ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์ หรืออีไอซี ออกบทวิเคราะห์ สรุปภาพรวมเศรษฐกิจปี 2016 อีไอซีปรับประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2016 เป็น 2.8% จากเดิม 2.5% จากการเติบโตของเศรษฐกิจในไตรมาสแรกสูงกว่าที่คาดไว้เดิมและภาคการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มเติบโตดีตลอดทั้งปี
อีไอซีปรับประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2016 เป็น 2.8% จากเดิม 2.5% จากการเติบโตของเศรษฐกิจในไตรมาสแรกสูงกว่าที่คาดไว้เดิมและภาคการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มเติบโตดีตลอดทั้งปี
เศรษฐกิจที่ขยายตัวดีกว่าคาดในไตรมาสแรกได้รับแรงสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายด้านการบริโภคของภาครัฐที่เติบโตดีกว่าที่คาดจากการเร่งเบิกจ่ายในการซื้อสินค้าบริการ นอกจากนี้ การลงทุนภาคเอกชนยังเติบโตได้ดีกว่าที่คาดเช่นกัน จากการก่อสร้างที่ขยายตัวตามมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ของภาครัฐและการลงทุนในระดับท้องถิ่นจากเงินโอนที่ได้รับผ่านกองทุนหมู่บ้าน
อย่างไรก็ตาม อีไอซีประเมินว่าปัจจัยที่สนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจในไตรมาสแรกมาจากปัจจัยชั่วคราวและการเร่งใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในช่วงต้นปีเป็นสำคัญ โดยการเติบโตในช่วงที่เหลือของปีอาจจะชะลอตัวลงหลังจากเร่งใช้จ่ายไปในช่วงก่อนหน้าและจะได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐลดลง เนื่องจากมีการเบิกจ่ายไปแล้วเป็นส่วนใหญ่และบางมาตรการได้เริ่มทยอยหมดอายุลง ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีจะยังคงได้รับอานิสงส์หลักจากภาคการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่อง และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐขณะที่สัญญาณบวกที่บ่งชี้การฟื้นตัวต่อเนื่องของอุปสงค์ภาคเอกชนในส่วนอื่นยังไม่ชัดเจน
แรงกดดันที่สำคัญต่อเศรษฐกิจไทยในปีนี้มาจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศ ด้วยแนวโน้มแรงงานที่มีชั่วโมงการทำงานที่ลดลง ประกอบกับภาระหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูงซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการขยายตัวของการบริโภคภายในประเทศในช่วงที่เหลือของปี นอกจากนี้ เศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีแนวโน้มเติบโตอย่างช้าๆ โดยมีภาคบริการเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมของโลกยังคงชะลอตัว ประกอบกับราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ภาคการส่งออกของไทยยังมีข้อจำกัดในการฟื้นตัว
อีไอซีประเมินว่าการส่งออกสินค้าของไทยในปีนี้มีโอกาสหดตัวต่อเนื่องจากปีก่อนหน้าที่ 1.7% เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงของการชะลอตัวรุนแรงของจีนที่ลดลง แต่ยังคงมีความเสี่ยงของความผันผวนในตลาดการเงินโลกที่เพิ่มขึ้นจากเงินทุนเคลื่อนย้ายที่มีความอ่อนไหวมากขึ้นต่อการเปลี่ยนแปลงของนโยบายการเงินประเทศสำคัญ ซึ่งอีไอซีประเมินว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีแนวโน้มจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยมีความเป็นไปได้ตั้งเเต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงเงินทุนไหลออกต่อไทยมีค่อนข้างจำกัด เนื่องจากเสถียรภาพทางการเงินของไทยยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดีจากดุลบัญชีเดินสะพัดมีแนวโน้มเกินดุลในระดับสูงและปริมาณเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่มีเพียงพอ สำหรับนโยบายการเงินของไทย
อีไอซีมองว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5% แม้ว่าเศรษฐกิจยังอยู่ในแนวโน้มชะลอตัว จากความกังวลต่อประสิทธิภาพของนโยบายการเงินและการเพิ่มขึ้นของความเสี่ยงจากพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทน (search for yield) ด้านค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าจากปีก่อนหน้า อีไอซีคาดว่าค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ จะอยู่ที่ 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงปลายปี 2016
Bull - Bear: ราคาน้ำมัน
Bear - ราคาน้ำมันดิบในใตรมาส 3 ปี 2016 มีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากตลาดน้ำมันยังมีอุปทานส่วนเกินอยู่ราว 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยส่วนใหญ่มาจากการขยายตัวของปริมาณการผลิตและการส่งออกของกลุ่ม OPEC โดยเฉพาะอิหร่านที่พยายามส่งออกน้ำมันให้ได้สูงขึ้นหลังได้รับการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร ในขณะที่ซาอุดีอาระเบียยังยืนยันนโยบายรักษาส่วนแบ่งการตลาด อย่างไรก็ตาม แท่นขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐฯ ที่ลดลงสะท้อนว่าการผลิตน้ำมันในสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัว ซึ่งจะช่วยกดดันอุปทานน้ำมันไม่ให้เพิ่มสูงขึ้นมากนัก นอกจากนี้ ยังต้องจับตาความขัดแย้งทางการเมืองในกลุ่ม OPEC ซึ่งจะเป็นปัจจัยผลักดันราคาน้ำมันดิบให้สูงขึ้นในระยะสั้น
In focus: การลงทุนภาครัฐเติบโตอย่างโดดเด่นหรือโดดเดี่ยว?
การลงทุนภาครัฐเป็นผู้นำของเศรษฐกิจไทยในอดีต เพราะเป็นการสร้างรากฐานแก่กิจกรรมทางเศรษฐกิจมากมาย และยังดึงดูดให้เกิดการลงทุนภาคเอกชน อย่างไรก็ตาม การลงทุนภาครัฐได้เริ่มลดบทบาทความสำคัญต่อเศรษฐกิจและการลงทุนภาคเอกชนลงอย่างต่อเนื่อง แม้ว่า ในปีที่ผ่านมา การลงทุนภาครัฐจะสามารถเติบโตได้ในระดับสูงแต่กลับเป็นเพียงการเติบโตอย่างโดดเดี่ยวขัดแย้งกับการหดตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ของการลงทุนภาคเอกชน อะไรเป็นสาเหตุของปรากฎการณ์ดังกล่าว? และในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับความยากลำบากในการเติบโตนั้น การลงทุนภาครัฐจะกลับมาเป็นผู้นำเศรษฐกิจและการลงทุนเช่นในอดีตอีกครั้งได้อย่างไร?
In focus: เศรษฐกิจกลุ่มประเทศ CLMV ในอีก 5 ปีข้างหน้า…ไทยเตรียมรับปรับตัวอย่างไร
เศรษฐกิจในกลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งประกอบไปด้วย กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม มีความสามารถขยายตัวได้ในระดับสูงพร้อมกับดึงดูดการค้าการลงทุนจากต่างชาติได้มาก เนื่องจากค่าแรงในประเทศที่อยู่ในระดับต่ำ การได้รับสิทธิพิเศษทางการค้า และมีทรัพยากรธรรมชาติอยู่เป็นจำนวนมาก โดยในอีก 5 ปีข้างหน้านั้น อีไอซีประเมินว่าเวียดนามจะมีศักยภาพที่จะก้าวขึ้นมาเป็นประเทศที่เศรษฐกิจขับเคลื่อนด้วยประสิทธิภาพผ่านการยกระดับเทคโนโลยีการผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพแรงงาน ส่วนเมียนมา กัมพูชา และลาว ยังมีข้อจำกัดด้านสถาบันและระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ยังต้องได้รับการพัฒนาอีกพอสมควรอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพของไทยมีความเชื่อมโยงกับกลุ่มประเทศ CLMV มากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งทางด้านการค้าที่เพิ่มขึ้นจากสิทธิประโยชน์ทางภาษีต่างๆ ตลอดจนการลงทุนที่เพิ่มขึ้นเพื่อเข้าถึงทรัพยากร ดังนั้น ปัจจัยความสำเร็จสำหรับผู้ประกอบการไทยที่จะไปลงทุนในกลุ่มประเทศ CLMV คือ การหาหุ้นส่วนหรือที่ปรึกษาทางธุรกิจที่เชื่อถือได้ในการแนะแนวทางการทำธุรกิจ เนื่องจากกลุ่มประเทศดังกล่าวนี้ กำลังเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านที่สำคัญทั้งด้านนโยบายทางการเมืองเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม
ข่าวเด่น