เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
เพิ่มโทษพรบ.หลักทรัพย์ฯเอาผิดทางแพ่ง


 


ต้องยอมรับว่าการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหรือตลาดหุ้น  เป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยง    ซึ่งมีทั้งผู้ที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์   โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจชะลอตัว  การลงทุนจริงในภาคธุรกิจเติบโตได้ช้า    การเคลื่อนย้ายเงินทุนเป็นไปอย่างรวดเร็ว 

ดังนั้นการปรับปรุงกฎเกณฑ์ต่างๆให้มีความทันสมัย  จึงเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง    และล่าสุด คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบร่างพ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ฉบับใหม่   โดยได้แก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535   เพื่อ ให้สอดคล้องกับพัฒนาการของระบบการซื้อขายหลักทรัพย์และรองรับการเชื่อมโยง ระหว่างตลาดทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ   
 

รวมทั้งได้เพิ่มบทบัญญัติให้นำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้บังคับ ในกรณีที่มีผู้กระทำความผิดแทนมาตรการลงโทษทางอาญาได้บางกรณี เพราะที่ผ่านมากว่าคดีอาญาจะสิ้นสุดต้องใช้เวลานานมาก
         
พ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้  ยังได้ระบุถึงการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ โดยได้ปรับองค์ประกอบความผิดทางอาญาฐานต่างๆ  เพื่อประโยชน์ในการพิสูจน์ความจริงและเอาตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ และได้แก้ไขการกำหนดให้การกระทำของบุคคลบางลักษณะเข้าข้อสันนิษฐานทางข้อ เท็จจริง เพื่อประโยชน์ในการพิสูจน์ความผิดของจำเลย โดยในโทษทางอาญานั้น ได้ปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับบทลงโทษทางอาญาและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งปรับปรุงบทบัญญัติต่างๆ ที่กำหนดบทสันนิษฐานความรับผิดทางอาญาของผู้บริหาร เพื่อให้สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

ขณะที่มาตรการลงโทษทางแพ่ง ได้ปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับมาตรการลงโทษทางแพ่งจากร่างกฎหมาย ในการดำเนินการเกี่ยวกับมาตรการลงโทษทางแพ่งใหม่ การกำหนดลักษณะของการกระทำความผิดที่อาจดำเนินมาลงโทษทางแพ่งกับผู้ที่ทำ ความผิดให้ชัดเจน และเป็นธรรมมากขึ้น เพิ่มมาตรการลงโทษในเรื่องการห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทที่ออก หลักทรัพย์หรือบริษัทหลักทรัพย์ภายในระยะเวลาที่กำหนด ต้องไม่เกิน 10 ปี พร้อมทั้งปรับปรุงองค์ประกอบของคณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่งอย่างเหมาะสมด้วย

ขณะที่นายบัณฑิต  นิจถาวร   กรรมการผู้อำนวยการ สถาบันกรรมการบริษัทไทย(ไอโอดี) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของกรรมการไทย ปี 2559 ว่า   ส่วนใหญ่เห็นว่าบทลงโทษกรรมการหรือผู้บริหารที่กระทำความผิดในลักษณะที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้ถือหุ้นในปัจจุบัน รวมถึง การใช้ข้อมูลภายใน   ซึ่งส่วนใหญ่สิ้นสุดที่การถูกปรับนั้น เบาเกินไป และกรรมการที่กระทำผิดควรได้รับทั้งโทษปรับ จำคุก รวมทั้ง ตัดสิทธิการเป็นกรรมการ
         
 
 
 
ซึ่งจากการศึกษาข้อมูลบนเว็บไซต์ของก.ล.ต. พบว่า   ส่วนใหญ่กรรมการหรือผู้บริหารที่กระทำผิดในลักษณะการกระทำอันไม่เป็นธรรมแก่ผู้ถือหุ้น จะถูกลงโทษแค่ปรับเท่านั้น และยังเป็นกรรมการต่อไปได้  รวมถึงยังพบบางรายกระทำผิดซ้ำในเรื่องเดียวกัน    ดังนั้น บทลงโทษควรเพิ่มความเข้มข้นมากขึ้นเพื่อให้ผู้จะกระทำเกิดความเกรงกลัว   ซึ่งการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพย์สิน ถือเป็นความผิดร้ายแรงที่บริษัทไม่ควรเพิกเฉย   โดยคณะกรรมการควรตรวจสอบให้มั่นใจว่าบุคคลที่จะเสนอชื่อเป็นกรรมการต้องไม่มีประวัติการกระทำผิดตามพ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์มาก่อน

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 01 มิ.ย. 2559 เวลา : 07:09:03
26-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 26, 2024, 4:26 am