บลจ.กสิกรไทย จ่ายปันผลกองทุนเปิดดัชนีพันธบัตรไทยเอบีเอฟ (ABFTH) ในอัตรา 15 บาทต่อหน่วย รวมมูลค่ากว่า 86 ล้านบาท ผู้ลงทุนเตรียมรับเงิน 14 มิ.ย นี้ พร้อมเตรียมย้ายกองทุนจากตลาดตราสารหนี้ (BEX) เข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET) เพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องและให้เข้าลงทุนได้ง่ายขึ้น
นายชัชชัย สฤษดิ์อภิรักษ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด (บลจ. กสิกรไทย) เปิดเผยว่า บลจ.กสิกรไทย เตรียมจ่ายเงินปันผลกองทุนเปิดดัชนีพันธบัตรไทยเอบีเอฟ (ABFTH) สำหรับผลการดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2558 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2559 โดยจ่ายเงินปันผลในอัตรา 15.00 บาทต่อหน่วย มูลค่าการจ่ายเงินปันผลรวม 86.33 ล้านบาท โดยจะจ่ายให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนที่มีรายชื่อในสมุดทะเบียนเวลา 8.00 น. ของวันที่ 31 พฤษภาคม 2559 และมีกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 14 มิถุนายน 2559
กองทุนเปิดดัชนีพันธบัตรไทยเอบีเอฟ (ABFTH) เป็นกองทุนรวม ETF กองทุนแรกของไทยที่มีการลงทุนโดยอ้างอิงกับดัชนีตราสารหนี้ภาครัฐ (iBoxx ABF Thailand Index) โดยกองทุนมีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาลไทย หรือออกโดยภาครัฐที่มีรัฐบาลไทยเป็นผู้ค้ำประกัน หรือได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือไม่ต่ำกว่าระดับ Investment Grade จากสถาบันจัดอันดับที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ปัจจุบันกองทุนมีขนาดประมาณ 7,000 ล้านบาท และจดทะเบียนซื้อขายอยู่ในตลาดตราสารหนี้ (BEX) ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยมีธนาคารกสิกรไทยเป็นผู้ดูแลสภาพคล่องในตลาดรอง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้คณะกรรมการที่ปรึกษากองทุนกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาให้ย้ายการซื้อขายกองทุน ABFTH จากตลาดตราสารหนี้ (BEX) เข้าไปจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เพื่อเป็นการส่งเสริมให้กองทุนเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น รวมถึงยังเป็นการช่วยเพิ่มขนาดกองทุนและสภาพคล่องให้มีมากขึ้นด้วย นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้นักลงทุนทั่วไปรวมถึงนักลงทุนสถาบันสามารถเข้าลงทุนได้ง่ายขึ้น โดยคาดว่ากองทุนจะเริ่มจดทะเบียนใน SET ได้ในช่วงเดือนกรกฎาคมนี้
จุดเด่นของกองทุน ABFTH คือ เป็นกองทุนรวม ETF ดัชนีตราสารหนี้ภาครัฐที่มีความเสี่ยงด้านการผิดนัดชำระหนี้ต่ำมาก และมีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่สูงเนื่องจากกองทุนมีอายุเฉลี่ยของตราสาร (Portfolio Duration) ยาวกว่ากองทุนรวมตราสารหนี้ทั่วไป ซึ่งเหมาะกับนักลงทุนสถาบันที่ต้องการกระจายการลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะยาว และต้องการบริหาร Portfolio Duration ที่มีระยะเวลาเฉลี่ยประมาณ 6 ปี รวมถึงผู้ลงทุนรายย่อยที่ต้องการลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาวเพื่อโอกาสรับผลตอบแทนที่สูงขึ้นกว่าตราสารหนี้ระยะสั้น พร้อมทั้งยังมีสภาพคล่องเนื่องจากสามารถซื้อขายผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
"สำหรับผลการดำเนินงานของกองทุนที่ผ่านมา ด้วยจุดเด่นของกองทุน ABFTH ที่มุ่งเน้นลงทุนในพันธบัตรที่มีความมั่นคงสูง และมุ่งสร้างผลตอบแทนให้อยู่ในระดับที่ดีใกล้เคียงกับดัชนีอ้างอิง ทำให้กองทุนยังรักษาผลการดำเนินงานอยู่ในระดับที่น่าพอใจ และสามารถจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ลงทุนได้อย่างสม่ำเสมอตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี นับตั้งแต่จัดตั้งกองทุนเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2549 โดยกองทุนมีการจ่ายเงินปันผลไปแล้ว 21 ครั้ง รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 388.36 บาทต่อหน่วย ส่วนในรอบผลการดำเนินงานที่ผ่านมา (1 ธ.ค. 58 – 31 พ.ค. 59) กองทุนให้ผลตอบแทนอยู่ที่ 3.83%" นายชัชชัยกล่าว
ด้านสถานการณ์ตลาดตราสารหนี้ไทยในช่วงที่ผ่านมา นายชัชชัยกล่าวว่า "ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ตลาดตราสารหนี้ไทยมีความผันผวนค่อนข้างสูง โดยปัจจัยหลักมาจากการคาดการณ์ของตลาดต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ทั้งนี้ราคาตราสารหนี้ไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นมากตั้งแต่ต้นปี 59 เนื่องจากตลาดคาดการณ์ว่า FED จะชะลอการขึ้นดอกเบี้ยออกไปก่อน ทำให้มีเม็ดเงินลงทุนเข้าซื้อพันธบัตรอย่างต่อเนื่อง
แต่ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ออกมาแข็งแกร่งส่งผลให้ตลาดคาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับขึ้นดอกเบี้ยมากขึ้น ส่งผลให้นักลงทุนเทขายพันธบัตรและกดดันราคาให้ปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ล่าสุด ราคาพันธบัตรปรับตัวกลับขึ้นมาอีกครั้ง หลังสหรัฐฯประกาศตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรในเดือนพ.ค. ซึ่งออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาด ทำให้โอกาสในการขึ้นดอกเบี้ยของ FED มีน้อยลงไปอีก"
นายชัชชัยกล่าวต่อไปว่า สำหรับมุมมองตลาดตราสารหนี้ไทยในช่วงครึ่งปีหลัง บลจ.กสิกรไทย มองว่าแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ยังคงเป็นปัจจัยหลักที่กดดันตลาดตราสารหนี้ให้เกิดความผันผวนในระยะสั้น แต่ทั้งนี้คาดว่าจะมีความผันผวนไม่มากเหมือนครึ่งปีแรกที่ผ่านมา เนื่องจากตลาดมีการรับรู้ไปมากแล้วถึงจังหวะในการปรับขึ้นดอกเบี้ยของ FED ว่ามีโอกาสปรับขึ้นได้ 2 ครั้งภายในปีนี้ ประกอบกับปริมาณสภาพคล่องในระบบที่ยังมีอยู่สูงจากมาตรการ QE ของธนาคารกลางยุโรปและญี่ปุ่น ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อการลงทุนในตราสารหนี้
ขณะที่ปัจจัยภายในประเทศ คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยไปจนถึงสิ้นปีนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังสามารถขยายตัวได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการลงทุนภาครัฐและภาคการท่องเที่ยวที่ยังเติบโตได้ดี ขณะที่อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้น
ข่าวเด่น