภูมิภาคในอาเซียน ออโต้เดสก์ กล่าว
 

ดิจิทัล แมนูแฟคเจอริ่ง แพลตฟอร์ม (Digital Manufacturing Platform) จัดเป็นหนึ่งในความคิดริเริ่มต่างๆ ภายใต้การร่วมมือกันในปัจจุบันระหว่าง สวทช. และออโต้เดสก์ เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทย ทั้งนี้ หน่วยงานทั้งสองยังได้ร่วมมือกันในโครงการวิจัยและสร้างแพลตฟอร์มทางเทคโนโลยี เพื่อการสนับสนุนโครงการพัฒนา สมาร์ต ซิตี้ หรือเมืองอัจฉริยะของประเทศอีกด้วย 




บันทึกโดย : Adminวันที่ : 25 พ.ค. 2559 เวลา : 17:30:05
23-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 23, 2024, 9:44 pm