เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
คาดมูลค่าตลาดเน็ตบ้านปี 2559 อยู่ที่ 52,839-54,908 ลบ.แข่งเข้มข้น




 


ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์ "ตลาดเน็ตบ้านแข่งขันเดือด เพื่อแย่งชิงเค้กในปี 59 กว่า 5 หมื่นล้านบาท"

ถึงแม้ว่าจำนวนผู้ใช้บริการเน็ตบ้านจะมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ภาวะการแข่งขันอย่างเข้มข้น และการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี ADSL/VDSL สู่ใยแก้วนำแสงนั้น ทำให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ค่าบริการเฉลี่ยที่ผู้บริโภคจ่ายในปี 2559 น่าจะอยู่ที่ 607 บาทต่อเดือน ลดลงราวร้อยละ -1.9 จากปีที่แล้ว ส่งผลให้มูลค่าตลาดเน็ตบ้านปี 2559 น่าจะอยู่ที่ 52,839-54,908 ล้านบาท หดตัวเล็กน้อยเพียงร้อยละ -2.9 ถึงขยายตัวร้อยละ 1.2

ประเด็นสำคัญ
การเข้ามาของผู้ให้บริการเน็ตบ้านรายใหม่ กระตุ้นการแข่งขันในตลาดเน็ตบ้านให้ทวีความเข้มข้นขึ้น เนื่องจากผู้เล่นรายใหม่มีการนำเสนอเทคโนโลยีใยแก้วนำแสงเป็นจุดขาย ส่งผลให้ผู้ให้บริการรายเดิมต้องมีการปรับตัว ทั้งการใช้กลยุทธ์ด้านราคาและการสร้างความแตกต่างของบริการ เพื่อรักษาและช่วงชิงฐานลูกค้า 
 
จากภาวะการแข่งขันดังกล่าว ผลดีย่อมตกแก่เงินในกระเป๋าของผู้บริโภค ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในระยะกลาง การเปลี่ยนผ่านจากเทคโนโลยี ADSL สู่เทคโนโลยีใยแก้วนำแสง จะทำให้ค่าบริการเน็ตบ้านต่อความเร็วดาวน์โหลดน่าจะลดลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 54.8 เมื่อเทียบกับค่าบริการ ADSL
 
นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า มูลค่าตลาดเน็ตบ้านในปี 2559 น่าจะอยู่ที่ 52,839-54,908 ล้านบาท หดตัวเล็กน้อยร้อยละ -2.9 ถึงขยายตัวร้อยละ 1.2 จากปี 2558 ที่ขยายตัวร้อยละ 11.4 และมีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 54,231 ล้านบาท 
 

ในยุคที่บรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตแบบไร้สาย(หรือเน็ตมือถือ)กำลังเป็นที่นิยมอย่างมาก อีกทั้งการเข้าสู่ยุค 4G เมื่อต้นปีที่ผ่านมา มีส่วนช่วยสนับสนุนรูปแบบการใช้ชีวิตออนไลน์ของผู้บริโภคในปัจจุบัน โดยทุกวันนี้ผู้บริโภคนิยมใช้บริการคอนเทนท์ เช่น การชมภาพยนตร์ออนไลน์ ดูซีรี่ส์หรือรายการทีวีออนไลน์ในรูปแบบความคมชัดสูง เป็นต้น สะท้อนได้จากปริมาณข้อมูลใช้งานโดยรวม (รวมทั้งเน็ตมือถือและเน็ตบ้าน) ซึ่ง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 2559 จะเพิ่มขึ้นเป็น 275,383 เทระไบต์ต่อเดือน สูงกว่าปี 2556 ที่ข้อมูลใช้งานอยู่ที่ 80,553 เทระไบต์ต่อเดือน ราว 2.4 เท่า ส่งผลให้ความต้องการดังกล่าวถ้าตอบสนองด้วยเน็ตมือถือ ผู้บริโภคอาจจะต้องจ่ายค่าบริการค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับการใช้งานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตแบบมีสาย (หรือเน็ตบ้าน)
 
ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้น เน็ตบ้านยังคงมีความสำคัญ เพราะให้ความเร็วในการดาวน์โหลดสูงและมีความเสถียรในการรับส่งข้อมูล อีกทั้งผู้บริโภคยังใช้งานข้อมูลได้อย่างไม่จำกัด ส่งผลให้ค่าบริการเน็ตบ้านถูกกว่าเน็ตมือถือ ทำให้แม้เน็ตมือถือจะเป็นที่นิยม แต่ก็กระทบกับตลาดเน็ตบ้านไม่มากนัก นอกจากนี้ ปัจจุบันตลาดเน็ตบ้านยังมีความน่าสนใจมากขึ้น จากการเข้ามาของผู้เล่นรายใหม่ ที่ชูจุดขายเรื่องการเชื่อมต่อผ่านใยแก้วนำแสง ส่งผลให้มีความเร็วในการให้บริการสูงกว่า ADSL ถึง 40 เท่า ประกอบกับมีการใช้กลยุทธ์ด้านราคาสู้กับผู้ให้บริการรายเดิม เพื่อช่วงชิงลูกค้าระหว่างกัน ทำให้การแข่งขันในตลาดเน็ตบ้านทวีความเข้มข้นขึ้น

แม้ตลาดเน็ตบ้านจะมีผู้ให้บริการมากราย  แต่ส่วนแบ่งการตลาดทั้งในด้านมูลค่าและจำนวนผู้ใช้งานส่วนใหญ่อยู่ในมือของผู้ให้บริการเพียง 3 รายใหญ่เท่านั้น ทั้งนี้ ในปี 2558 ผู้ให้บริการทั้ง 3 ราย มีส่วนแบ่งทางการตลาดรวมกันราวร้อยละ 79.4 ของมูลค่าตลาดรวม และมีจำนวนผู้ใช้งานรวมกันราวร้อยละ 90.6 ของจำนวนผู้ใช้งานทั้งหมด จึงไม่น่าแปลกใจที่กลยุทธ์การตลาดหลักๆ จะมาจากผู้ให้บริการทั้ง 3 ราย อย่างไรก็ดี การเข้ามาของผู้ให้บริการรายใหม่ ที่มีความพร้อมด้านเทคโนโลยีและเงินทุน ส่งผลต่อภาวะการแข่งขันของตลาดเน็ตบ้านในปี 2559 ทวีความเข้มข้นขึ้น โดยการทำการตลาดของผู้ให้บริการเน็ตบ้าน สามารถวิเคราะห์ได้ดังนี้

ผู้ให้บริการรายใหม่ 
 
ผู้ให้บริการรายใหม่ซึ่งเป็นผู้เล่นหลักรายหนึ่งในธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ ได้เข้าสู่ตลาดเน็ตบ้านโดยชูเทคโนโลยีการเชื่อมต่อเน็ตบ้านผ่านใยแก้วนำแสงในการทำการตลาด และเน้นทำตลาดในเขตกรุงเทพและปริมณฑลก่อน เพื่อต้องการตอบสนองการใช้ชีวิตออนไลน์ของผู้บริโภคในเมืองใหญ่ โดยผู้ให้บริการรายใหม่มีการนำเสนอบริการเน็ตบ้านความเร็วสูงผ่านใยแก้วนำแสงในหลายระดับราคาตามความเร็วในการดาวน์โหลด เพื่อแข่งขันกับผู้ให้บริการรายเดิมที่นำเสนอเน็ตบ้านผ่านสายโทรศัพท์ADSL/VDSL   ซึ่งมีผู้ใช้งานอยู่ราวร้อยละ 82.0 ของผู้ใช้งานเน็ตบ้านทั้งหมดในปี 2558 
สำหรับการเจาะกลุ่มลูกค้ารายใหม่ ผู้ให้บริการได้เน้นการเข้าไปวางโครงข่ายใยแก้วนำแสงในโครงการคอนโดมีเนียมหรือหมู่บ้านจัดสรรสร้างใหม่ เพื่อยึดการให้บริการในพื้นที่ดังกล่าว ทำให้สามารถขยายฐานลูกค้าได้อีกทางหนึ่ง อีกทั้งยังมีการใช้กลยุทธ์ราคาโดยการเสนอส่วนลดเพิ่มถ้าลูกค้าเน็ตบ้านเป็นลูกค้าโทรศัพท์เคลื่อนที่ด้วย เป็นต้น

ผู้ให้บริการรายเดิม 
 
ผู้ให้บริการรายเดิมยังคงเน้นการให้บริการผ่าน ADSL/VDSL ในขณะที่บางรายมีการให้บริการผ่านใยแก้วนำแสง แต่พื้นที่ให้บริการยังอยู่ในวงจำกัด โดยพื้นที่ให้บริการส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯและปริมณฑล อย่างไรก็ดี จากการเข้ามาของผู้เล่นรายใหม่ที่เสนอบริการผ่านใยแก้วนำแสง ส่งผลให้ผู้ให้บริการรายเดิมเริ่มมีการปรับตัวเพื่อรองรับการแข่งขันที่ทวีความเข้มข้นขึ้น 
 
ทั้งนี้ ผู้ให้บริการรายเดิมมีการปรับตัวผ่านการนำเสนอบริการเน็ตบ้านใยแก้วนำแสงแก่ลูกค้าเดิมที่อยู่ในพื้นที่ให้บริการ และการอัพเกรดเทคโนโลยีจาก ADSL เป็น VDSL ซึ่งให้ความเร็วในการดาวน์โหลดสูงขึ้น แต่คิดค่าบริการไม่ต่างกับค่าบริการ ADSL แก่ลูกค้าเดิมที่อยู่นอกพื้นที่ให้บริการเน็ตบ้านใยแก้วนำแสง ขณะเดียวกัน ผู้ให้บริการก็มีการขยายฐานลูกค้าเพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าที่มีความต้องการใช้เน็ตบ้านความเร็วสูงและเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง ด้วยการเข้าไปวางโครงข่ายใยแก้วนำแสง ในโครงการคอนโดมิเนียมหรือหมู่บ้านจัดสรรสร้างใหม่เช่นเดียวกับผู้ให้บริการรายใหม่ 
จากภาวะการแข่งขันดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในระยะสั้น (2559) นั้น กลยุทธ์ด้านราคาผ่านการนำเสนอแพ็กเกจบริการที่หลากหลายเป็นกลยุทธ์หลักที่ผู้ให้บริการเลือกใช้ เพื่อรักษาลูกค้าเดิมและแย่งชิงลูกค้าระหว่างกัน และการแข่งขันดังกล่าวจะค่อนข้างดุเดือด เนื่องจากการเร่งทำการตลาดของผู้ให้บริการรายใหม่ อย่างไรก็ตาม ในมุมของผู้บริโภค การเปลี่ยนจากเทคโนโลยี ADSL ไปสู่ VDSL ทำให้ค่าบริการเน็ตบ้านต่อความเร็วดาวน์โหลดลดลงไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50.0 เมื่อเทียบกับเทคโนโลยี ADSL เดิม

สำหรับในระยะกลางนั้น (2560-2561) ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า จะเป็นการเปลี่ยนผ่านจากเทคโนโลยี ADSL/VDSL สู่เทคโนโลยีใยแก้วนำแสงอย่างเต็มรูปแบบและครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ จากการเร่งลงทุนขยายโครงข่ายใยแก้วนำแสงของผู้ให้บริการ นอกจากนี้ กลยุทธ์การทำตลาดจะมีความแตกต่างจากระยะสั้น เพราะผู้ให้บริการน่าจะลดการใช้กลยุทธ์ด้านราคา แต่จะหันไปสร้างความแตกต่างในบริการแทน เนื่องจากต้องการรักษารายได้จากการให้บริการ และเน้นการตอบสนองประเด็นความคุ้มค่าในการใช้บริการของผู้บริโภคมากขึ้น
 
 
 
 
ความต้องการของผู้บริโภคในช่วงปี 2560-2561 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงมองว่า ผู้บริโภคยังมีความต้องการใช้งานข้อมูลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากปริมาณข้อมูลใช้งานในปี 2560 และ 2561 น่าจะอยู่ที่ราว 38.8 และ 46.0 กิกะไบต์ต่อรายต่อเดือน เติบโตต่อเนื่องจากปี 2559 ราว 1.44 และ 1.70 เท่าตามลำดับ ส่งผลให้ผู้บริโภคยังคงมีความต้องการใช้งานเน็ตบ้านความเร็วสูง เนื่องจากสามารถตอบสนองปริมาณข้อมูลใช้งานดังกล่าวได้ดีกว่าเน็ตมือถือ นอกจากนี้ จากการเร่งขยายการวางโครงข่ายของผู้ให้บริการและนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติของภาครัฐจะมีส่วนช่วยขยายการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น ซึ่ง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า จำนวนผู้ใช้บริการเน็ตบ้านในช่วงปี 2560 และ 2561 จะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 8.5 และ 9.9 ล้านรายตามลำดับ ซึ่งน่าจะเป็นโอกาสทางธุรกิจของผู้ให้บริการในการช่วงชิงส่วนแบ่งทางการตลาดที่ขยายใหญ่ขึ้น
จากความต้องการของผู้บริโภคข้างต้น และแนวโน้มการเข้าถึงเน็ตบ้านมากขึ้นจากการขยายโครงข่ายใยแก้วนำแสง นำมาซึ่งการแข่งขันของผู้ให้บริการเน็ตบ้าน เพื่อแย่งชิงและรักษาส่วนแบ่งทางการตลาด โดยในช่วงระยะกลางนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ผู้ให้บริการทั้งรายเก่าและรายใหม่จะมุ่งสู่บริการเน็ตบ้านใยแก้วนำแสงเป็นหลัก และน่าจะลดการใช้กลยุทธ์ด้านราคา แต่จะเน้นสร้างความแตกต่างของบริการด้วยการเสนอบริการอื่นๆ ที่คู่แข่งอาจจะไม่มี เช่น การเสนอบริการรับชมรายการโทรทัศน์ผ่านอินเทอร์เน็ต (IPTV) หรือการเสนอบริการเน็ตบ้านควบคู่กับเน็ตมือถือในราคาที่ย่อมเยา เป็นต้น


ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ถึงแม้ว่าการทำการตลาดในระยะกลางนั้น ผู้ให้บริการน่าจะลดการใช้กลยุทธ์ด้านราคา แต่ผู้บริโภคยังคงได้ประโยชน์ ด้วยเทคโนโลยีใยแก้วนำแสง จะทำให้ค่าบริการเน็ตบ้านต่อความเร็วดาวน์โหลดถูกลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 54.8 เมื่อเทียบกับเทคโนโลยี VDSL 

 
จากภาวะการแข่งขันอย่างเข้มข้นของผู้ให้บริการ และพฤติกรรมของผู้บริโภคดังกล่าวข้างต้น ส่งผลให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมิน มูลค่าตลาดเน็ตบ้านในปี 2559 น่าจะมีมูลค่าอยู่ที่ 52,839-54,908 ล้านบาท หดตัวเล็กน้อยเพียงร้อยละ -2.9 ถึงขยายตัวร้อยละ 1.2 จากปี 2558 ที่ขยายตัวร้อยละ 11.4 และมีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 54,231 ล้านบาท สาเหตุที่หดตัวมาจากการใช้กลยุทธ์ด้านราคาของผู้ให้บริการ นอกจากนี้ คาดว่า ค่าใช้บริการเน็ตบ้านเฉลี่ยรายเดือนในปี 2559 น่าจะอยู่ที่ 606.7 บาทต่อราย ลดลงอย่างต่อเนื่องร้อยละ      -1.9 จากปี 2558 ที่อยู่ที่ 618.3 บาทต่อราย

ภายใต้ภาวะการแข่งขันอย่างดุเดือดของผู้ให้บริการเน็ตบ้าน นำมาซึ่งผลกระทบทางตรง คือ ทำให้ผู้บริโภคมีโอกาสใช้เน็ตบ้านที่มีความเร็วสูงขึ้น ด้วยค่าบริการต่อความเร็วดาวน์โหลดที่มีแนวโน้มถูกลงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังสร้างผลกระทบทางอ้อมด้วย จากการเร่งขยายโครงข่ายใยแก้วนำแสงเพื่อให้บริการเน็ตบ้านเท่ากับเป็นการขยายโอกาสให้ประชาชน โดยเฉพาะในต่างจังหวัด ให้สามารถเข้าถึงบริการด้านโทรคมนาคม ซึ่งจะเอื้อให้เกิดประโยชน์ในการประกอบอาชีพและการดำเนินชีวิต เช่น สนับสนุนเกษตรกรหรือผู้ผลิตสินค้า       โอทอปให้เข้าถึงช่องทางการขายของออนไลน์ หรือช่วยบรรเทาปัญหาขาดแคลนแพทย์ในต่างจังหวัด เพราะสามารถใช้วิธีการวินิจฉัยหรือรักษาผ่านออนไลน์ได้ เป็นต้น และส่งผลสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยเปลี่ยนสู่เศรษฐกิจดิจิตอลมากขึ้นในอนาคต 


 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 03 มิ.ย. 2559 เวลา : 07:11:23
26-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 26, 2024, 4:53 am