นางสาลินี วังตาล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยถึง มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของ SME หรือ GDP SME ในไตรมาสแรก ของปี 2559 ขยายตัวร้อยละ 5.1 นับเป็นการขยายตัว 7 ไตรมาสติดต่อกัน โดยมีมูลค่า 1.49 ล้านล้านบาท โดยสัดส่วน GDP SME ต่อ GDP ของประเทศ ขยับเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 42.3 จากร้อยละ 41.1 ในปี 2558
ซึ่งการเติบโตของ GDP SME นี้ มาจากการขยายตัวของภาคบริการเป็นสำคัญ ที่โดดเด่นมากคือธุรกิจการท่องเที่ยวที่ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องจากปี 2558 รวมทั้งมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐ ที่ส่งผลต่อภาคการบริการและภาคการค้า โดยสาขาธุรกิจที่มีการขยายตัวสูงในไตรมาสแรกของปีนี้ ได้แก่ ธุรกิจท่องเที่ยว-โรงแรมและภัตตาคาร ธุรกิจก่อสร้าง และธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ ส่วนธุรกิจที่ยังคงเติบโตได้ดี ได้แก่ธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง ธุรกิจบริการทางการเงิน และธุรกิจบริการด้านสุขภาพ
และจากการที่ภาคการท่องเที่ยวยังคงเติบโต ภาคการก่อสร้างและภาคการค้า ที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีจากโครงการลงทุนและมาตรการส่งเสริมต่างๆ จากภาครัฐ สสว. จึงยังคงประมาณการ GDP SME ปี 2559 เท่ากับร้อยละ 5.0 - 5.5
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SMEs ในเดือนเมษายน 2559 สาขาธุรกิจการท่องเที่ยวและขนส่ง (มวลชน) ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงมากสอดคล้องกับภาวะการท่องเที่ยวที่ดีมากในช่วงเทศกาลสงกรานต์และวันหยุดยาว แม้ว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคการค้าและบริการในภาพรวมจะปรับตัวลดลงจากเดือนมีนาคม 2559 เล็กน้อย เนื่องจากการหยุดยาวของธุรกิจในภาคค้าปลีกและภาคบริการบางสาขา
ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคการค้าและบริการ (Trade & Service Sentiment Index: TSSI) ในเดือนเมษายน 2559 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวลดลงจากเดือนมีนาคมจากระดับที่ 100.4 มาอยู่ในระดับที่ 95.0 ซึ่งเป็นผลจากปัจจัยด้านยอดจำหน่ายและกำไร ที่ลดลงจากภาคการค้าปลีก โดยเฉพาะในส่วนของค้าปลีกดั้งเดิมและค้าวัสดุก่อสร้าง และการขนส่ง(สินค้า) ซึ่งเป็นผลมาจากการหยุดยาวของธุรกิจในหลายพื้นที่รวมถึงในภาคอุตสาหกรรมการผลิตด้วย
ในขณะที่ ภาคบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวกลับมีดัชนีความเชื่อมั่นที่สูงขึ้นมากจากปัจจัยของยอดจำหน่ายและกำไร ได้แก่ ธุรกิจการท่องเที่ยว และธุรกิจขนส่ง (มวลชน) ที่ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นมากอยู่ที่ระดับ 120.4 และ 114.8 ตามลำดับ ส่วนธุรกิจโรงแรม ดัชนีความเชื่อมั่นอยู่ที่ระดับ 108.6 ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวที่ยังคงคึกคัก ในช่วงเทศกาลและวันหยุดยาวที่ประชาชนได้มีการเดินทางกลับภูมิลำเนาและเดินทางท่องเที่ยว ส่วนสาขาธุรกิจที่มีความเชื่อมั่นลดลงแต่ยังคงมีค่าดัชนีเกินกว่าฐานที่ 100 ได้แก่ ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ สถานีบริการน้ำมัน ร้านอาหาร ซึ่งการปรับตัวลดลงของดัชนีในเดือนเมษายน ถือเป็นทิศทางปกติ เพราะหลายธุรกิจที่ไม่อยู่ในพื้นที่ท่องเที่ยวมักจะหยุดยาวเช่นกัน ทำให้รายได้ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า
อย่างไรก็ดี สำหรับดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้านั้น อยู่ในระดับที่เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า คือ จากที่ระดับ 104.8 ในเดือนมีนาคม 2559 เป็นที่ระดับ 105.4 ในเดือนเมษายน 2559 แสดงว่าผู้ประกอบการยังคงมีความเชื่อมั่นในทิศทางอนาคต
ข่าวเด่น